ผ่าคลอด แล้วนมแม่ไม่มาจริงหรือ?มาหาคำตอบจากประสบการณ์คุณแม่สายผ่าว่านมแม่มาวันไหน ทำอย่างไร พร้อมความเห็นจากคุณหมอ มาร่วมรับฟังเพื่อช่วยลดความกังวลใจกันเถอะ
คลอดลูกแบบ ผ่าคลอด นมแม่มาช้ากว่าคลอดเองจริงหรือ?
เราเป็นคนหนึ่งที่เป็นคุณแม่สายผ่า(ผ่าคลอด) ก่อนตั้งครรภ์ และระหว่างตั้งครรภ์มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะคลอดลูกเองด้วยวิธีธรรมชาติ ทั้งดูแลรักษาน้ำหนักตัวให้ขึ้นตามเกณฑ์เพื่อที่ลูกจะได้ไม่มีน้ำหนักเกิน ตัวใหญ่ไปจนไม่สามารถคลอดเองได้ เรียกได้ว่าหาทุกข้อมูล ทำทุกวิธีทางเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดลูกเอง แต่เมื่อถึงวันเวลาคลอดจริง ๆ กลับผิดคาด เกิดปัญหาที่เราไม่สามารถคลอดเองได้หากฝืนต่อไปอาจเป็นอันตรายทั้งแม่และลูกได้ จึงต้องทำใจยอมรับการผ่าคลอด
ซึ่งการคลอดท้องแรกของเราก็ผ่านพ้นไปด้วยดี โรงพยาบาลที่เราไปผ่าคลอดนั้น หลังจากคลอดแล้ว จะทำการนำเด็กไปอนุบาลในห้องปลอดเชื้อ ไม่ได้นำเด็กมาหาแม่ที่ห้องพักฟื้น ต้องให้แม่เป็นฝ่ายเดินไปหาลูกเองเพื่อให้นม เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้เราพยายามลุกนั่ง และเดินให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะได้ไปเห็นหน้าลูก และเป้าหมายสำคัญเลยคือ การให้นมลูกด้วยนมแม่ แต่น้ำนมก็ยังไม่มาเสียที
ผ่านไป 2 วัน ถึงเริ่มมีน้ำนมไหลออกมาเปื้อนเสื้อ แต่ในระหว่างที่รอน้ำนมนั้น ทั้งกลัว และกังวลคิดว่าลูกต้องหิวแน่ ๆ ยิ่งคิดยิ่งร้อนใจ แต่พยาบาลแจ้งให้ฟังว่า เด็กทารกแรกเกิดนั้นสามารถรอได้แม้ไม่ได้รับนม แต่ยังคงต้องให้ลูกดูดนมจากเต้าแม้จะไม่มีนมออกมาเพื่อเป็นการกระตุ้นให้น้ำนมไหล ยิ่งลูกหิว จะยิ่งดูดแรง ซึ่งเป็นการดีต่อการกระตุ้นน้ำนม แต่ถ้าหากกังวลเรื่องลูกหิวมาก พยาบาลจะป้อนนมผงชงจากช้อนให้ลูกกินเพียงเล็กน้อยไม่ให้อิ่ม เวลาอุ้มลูกเข้าเต้าบอกเลยว่านอกจากเพื่อให้ลูกดูดกระตุ้นน้ำนมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นได้อย่างดีในความรู้สึกของเรา นั่นคือ ความรู้สึกตื้นตันอิ่มใจ ผูกพันเวลาได้อุ้มเขา ยิ่งรู้สึกรักยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกแปลก ๆ ที่เต้านม เหมือนกับเลือดมันสูบฉีดแรงขึ้นเวลาเราอุ้มลูกในอ้อมกอด และนี่คือประสบการณ์จากเราแม่ผ่าคลอด ที่ขอบอกว่าเป็นอีกหนึ่งเสียงที่จะบอกว่า การผ่าคลอดไม่ทำให้นมแม่มาช้า หรือไม่มีให้ลูกกิน ดังนั้นอย่าพึ่งท้อใจ หรือคิดไปเองว่าจะไม่สามารถให้นมแม่แก่ลูกได้ ถ้าคุณคลอดด้วยวิธีผ่าคลอด
เรื่องเล่าประสบการณ์จริงจากคุณแม่สมาชิกทีม ABK
คลอดด้วยการผ่าคลอด นมแม่มาช้ากว่าคลอดเองจริงหรือ?
