เมื่อทารกไม่สบายท้อง การอุ้มไล่ลมลูกจะช่วยระบายความอึดอัดให้ลูกได้ ทีมแม่ ABK ขอเปิดคลิปพยาบาลสอน 2 ท่าอุ้มเรอ ที่ง่ายและได้ผล!!
เปิดคลิปพยาบาลสอน!! 2 “ท่าอุ้มเรอ” ที่ง่ายและได้ผล!!
เรอ (Belching) เป็นปฏิกิริยาของร่างกายในการขับลมออกจากกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารออกทางปาก ทำให้เกิดเสียงที่เกิดจากสั่นของหูรูดหลอดอาหารและมีกลิ่นของอาหารที่ได้บริโภคและยังค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร โดยมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีลมอยู่ในกระเพาะอาหารมากเกินไปและทำให้กระเพาะอาหารพองตัว ซึ่งการเรอเป็นการขับลมออกเพื่อลดการพองตัวของกระเพาะอาหาร
ทำไมเด็กถึงเรอ?
เนื่องจากในทารกแรกเกิดกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง ดังนั้นการดูดนมเข้าไปมาก ๆ บ่อยครั้งลูกจะแหวะนมออกมาเล็กน้อย และอาจจะตามมาด้วยการเรอ โดยลูกน้อยสามารถเรอได้ทุก ๆ 2-3 ออนซ์ของการให้นม หากคุณแม่ลูกดูดนมอย่างต่อเนื่องอาจมีอาการร้องไห้งอแงไม่อยากดูดนมต่อเนื่องจากมีอาการแน่นท้อง ดังนั้นคุณแม่ควรให้ลูกเรอในระหว่างช่วงสลับข้างที่จะให้นม และควรให้ลูกเรอหลังจากดูดนมเสร็จ
เหตุใดการเรอจึงสำคัญ
เพราะเวลาที่เบบี๋ดูดนมจ๊วบ ๆ ไม่ว่าจะดูดจากอกแม่หรือดูดจากขวดอยู่นั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าหนูน้อยได้ดูดเอาอากาศเข้าไปเป็นของแถมด้วย อากาศก็เลยเข้าไปสะสมอยู่ในท้องอันเป็นสาเหตุของความอึดอัด ฉะนั้นการเรอเอาอากาศในท้องออกมา จึงทำให้เจ้าตัวเล็กสบายท้อง
เมื่อไรถึงจะจับเรอกัน
ถ้าดูดนมจากอกแม่ ควรพักจับเรอเมื่อเปลี่ยนข้าง หรือถ้ากินนมจากขวดก็ให้เขาเรอหลังกินเสร็จแต่ถ้าสังเกตว่าตอนที่เบบี๋ดูดจากขวดอึกใหญ่ ๆ โอกาสที่อากาศจะเข้าไปในท้องมีมากคุณอาจต้องให้เขาเรอบ่อยขึ้น เช่น ทุก 1 – 2 ออนซ์ ก็จับเขาเรอสักทีหนึ่ง
เปิดคลิปพยาบาลสอน!! 2 ท่าอุ้มเรอ ที่ง่ายและได้ผล!!
1. ท่าอุ้มพาดบ่า
ท่าอุ้มเรอ นี้เป็นท่าที่นิยมจะทำกันบ่อย ๆ ทำได้โดยการ จับประคองลูกน้อยอุ้มพาดบ่าอย่างเบามือ โดยให้ช่วงท้องของลูกกดอยู่ที่หน้าอกของคุณแม่ ศีรษะของลูกจะอยู่บริเวณบ่าเลยหัวไหล่ของคุณแม่ไป จากนั้นให้ลูบหลังขึ้นหรือตบเบา ๆ สำหรับคุณแม่มือใหม่ อย่าลืมซ้อมทำกับคุณหมอ และคุณพยาบาลให้แน่ใจก่อนกลับมาทำเองที่บ้านนะคะ เพราะท่านี้ บางทีคุณแม่ที่ไม่ชำนาญการ อุ้มไม่ถูกวิธีลูกอาจจะแหวะนมได้ หรือถ้าเค้ายังเล็กมาก ๆ ก็อาจเกิดจมูกกดทับบ่นบ่าคุณแม่จนหายใจลำบากได้นะคะ
2. ท่านั่งบนตัก
ท่าอุ้มเรอ ท่าที่ 2 ทำได้ง่าย ๆ โดยการ จับลูกน้อยนั่งบนตักที่ขาด้านใดด้านหนึ่งของคุณแม่ แล้วหันหน้าออก นำมือข้างหนึ่งจับประคองคอและใบหน้า นิ้วชี้ นิ้วโป้งจับบริเวณลำคอ อีก 3 นิ้วประคองลำตัวและใต้รักแร้ลูก ให้ตัวลูกโน้มไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้หน้าท้องของลูกถูกกดและไล่ลมในท้องออก ใช้มืออีกข้างหนึ่งของคุณแม่ลูบหลังขึ้นลง หรือลูบวนไปมาที่หลังของลูกน้อยก็ได้ รวมถึงอาจช่วยเคาะเบา ๆ ที่หลัง เพื่อให้ลูกน้อยเรอออกมาได้สะดวก
จับลูกเรอแล้วลูกแหวะนมออกมาด้วย อันตรายไหม?
