ปั๊มนม วิธีเก็บสำรองนมแม่ที่คุณแม่ลูกอ่อนคุ้นเคย แต่วิธีที่ทำอยู่นั้นจะถูกวิธีจริงหรือ ปั๊มนมให้ถูกต้องได้น้ำนมคุณภาพให้ลูกน้อยแถมดีต่อแม่แบบไหนอย่างไรดูกัน
ปั๊มนม อย่างไรให้ถูกต้อง ปั๊มถูกวิธีมีดีกว่าที่คิด!!
คุณแม่ที่มีความตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น หากนำลูกเข้าเต้าตลอดเวลาแม่คงต้องมีเวลาให้ลูกแทบจะ 24 ชั่วโมง ซึ่งในความเป็นจริงเวลาของคุณแม่แม้ว่าจะตั้งใจอุทิศให้แก่ลูกทั้งหมด แต่เราก็ต้องมีเวลาทำธุระส่วนตัว พักผ่อน และยิ่งในสังคมปัจจุบันที่ผู้หญิงมีภาระที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่ได้อยู่บ้านเลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียว ดังนั้นตัวช่วยในการให้คุณแม่สามารถทำตามเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ ก็คือ การ ปั๊มนม
ทำไมต้องปั๊มนม ?
การปั๊มนมเป็นตัวช่วยในการให้นมลูกที่ดี เพราะเป็นวิธีที่สามารถให้ผู้อื่นสามารถให้นมแม่แก่ลูกน้อยได้ และคุณแม่สามารถมีเวลาไปทำกิจกรรมอื่น ๆ รวมถึงสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ เพราะการที่เราพักผ่อนน้อยจะมีผลต่อปริมาณน้ำนมแม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งเราสามารถสรุปรวมเป็นข้อดีของการปั๋มนมไว้ ดังนี้
- การปั๊มนม เป็นวิธีการกระตุ้นการผลิตน้ำนม เมื่อเราสามารถปั๊มน้ำนมแม่ออกมาได้เกลี้ยงเต้าก็จะส่งผลร่างกายผลิตน้ำนมใหม่อยู่เสมอ ทำให้ปริมาณน้ำนมแม่เพิ่มมากขึ้น
- เป็นการเก็บสำรองน้ำนมแม่ไว้ให้ลูก โดยเฉพาะในกรณีที่แม่ไม่สามารถให้นมจากเต้าโดยตรงไม่ได้ เช่น ลูกคลอดก่อนกำหนดต้องเข้าตู้อบ คุณแม่ต้องใช้ยารักษาที่ส่งผลต่อคุณภาพ และการปนเปื้อนของน้ำนมแม่ เป็นต้น
- ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากการคัดเต้านม หากคุณแม่ทำการปั๊มนมเป็นเวลา กำหนดไว้ว่าจะปั๊มนมทุกกี่ชั่วโมง ก็จะส่งผลให้เต้านมไม่คัดเพราะสามารถระบายออกได้ก่อน แต่ไม่ควรปั๊มมากเกินไปในช่วงที่คัดเต้านม เพราะจะยิ่งทำให้อาการเจ็บรุนแรงมากขึ้น
- เปิดโอกาสให้คุณพ่อได้ใกล้ชิดกับลูก เพราะสามารถป้อนนมแม่จากขวดนมให้กับลูกแทนคุณแม่ได้
- คุณแม่มีเวลามากขึ้น สามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ และพักผ่อน ช่วยลดความเครียดในการดูแลลูก ยิ่งจิตใจคุณแม่เบิกบาน ไม่เครียดก็ส่งผลต่อปริมาณน้ำนมแม่ให้มีเพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย
ควรเริ่มปั๊มนมเมื่อใด ?
การปั๋มนมไม่ใช่แค่เป็นเพียงการเก็บสำรองน้ำนมไว้เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นการกระตุ้นน้ำนม โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำนมไม่เพียงพอ โดยสามารถเริ่มปั๊มนมได้ทันทีหลังคลอด เป็นการเสริมการกระตุ้นน้ำนมแม่เพิ่มเติมจากการกระตุ้นจากการดูดนมของลูก จะช่วยให้น้ำนมไหลออกมามากขึ้น
หากคุณแม่จำเป็นต้องกลับไปทำงานหลังครบกำหนดลาคลอด ควรเริ่มฝึกปั๊มนมอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะกลับไปทำงาน และฝึกปั๊มให้ถูกวิธีด้วย โดยอาจปั๊มนมหลังจากให้ลูกเข้าเต้าเรียบร้อยแล้ว หรือจะปั๊มนมอีกข้างในขณะที่ลูกกำลังดูดนมอีกข้างเลยก็ได้เช่นกัน
ปั๊มนมอย่างไรให้ถูกหลัก!!