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ช่วยสนับสนุนคำตอบ จากประสบการณ์ของคุณแม่ข้างต้น จึงได้ขอหยิบยกข้อมูลอ้างอิงจากนำคำแนะนำของ คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ที่ได้ให้ไว้เป็นความรู้แก่แม่ ๆ ในเพจ FB:สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ เรื่อง การผ่าตัดคลอดลูก น้ำนมแม่มาช้ากว่าคลอดเองจริงหรือ โดยขอสรุปความเห็นของคุณหมอ และประสบการณ์ของแม่ผ่าคลอดที่ได้แชร์ไว้ให้อ่านกัน เป็นประเด็นต่าง ๆ ไว้ ดังนี้
แม่ผ่าคลอด มักไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน?
วิธีการคลอดไม่เกี่ยวกับการไม่มีนมแม่ เพราะร่างกายของแม่ทุกคนจะถูกสร้างให้ผลิตน้ำนมเพื่อลูกน้อยอยู่แล้ว แต่อาจมีบางกรณีที่ทำให้ไม่สามารถให้นมลูกได้ เช่น มีปัญหาหัวนมบอดขั้นรุนแรง เป็นต้น
น้ำนมแม่ผ่าคลอดมาช้ากว่าแม่คลอดเอง?
น้ำนมแม่มาช้าหรือเร็ว ขึ้นกับระยะเวลาที่แม่ได้รับการดูดกระตุ้นจากลูก โดยคุณหมอได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า แม่ผ่าคลอดส่วนใหญ่โรงพยาบาลจะเลือกให้แม่พักฟื้นก่อน ที่จะให้ลูกเข้าเต้าโดยเร็ว หากแม่ได้รับการให้ลูกดูดกระตุ้นภายใน 1 ชม.หลังคลอด โอกาสที่น้ำนมจะมาเร็วเท่า ๆ กับคุณแม่คลอดเองเลย
ส่วนใหญ่แม่ผ่าคลอดนมแม่จะไหลกันหลังคลอดประมาณกี่วัน?
จากประสบการณ์ของแม่ผ่าคลอดที่ได้ร่วมพูดคุย ส่วนใหญ่จะมีน้ำนมกันประมาณ 1-4 วัน โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมประกอบด้วย เช่น ความเครียด อาหารที่รับประทาน และการกระตุ้นจากลูก หรือถ้าหากใช้เครื่องปั๊มนมในการช่วยกระตุ้น ก็มีคำแนะนำจากคุณหมอว่า “ช่วงแรกที่คลอด ควรเน้นให้ลูกดูดเต้า และ เนื่องจากลูกจะขอดูดบ่อยมาก แทบจะไม่เหลือเวลาพักผ่อนแล้ว จึงไม่ควรเจียด หรือ แบ่งเวลาไปปั๊มนม ยกเว้นว่า มีเวลาเหลือจากการพักผ่อนนอนหลับแล้วจริงๆ จึงเริ่มปั๊มนมได้ ”
ถ้านมแม่ยังไม่มาจะทำอย่างไร ลูกจะหิวไหม?
อย่าพึ่งรีบป้อนนมผงชงแก่ลูก ด้วยเพราะบางครั้งเรากลัวลูกหิว จึงทำให้ถอดใจยอมให้ลูกกินนมผงชงในตอนที่น้ำนมยังไม่มา แต่รู้ไหมว่าหากลูกอิ่มแล้ว เขาจะไม่ยอมดูดเวลาเข้าเต้า ซึ่งส่วนมากเด็กจะหลับ ทำให้การกระตุ้นน้ำนมไม่ดี น้ำนมแม่ก็จะมาช้า หรืออาจไม่มาเลยก็เป็นได้ คุณหมอได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ทารกแรกเกิดปกติสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีอันตราย ให้เรานำลูกมาเข้าเต้าบ่อย ๆ ไม่ต้องเสริมนมผง ยกเว้นว่ามีปัญหาน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 10% ของน้ำหนักแรกเกิด จึงค่อยเสริม
ใช้เครื่องปั๊มนมกระตุ้นช่วยแล้ว นมออกมาเป็นเลือดแสดงว่าเราเป็นแม่ที่ไม่มีน้ำนมให้ลูกกินจริงหรือ?