ในบางครั้งหากลูกเรอ แล้วแหวะนมออกมาปริมาณเล็กน้อย ไม่ถือว่าเป็นอันตราย โดยคุณแม่ควรสังเกตว่า หลังแหวะนมแล้วลูกยังดูดนมใหม่ได้ ดูอารมณ์ดี เจริญเติบโตได้ปกติหรือไม่ ใน 4 เดือนแรก ทารกจะมีโอกาสแหวะนมได้สูงอยู่แล้ว เพราะทารกกินนมในปริมาณมาก ในขณะที่ความจุของกระเพาะยังน้อย และกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารยังทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่คุณแม่ควรสังเกตว่า นมที่ลูกแหวะออกมาไม่มีสิ่งอื่นเจือปน เช่น เลือด หรือมีสีเหลืองของน้ำดี หรือมีกลิ่นเหม็นรุนแรง เพราะหากมีปัญหาดังกล่าว คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุต่อไปค่ะ
บทความที่น่าสนใจ : ลูก “แหวะนมบ่อย” ประสบการณ์ตรงจากคุณแม่เตือนให้ระวัง!! สุดท้ายลูกเป็น “ลำไส้เล็กตีบ” ต้องผ่าตัด
ถ้า ลูกไม่เรอจะเป็นไรไหม?
หากลูกไม่ยอมเรอออกมา ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ลูกไม่ได้มีลมในท้อง และดูดนมในปริมาณที่พอดีกับร่างกายของเขา ดังนั้นก็ไม่น่าห่วง แต่หากลูกมีอาการงอตัว หลังจากดูดนม แต่ไม่ยอมเรอ อาจจะเป็นอาการบ่งบอกได้ว่า ลูกมีลมในท้องมาก ต้องให้ลูกเรอให้ได้ อาจจะอุ้มพาดบ่าให้นานขึ้น ช่วยลูบไล่ลมให้ลูกหรือตบเบา ๆ ที่หลังของลูกก็ได้ ซึ่งหากลูกมีลมในท้องแต่ไม่สามารถเรอออกมาได้ ลูกอาจจะร้องเพราะปวดท้อง ท้องอืดได้
สัญญาณบ่งบอกว่าลูกน้อยท้องอืด
อาการท้องอืดเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกมีอายุ 2-3 สัปดาห์ แม้ทารกไม่สามารถสื่อสารให้รู้ได้ด้วยคำพูด ทว่าพ่อแม่อาจสังเกตความผิดปกติได้เมื่อลูกน้อยแสดงอาการ ดังนี้
- ร้องไห้
- ยกขาขึ้นสูงไปทางหน้าท้อง
- ดิ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะหลังจากดื่มนม
- กำมือแน่น
- ใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีแดง
อย่างไรก็ตาม ทารกมักรู้สึกสบายตัวขึ้นและหยุดร้องไห้หลังผายลมหรือเรอออกมา แต่หากยังร้องไห้ไม่หยุดทั้งที่ผายลมออกมาแล้ว อาจแสดงว่าสัญญาณผิดปกติดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอื่นค่ะ
ป้องกันอาการท้องอืดอย่างไร
วิธีป้องกันอาการท้องอืดของทารกทำได้โดยการหลีกเลี่ยงอาหาร (ผ่านนมแม่) ที่อาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร และพยายามไม่ให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปจำนวนมาก ดังนี้
- ป้อนนมให้ทารกในปริมาณที่พอเหมาะ
- จัดท่าทางของทารกให้เหมาะสมขณะป้อนนม โดยยกศีรษะให้อยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย
- ขณะป้อนนมควรยกขวดนมขึ้นเพื่อป้องกันอากาศไหลผ่านช่องว่างบริเวณจุกนม รวมทั้งปรับขนาดรูบนจุกนมไม่ให้ใหญ่หรือเล็กเกินไป หรือใช้ขวดนมที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปน้อยที่สุด
เทคนิคและข้อควรรู้ก่อน อุ้มลูกเรอ
- ควรเตรียมผ้าอ้อมสะอาด หรือ กระดาษทิชชู่ไว้ใกล้มือ เพราะในบางครั้งลูกอาจจะแหวะนมออกมาพร้อมกับการเรอออกมาได้
- ในการประคองคอลูก ไม่ควรจับที่คอลูกแน่นจนเกินไป เพราะลูกอาจจะอึดอัดและเรอยากได้ และไม่ควรจะจับหลวมจนเกินไป เพราะลูกอาจจะดิ้นจนหลุดออกจากมือ
- ควรจับลูกเรอทุกครั้งที่ลูกทานนม ไม่ว่าจะเป็นช่วงกลางวันหรือกลางคืน โดยเฉพาะเด็กที่ทานนมผง เพราะมีโอกาสที่ลมจะเข้ากระเพาะได้มากกว่าเด็กที่ทานนมแม่
เมื่อไหร่ที่ไม่ต้องอุ้มลูกเรอแล้ว?
ส่วนใหญ่หลัง 4 เดือนเด็กมักเรอเองได้ จึงไม่ต้องจับเรอแล้ว ไม่ค่อยมีปัญหาปวดท้องแล้วค่ะ ถ้ายังปวดท้องหลัง 4 เดือน น่าจะเป็นจากสาเหตุอื่น เช่น แพ้โปรตีนนมวัวหรืออาหารบางอย่างที่ผ่านทางน้ำนมแม่ ให้สังเกตว่าคุณแม่ทานอาหารอะไรแล้วทำให้ลูกโยเย เพื่อจะได้แก้ที่สาเหตุได้อย่างถูกต้องค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ ที่น่าสนใจ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : ป้าหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ, พบแพทย์, hd.co.th, มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่