การปั๊มนมแม่ สามารถทำได้ด้วยการบีบด้วยมือ หรือใช้เครื่องปั๊มน้ำนม ในระยะแรกคุณแม่อาจจะปั๊มนมออกมาได้ในปริมาณที่ไม่มาก ก็อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะการปั๊มน้ำนมนั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากรู้วิธีที่ถูกต้อง
วิธีปั๊มนมที่ถูกต้อง
หากคุณแม่อยากมีน้ำนมในปริมาณมาก ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปั๊มนม คือ ช่วงเวลาเช้ามืด ประมาณ 5.00-7.00 น. เนื่องจากว่าเวลาในช่วงนี้ ร่างกายของคุณแม่ได้รับการพักผ่อนมาอย่างเต็มที่ ผ่อนคลาย ร่างกายก็จะสามารถผลิตน้ำนมได้มากที่สุด จึงเหมาะแก่การทำสต็อกน้ำนมแม่เก็บไว้ หากเราทำเป็นประจำสม่ำเสมอ จะยิ่งช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมอย่างแน่นอน
- ล้างมือ ถุงเก็บน้ำนม และขวดนม หรือภาชนะสำหรับใส่น้ำนมให้สะอาดด้วยการต้ม หรือนึ่งน้ำร้อนฆ่าเชื้อโรค
- ภาชนะที่ใช้ใส่ควรเป็นขวดปากกว้าง ใช้ภาชนะที่ทำจากแก้วหรือพลาสติกแข็ง ไม่แนะนำโลหะ เนื่องจากเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในน้ำนมจะเกาะติดอยู่กับโลหะ ทำให้ภูมิต้านทานที่อยู่ในน้ำนมลดต่ำลง ลูกน้อยได้รับไม่เพียงพอ
- จัดเตรียมห้องสำหรับปั๊มนมให้โล่งโปร่งสบาย ทำให้จิตใจผ่อนคลาย จะช่วยให้การปั๊มนมสำเร็จได้ด้วยดี
- ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณเต้านม ประมาณ 1-3 นาที ก่อนการปั๊มน้ำนม เพื่อช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
- นั่งลงเอนตัวไปด้านหน้า จัดท่าเพื่อทำการนวด และปั๊มนม
เริ่มปั๊มนมด้วยมือกันเลย!!
- นวดเต้านมก่อนทำการปั๊มนม ด้วยการคลึงเต้านมเบา ๆ เป็นวงกลม โดยเริ่มจากฐานเต้าเข้าหาหัวนม แล้วใช้นิ้วถึงหัวนม คลึงเบา ๆ ช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำนมได้ดีขึ้น
- วางนิ้วโป้งเหนือหัวนม นิ้วชี้อยู่ด้านใต้หัวนม ให้นิ้วทั้งสองห่างจากลานหัวนมประมาณ 1 นิ้ว และมืออยู่ในลักษณะรูปตัวซี (c)
- กดนิ้วทั้งสองเข้าหาลงไปพร้อมกันช้า ๆ ให้ลึกลงไปด้านหลังของลานนม แล้วปล่อยมือออกเป็นจังหวะ ทำแบบนี้เพื่อเป็นการเลียนแบบการดูดนมของลูก หากน้ำนมยังไม่ออก ให้ค่อย ๆ ปรับทิศทางจนน้ำนมไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง
- ระวังอย่าบีบแต่ตรงปลายหัวนม รีดคั้นเต้านม กดหรือดึงหัวนม นอกจากจะไม่ช่วยให้น้ำนมไหลออกมาแล้ว ยังทำให้เจ็บ และอาจหัวนมอักเสบได้
- รออย่างใจเย็น เพราะในบางครั้งน้ำนมอาจยังไม่ไหลออกมาทีเดียว อาจต้องปั๊ม และรอถึง 1-2 นาทีกว่าน้ำนมจะไหลออกมา