การที่แม่บางคนที่ใช้เครื่องปั๊มนมช่วงแรกแล้วออกเป็นเลือดนั้น ไม่ใช่ว่าเกิดจากการที่เราไม่มีน้ำนมแต่อาจเกิดจากการปั๊มไม่ถูกวิธี หรือการดูดเข้าเต้าของลูกผิดวิธี เพื่อเป็นการป้องกันไม่มีเลือดออก ควรใช้แรงปั๊มและขนาดกรวยปั๊มที่เหมาะสม การที่มีเลือดออก นอกจากเป็นจากแรงปั๊มที่มากเกินไป ก็อาจเกิดจากแผลที่หัวนมเพราะดูดท่าผิด หรือ ลูกมีพังผืดใต้ลิ้น ซึ่งหากเป็นอาการหลังควรปรึกษาแพทย์ทำการรักษาต่อไป
หากยังเจ็บแผลผ่าคลอด จะให้ลูกเข้าเต้าดูดกระตุ้นน้ำนมได้อย่างไร?
คุณหมอได้แนะนำว่า หากแม่ยังรู้สึกเหนื่อย ไม่ฟื้นดีจากการผ่าคลอด สามารถให้นมลูกในท่านอนตะแครง แล้วให้ลูกเข้าเต้าได้ ก็จะช่วยให้ทั้งแม่ได้พัก และลูกได้ดูดนมกระตุ้นน้ำนมแม่ ยิ่งเข้าเต้าเร็วยิ่งทำให้น้ำนมแม่มาเร็วด้วยนะ
สังเกตอย่างไรว่าน้ำนมแม่นั้นมีมากพอความต้องการของลูก?
การดูว่าน้ำนมแม่เพียงพอกับความต้องการของลูกนั้น ดูจากการนับการขับถ่ายของลูก ถ้าลูกอึครบ 2 ครั้ง/วัน หรือ ฉี่ครบ 6 ครั้ง/วัน ในทารกแรกเกิดก็ถือว่าลูกได้รับน้ำนมเพียงพอแล้ว
วิธีนำลูกเข้าเต้าเพื่อให้ลูกอมงับลานนม
ถ้าเมื่อไรที่คุณแม่รู้สึกเจ็บหัวนมเวลาให้ลูกดูด แสดงว่าวิธีเอาลูกเข้าเต้าไม่ถูกต้อง จะทำให้น้ำนมไหลเข้าปากลูกได้น้อย และอาจทำให้แม่เกิดแผลได้
(ถ้าใช้ท่าอุ้มขวางตักแบบประยุกต์ จะช่วยให้ลูกเข้าเต้าได้ดี)
– ใช้มือประคองเต้านม โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน เหนือขอบนอกของลานหัวนม ส่วนนิ้วที่เหลือประคองเต้านมด้านล่าง (ไม่ควรใช้ท่าแบบนิ้วคีบบุหรี่ เพราะช่องว่างระหว่างนิ้วจะแคบ ทำให้ลูกอมได้ไม่ลึกพอ และนิ้วอาจจะกดบริเวณท่อน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลไม่ดี)
– อุ้มลูกโดยใช้มืออีกข้างประคองที่ต้นคอและท้ายทอย (ไม่กดที่ใบหู) ลูกเงยหน้าเล็กน้อย เคลื่อนลูกเข้ามาโดยให้คางของลูกเข้ามาชิดกับเต้านมส่วนล่าง (สังเกตว่าจังหวะนี้จมูกของลูกจะอยู่ตรงกับหัวนมแม่) ลูกก็จะเริ่มอ้าปาก ถ้าลูกไม่อ้าปาก ให้ใช้หัวนมเขี่ยริมฝีปากล่างของลูกเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกอ้าปาก
– รอจนลูกอ้าปากกว้าง (เหมือนหาว) จึงเคลื่อนศีรษะลูกเข้าหาเต้านมอย่างรวดเร็วแต่นุ่มนวลก่อนที่ลูกจะเริ่มหุบปากลง จะไม่ใช้วิธีโน้มตัวแม่เพื่อนำเต้านมเข้าหาลูก
