หลังจากคลอดแล้วการเลี้ยงลูกด้วย นมแม่ ให้นานที่สุด จะช่วยเป็นเกราะป้องกันโรคภัยต่างๆให้กับลูกได้เป็นอย่างดีและที่พิเศษไปกว่านั้นเกี่ยวกับเรื่องของนมแม่อีกอย่างก็คือ นมแม่ยังมีรสชาติตามอาหารที่แม่กินเข้าไปด้วยนะคะ
นมแม่ เปลี่ยนรสชาติได้ จริงหรือ?
อาจเรียกได้ว่า You are what you eat…คือกินอะไรก็ได้อย่างนั้น อาหารที่คุณแม่กิน ก็จะส่งผลต่อลูกน้อยผ่านทางน้ำนมแม่ นมแม่ เปลี่ยนรสชาติได้ จากอาหารนั้นๆ ด้วย อย่างเช่น วันไหนที่คุณแม่กินกระเทียมเข้าไป เจ้าตัวน้อยของคุณก็จะได้กินนมรสกระเทียมตามไปด้วย ลองคิดดูว่าในแต่ละวันคุณแม่กินอาหารอะไรเข้าไปบ้าง ซึ่งเจ้าตัวน้อยของคุณก็จะได้น้ำนมที่ไม่ซ้ำรสกันเลยตามอาหารเหล่านั้นที่คุณแม่กินนั้นเองค่ะ อีกทั้งยังมีงานวิจัยบอกว่า การที่นมแม่มีกลิ่นหรือรสชาติต่างๆ เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะลูกที่กินนมแม่ที่มีกลิ่นต่าง ๆ เขาจะเกิดความคุ้นเคยกับกลิ่น พอโตขึ้นถึงเวลากินอาหารเสริม เด็กกลุ่มนี้จะรับอาหารเสริมที่มีกลิ่นแปลก ๆ ได้ดีกว่าเด็กที่กินนมผสม สามารถกินอาหารเสริมที่หลากหลาย ยอมรับการกินผักที่มีกลิ่นแปลก ๆ ได้ดีกว่า เพราะเขาเคยชินกับกลิ่นในน้ำนมแม่มาก่อน ถือเป็นผลดีค่ะ
แต่อย่างไรก็ตาม อาหารของแม่มีผลต่อรสชาติน้ำนมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งนมแม่ยังคงความหวานหอม คุณค่าครบถ้วน ตามแบบฉบับของนมแม่ เว้นเสียแต่หากนำนมแม่ไปฟรีซแช่แข็งก็อาจทำให้นมมีกลิ่นเหม็นหืนได้
นมแม่รสเค็ม เกิดจากอะไร?
สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ให้นมลูก โดยยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการให้นม ก็จะอุ้มลูกดูดนมในข้างที่ถนัดอยู่เรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้ลูกติดดูดนมข้างเดียว เมื่อให้นมลูกไปประมาณ 1 เดือน นมข้างที่คุณแม่ให้ลูกกินประจำน้ำนมจะไหลแรงและเร็วกว่าอีกข้าง สอดคล้องไปกับการเจริญเติบโตของลูกที่เรียนรู้การดูดนมได้ดีขึ้น ซึ่งนมข้างที่เล็กกว่าจะผลิตน้ำนมได้น้อย ไหลช้ากว่าและเป็นน้ำนมข้น มีโซเดียมปริมาณมาก ทำให้มีรสชาติเค็ม แต่นมข้างที่ปริมาณน้ำนมมากกว่า น้ำนมจะใสและมีรสชาติหวานกว่า
>> อีกกรณีหนึ่งสำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกเกิน 1-2 ขวบ น้ำนมแม่ จะมีรสชาติเค็ม ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติของการผลิตน้ำนมในช่วงใกล้หย่านม เพราะน้ำนมจากเต้านมที่ถูกดูดน้อยหรือบีบออกน้อยจะมีรสเค็มและมีสีเหลืองเนื่องจากขบวนการที่เรียกว่า mammary involution (เซลล์ผลิตน้ำนม/เต้านมกลับคืนสู่ขนาดปกติ) เมื่อน้ำนมถูกดูดหรือบีบออกจากเต้าน้อยลงสัดส่วนของน้ำและแลคโตสในน้ำนมจะลดลง ทำให้น้ำนมมีรสเค็มขึ้นหวานน้อยลงแต่ก็จะมีความเข้มข้นของโปรตีนเพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากโปรตีนมีความสำคัญมากต่อระบบภูมิคุ้มกันขบวนการนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้ทารก/เด็กน้อย ได้รับภูมิต้านทานสูตรเข้มข้นเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะหย่านม
>> นอกจากนี้ ยังพบว่ามีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นมเค็ม ได้แก่ คุณแม่มีอาการเต้านมอักเสบ ซึ่งเต้านมอักเสบจะมีรสอูมามิและรสเค็มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะคล้ายกับรสชาติของหัวน้ำนมที่เจ้าตัวน้อยเคยได้รับมาก่อน คุณแม่จึงไม่ควรกังวลเรื่องรสชาติของน้ำนม
- การรักษาอาการเต้านมอักเสบ คุณแม่สามารถให้นมแม่ได้ตามปกติคุณแม่ โดยแนะนำให้นวดเพื่อเปิดท่อน้ำนม ก่อนหรือระหว่างการให้นมลูกจะช่วยน้ำนมไม่อุดตัน และให้นมด้านที่เต้านมอักเสบก่อนเพื่อช่วยระบายน้ำนมจากเต้านมข้างที่อักเสบซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวดและช่วยให้เต้านมด้านที่อักเสบยังคงสร้างน้ำนมอย่างต่อเนื่อง
และไม่ควรหยุดให้นมหรือปั๊มนม เพราะหากน้ำนมไม่ได้ถูกบีบหรือปั๊มออก การสร้างน้ำนมจะหยุด เต้านมจะปวดมากขึ้นและอาจทำให้เกิดเป็นฝีหนองได้