- หากสังเกตว่าน้ำนมเริ่มน้อยลง ให้เปลี่ยนบริเวณที่บีบไปรอบ ๆ ลานนม เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บจากการบีบน้ำนมบริเวณเดิมซ้ำ ๆ
- ใช้เวลาในการบีบน้ำนมข้างละประมาณ 5-10 นาที แล้วจึงสลับข้าง
- บีบน้ำนมสลับไปมาทั้งสอง จนกว่าเต้านมจะนิ่มลง หรือได้น้ำนมในปริมาณที่ต้องการ
- ใช้เวลาทั้งหมดในการปั๊มนมประมาณ 20-30 นาที ทำทุก ๆ 3 ชั่วโมงจะได้ผลดีที่สุด
การปั๊มนมด้วยเครื่อง
เครื่องปั๊มนม สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. แบบปั๊มมือ เหมาะสำหรับคุณแม่ที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกเอง สามารถเอาลูกเข้าเต้าได้ตลอดเวลาที่ลูกต้องการ จึงไม่จำเป็นต้องปั๊มเก็บไว้ในปริมาณมาก จึงมีเครื่องปั๊มนมแบบใช้มือ เผื่อเวลาต้องไปทำธุระนอกบ้านครั้งคราวปั๊มน้ำนมสะสมเก็บไว้ในตู้เย็นบ้าง
- ข้อดี คือ สามารถปรับความแรงได้ตามแรงบีบของมือ ราคาย่อมเยา
- ข้อเสีย คือ ทำให้เมื่อยมือ เพราะต้องใช้แรงมือบีบ และปั๊มได้ทีละข้างทำให้เสียเวลา ไม่สามารถปั๊มไปด้วยพร้อม ๆ กับให้ลูกเข้าเต้าได้
2. แบบแบตเตอรี่อัตโนมัติ ลักษณะคล้ายปั๊มมือเพียงใช้มอเตอร์ทำงานด้วยแบตเตอรี่ในการปั๊ม ปั๊มได้ทีละข้าง ไม่ต้องเมื่อยมือ และสามารถปั๊มนมพร้อมกับที่ลูกดูดอีกข้างหนึ่งไปพร้อมกันได้ แต่อาจมีเสียงดังพอสมควร ทำให้รบกวนเวลาปั๊มตอนกลางดึก
3.เครื่องปั๊มนมแบบไฟฟ้า มีให้เลือกทั้งแบบปั๊มทีละข้าง และปั๊มพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง สามารถปรับระดับความแรงในการปั๊มได้ เสียงไม่ดังรบกวน
- ข้อดี คือ ประหยัดเวลาในการปั๊มนม โดยใช้เวลาปั๊มทั้งสองข้างพร้อมกันนาน 10 นาที แต่ได้ปริมาณน้ำนมเท่ากับการปั๊มนมทีละข้างนาน 30 นาที ทำให้คุณแม่มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่น หรือเพิ่มเวลาพักผ่อนได้มากขึ้น อีกทั้งยังเสียเวลางานน้อยลงอีกด้วยสำหรับแม่ที่ต้องกลับไปทำงานหลังลาคลอด
- ข้อเสีย คือ ขนาดและน้ำหนักเครื่องไม่สะดวกต่อการพกพา ราคาสูง ทำให้คุณแม่บางคนไม่อยากซื้อมาใช้ เพราะกลัวว่าจะไม่สามารถปั๊มน้ำนมได้มากคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ แต่การใช้เครื่องปั๊มนมแบบไฟฟ้าถ้าใช้ถูกวิธีก็สามารถบีบนมออกมาได้เกลี้ยงเต้าทุกครั้ง ช่วยเพิ่มการผลิตนมของร่างกายคุณแม่ทำให้ปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้นได้
เริ่มปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มนมกันได้เลย !!