– ให้ลูกอมงับถึงลานนม โดยให้อมลานนมส่วนล่างมากกว่าลานนมส่วนบน ให้คางลูกแนบชิดกับเต้านมส่วนล่าง วิธีนี้จะช่วยให้ลิ้นของลูกยื่นออกมารีดน้ำนมจากเต้าแม่ได้ดีขึ้น และจมูกของลูกจะอยู่ห่างออกจากเต้าแม่เล็กน้อย คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะหายใจไม่สะดวก
การอุ้มลูกเข้าเต้าอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้แม่ไม่เจ็บหัวนมแล้ว ยังทำให้ลูกดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
วิธีสังเกต…ลูกอมงับลานนมได้ดีแล้วหรือยัง
หากคุณแม่ไม่มั่นใจว่าจัดท่าให้นมลูกได้ถูกต้องหรือไม่ ให้สังเกตง่ายๆ ในขณะที่ลูกเข้าเต้าได้แล้ว (เมื่อมองจากด้านบนลงไป) ดังนี้
- ลูกอมลานนมด้านล่างได้มากกว่าด้านบน ซึ่งจะสังเกตเห็นว่ายังมองเห็นลานนมด้านบน ในขณะที่ลานนมด้านล่างถูกปากลูกอมจนมิดหรือเกือบมิด
- ปากลูกอ้ากว้างแนบสนิทกับเต้านมแม่
- ริมฝีปากล่างบานออกเหมือนปากปลา
- คางลูกต้องแนบชิดเต้านมแม่
คุณแม่บางคนจะใช้นิ้วกดที่เต้านมบริเวณใกล้จมูกของลูก เพราะเกรงว่าลูกจะหายใจไม่ออก แต่โดยธรรมชาติของเด็ก ปีกจมูกจะบานออก เต้านมของแม่จะไม่ปิดช่องหายใจ ลูกจะหายใจได้ (ยกเว้นแม่ที่เต้านมใหญ่มาก) ซึ่งคุณแม่จะสังเกตได้จากการที่ลูกยังดูดนมได้ การใช้นิ้วกดเช่นนั้น จะทำให้ปากลูกอมได้ไม่ลึกพอ เหงือกของลูกจะไปกดที่หัวนม และลิ้นของลูกก็จะถูไปมาที่บริเวณหัวนม ทำให้หัวนมเจ็บและแตกได้
ข้อมูลอ้างอิงการนำลูกเข้าเต้าจาก มูลนิธิศูนย์นมแม่
อ่านต่อ หลัก 3 ดูด + เข้าเต้า สูตรเด็ดให้นมแม่ได้สำเร็จและยาวนาน
ของฝาก…เพื่อแม่ผู้แน่วแน่ในเรื่องนมแม่
สำหรับแม่ทุกคนนั้น สิ่งสำคัญอย่างแรกเลย คือ การได้ให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกน้อย การให้ลูกได้รับนมแม่ถือเป็นความตั้งใจแน่วแน่ของแม่หลาย ๆ คน วิธีหนึ่งที่เป็นวิธีช่วยในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างน้ำนม นอกเหนือจากอาหารการกิน ความเครียดแล้ว การกระตุ้นน้ำนมด้วยการนวดเต้านม ก็เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม โดยการกระตุ้นท่อน้ำนมในต่อมน้ำนม
วิธีเตรียมตัว
ง่าย ๆ ก่อนการนวด คือล้างมือให้สะอาดใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมก่อนประมาณ 1-3 นาที แล้วจึงนวดคลึงเต้านมอย่างนุ่มนวลเพื่อเรียกน้ำนมตามท่าต่าง ๆ
น้ำนมแม่เพิ่มได้ใน 6 ขั้นตอน
- ผีเสื้อขยับปีก (Butterfly stroke) วางมือตามภาพที่เต้านมด้านในนิ้วชิดกัน นวดจากเต้าด้านในออกไปด้านนอกในลักษณะหมุนวน
- หมุนวนปลายนิ้ว (Fingertip circles) ใช้อุ้งมือรองเต้านม ส่วนปลายนิ้วทั้ง 4 ของอีกมือ วางเหนือลานนม แล้วนวด หมุนไปรอบๆ ทำซ้ำ 5 รอบ
- ประกายเพชร (Diamond stroke) ใช้ฝ่ามือวางทาบลงเต้านม จากนั้นบีบมือทั้ง 2 เข้าหากันพร้อม ๆ กับเลื่อนมือลงไปที่ลานนมทำสลับขึ้นลง
- กระตุ้นท่อน้ำนม(Acupressure point I ) ยกมือ แล้วใช้นิ้วชี้วางบริเวณเหนือลานนมหนึ่งข้อนิ้วแล้วกดนิ้วชี้พร้อมกับวนที่ปลายนิ้วในตำแหน่งเดียวกัน
- เปิดท่อน้ำนม (Acupressure point IIX)โดยใช้สามนิ้วของมือข้างขวาวางทาบเหนือลานนมแล้วใช้สามนิ้วของมือซ้ายวางทาบต่อจากนิ้วสุดท้ายของมือขวา จะได้ตำแหน่งการวางของนิ้วชี้ข้างซ้าย แล้วจึงกดและหมุนวนลงในตำแหน่งที่วัดได้คลายและกด ทำซ้ำ 5 ครั้ง
- พร้อมบีบน้ำนม ในขั้นตอนสุดท้ายต้องทำให้ครบทั้ง 4 ท่า โดยทุกขั้นตอนต้องไม่สัมผัสถูกหัวนม
- ใช้อุ้งมือขวาประคองเต้าแล้วใช้นิ้วชี้ข้างซ้ายกดหมุนวนไปโดยรอบลานนม
- วางนิ้ว มือขวาเต้าขวาแล้วกดนิ้วเข้าหากันพร้อมกับคลึงไปมาอย่างนุ่มนวล
- ใช้เฉพาะนิ้วชี้ วางนาบลงที่ขอบลานนมทั้งสองข้าง กดนิ้วทั้งสองเข้าหากันในลักษณะบีบ-คลายสลับกัน
- วางนิ้ว มือขวาวางเต้าซ้ายแล้วกดนิ้วเข้ากันในลักษณะ บีบ-คลายสลับกัน เพื่อบีบน้ำนมในขั้นสุดท้าย
ข้อห้ามในการนวดเต้านม
-ผู้ที่เต้านมอักเสบ ติดเชื้อ ปวดบวม แดงร้อน จะทำให้อักเสบเพิ่มขึ้น
-เป็นโรคผิวหนัง เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจาย
-มีบาดแผลบริเวณเต้านม
อย่างที่ทราบกันดีว่า นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของลูกน้อย นอกจากให้สารอาหารที่ดีมีประโยชน์แล้ว ยังมีภูมิคุ้มกันแก่ลูกวัยทารกไม่ให้เจ็บป่วยได้ง่ายอีกด้วย ดังนั้นการที่คุณแม่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะให้ลูกได้ทานนมแม่นั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และคิดว่าประสบการณ์ และความรู้ต่าง ๆ ที่นำมาให้ในครั้งนี้นั้น คงทำให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทั้งหลายสบายใจได้ว่า แม้เราอาจจะต้องคลอดด้วยวิธีผ่าคลอด แต่ก็ไม่ได้ทำให้น้ำนมแม่นั้นลดน้อย หรือหดไม่มีแต่อย่างใด
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงเรื่องการนวดเต้านมจาก รพ.วิภาวดี
อ่านต่อ 9 ผลไม้เพิ่มน้ำนม แม่หลังคลอดน้ำนมน้อยต้องกิน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่