- ล้างมือ อุปกรณ์ปั้มนม และขวดนมให้สะอาด
- วางกรวยเต้าสำหรับปั๊มนมบนหัวนม โดยให้กรวยอยู่ตรงกลางหัวนม
- ประคองเต้านมด้วยมือข้างเดียว โดยให้นิ้วโป้งอยู่ด้านบน ส่วนนิ้วที่เหลือประคองอยู่ด้านใต้เต้านม และระมัดระวังอย่าออกแรงดันหัวนมกับกรวยเต้านมมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดรอยที่ผิวบริเวณเต้านมได้
- ปรับความเร็ว และอัตราการปั๊มนมตามคู่มือการใช้เครื่อง โดยควรเริ่มต้นจากอัตราการปั๊มที่ต่ำและเร็ว เมื่อน้ำนมเริ่มไหลอย่างคงที่่ ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 1-3 นาที แล้วจึงค่อยปรับความเร็วให้ช้าลง และเพิ่มอัตราการปั๊มขึ้น
- การปั๊มนมแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที เมื่อเรียบร้อยแล้ว ให้ค่อย ๆ นำกรวยเต้าสำหรับปั๊มนมออกจากเต้านม จากนั้นนำน้ำนมที่ได้ไปเก็บไว้ในที่เย็นทันที เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนม
- ทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมตามคู่มือการใช้ และเก็บให้มิดชิดเพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรก
ทั้งนี้ การใช้เครื่องปั๊มนมจะไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บขณะปั๊ม หากมีอาการเจ็บแสดงว่าขนาดของกรวยเต้าที่ใช้ปั๊มนมนั้นผิดขนาดหรือตั้งอัตราการปั๊มนมสูงเกินไป ทว่าหากลองปรับเปลี่ยนตามนี้แล้วยังรู้สึกเจ็บขณะปั๊มนม ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ เพื่อช่วยหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้องต่อไป
ปั๊มนมได้ ต้องเก็บรักษาเป็นด้วยนะ!!
คุณแม่บางท่านให้ความสำคัญกับการปั๊มนมให้ได้ปริมาณที่มากพอกับความต้องการของลูก จึงศึกษาค้นคว้าหาวิธีในการปั๊มนมเพื่อให้ได้น้ำนมแม่ให้ได้มากที่สุด แต่บางครั้งเราลืมนึกไปว่า เมื่อได้น้ำนมแม่มาเป็นสต็อกแล้ว การเก็บรักษานมแม่ก็สำคัญไม่แพ้กัน การเก็บรักษาที่ไม่ดีพออาจทำให้คุณภาพของน้ำนมลดลง หรืออาจเสียได้
การเก็บรักษาสต็อกนมแม่
- ควรเก็บรักษานมในขวดแก้ว ขวดพลาสติก หรือถุงชนิดปลอดสาร BPA ที่ปิดสนิทโดยทันที
- นำไปแช่เย็นในปริมาณ 60-120 มิลลิลิตรต่อ 1 บรรจุภัณฑ์
- ระยะเวลาการเก็บรักษานมแม่จะขึ้นอยู่กับลักษณะการเก็บรักษา
- สามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมง ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส
- เก็บไว้ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ในกระเป๋าเก็บความเย็นที่มีถุงน้ำแข็ง
- สามารถเก็บนมแม่ไว้ได้ประมาณ 3-8 วัน ในตู้เย็นช่องปกติ
- เก็บรักษาได้ไม่เกิน 6 เดือน ในช่องแช่แข็ง แต่การแช่แข็งอาจทำให้สารภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี้)ที่อยู่ในนมถูกทำลายได้ ถึงอย่างไรก็ยังคงมีคุณค่าทางอาหารที่จำเป็นแก่ลูกอยู่ สามารถนำมาเลี้ยงทารกได้ โดยต้องระวังวิธีการนำน้ำนมแช่แข็งมาใช้ ควรแกว่งถุงที่ใส่นมเบา ๆ ในน้ำอุ่น ไม่ใช้น้ำร้อนจัด หรืออุ่นนมด้วยเตาไมโครเวฟ เมื่ออุ่นแล้วจะอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และหากใช้ไม่หมดไม่สามารถนำกลับไปแช่แข็งได้อีก เพราะจะทำให้นมเสื่อมคุณภาพ
ทั้งนี้ หากทิ้งนมแม่ไว้ระยะหนึ่ง ไขมันที่อยู่ในนมจะแยกตัวจากน้ำนมและลอยขึ้นมาอยู่ด้านบน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เช่นเดียวกับสีของนมแม่ที่อาจแตกต่างจากสีนมปกติที่มีสีเหลืองนวล โดยเป็นผลจากการรับประทานอาหารหรือใช้ยารักษาโรคบางชนิด อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตลักษณะของนมแม่ก่อนนำมาใช้เสมอ ไม่ควรให้เด็กดื่ม หากนมมีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นเปรี้ยวผิดปกติ
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.pobpad.com/
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
มิติใหม่ของการปั๊ม ต้องยกให้ imani เครื่องปั๊มนมแบบไร้สาย พกง่าย โดนใจสุด ๆ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่