ทารกแรกเกิด-2ขวบ แพทย์เตือนไม่ควรใส่ หน้ากากอนามัยเด็ก อันตรายต่อระบบประสาทของลูก เป็นภัยมากกว่าป้องกันโควิด-19 แนะวิธีป้องกันสำหรับเบบี๋ที่ดีกว่าไม่อันตราย
เตือนใส่! หน้ากากอนามัยเด็ก -เบบี๋อันตรายมากกว่าป้องกัน
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หน้ากากอนามัยเด็ก Face Shield คือสิ่งที่เข้ามามีบทบาทในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ใคร ๆ ต่างพากันหวาดระแวง กลัวการติดเชื้อ พากันหาวิธีป้องกันทั้งตนเอง และคนรอบข้างอันเป็นที่รักกันอย่างเต็มกำลังความสามารถนั้น ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เราต่างให้ความห่วงใยเป็นพิเศษ นั่นคือ ทารกแรกเกิด และเด็กเล็ก เบบี๋ ที่เราไม่อยากให้พวกเขาต้องได้รับความทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องเพิ่มความระมัดระวัง ป้องกันให้แก่คนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ แต่วิธีการป้องกันเชื้อสำหรับผู้ใหญ่นั้น จะใช้ได้ดีสำหรับเด็กเล็กด้วยเหมือนกันหรือไม่นั้น วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK มีคำตอบมาฝากกัน
รู้จักเชื้อไวรัสที่ก่อโรค COVID-19
เชื้อไวรัสที่ก่อโรค COVID-19 คือ เชื้อไวรัสโคโรนาชนิดหนึ่ง ซึ่งไวรัสโคโรนานี้ค้นพบและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้หวัดในเด็ก ๆ มานานแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ เริ่มมีการรายงานของการติดเชื้อไวรัสโคโรนาอุบัติใหม่ ซึ่งเป็นการติดต่อจากสัตว์สู่คน สำหรับเชื้อไวรัสโคโรนาที่รายงานติดต่อจากสัตว์สู่คนตัวแรก คือ เชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส ซึ่งเป็นการติดมาจากตัวชะมดมาสู่คนและมีการระบาดในประเทศจีน ต่อมาเกิดการอุบัติของเชื้อไวรัสโคโรนาตัวที่สองที่ทำให้เกิดโรคเมอร์ส ซึ่งพบจุดกำเนิดที่ประเทศแถบตะวันออกกลางซึ่งมีอูฐเป็นพาหะ
และเมื่อเดือนธันวาคม 2562 มีการระบาดของโรคปอดอักเสบเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งค้นพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรค COVID-19 สาเหตุที่ชัดเจนว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ติดต่อมาจากสัตว์ชนิดใดอาจไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากการตรวจทางพันธุกรรมพบว่า เชื้อนี้มีความใกล้เคียงกับไวรัสโคโรนาในค้างคาวที่สุด ซึ่งต่อมาพบว่ามีการแพร่เชื้อจากคนไปสู่คน
แผลงฤทธิ์แพร่เชื้ออย่างไร
โรค COVID-19 แพร่เชื้อจากคนไปสู่คนผ่านทางละอองฝอยจากการไอและจามเป็นหลัก พบว่าเชื้อสามารถคงทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมและวัตถุต่าง ๆ เช่น อยู่บนพลาสติกและเสตนเลสได้ถึง 3 วัน เป็นต้น รวมทั้งมีการตรวจพบเชื้อในอุจจาระของผู้ที่มีการติดเชื้อได้เป็นเวลาหลายวัน หากเราไปสัมผัสกับวัตถุหรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้ และเอามาป้ายตาจมูกปากก็อาจทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน โรค COVID-19 มีระยะฟักตัว 1 – 14 วัน โดยที่ร้อยละ 99 ของผู้ป่วยจะแสดงอาการใน 14 วันหลังจากสัมผัสโรค อย่างไรก็ตามมีรายงานผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีระยะฟักตัวถึงเกือบ 1 เดือน และผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 บางส่วนอาจจะไม่มีอาการ ซึ่งพบมีรายงานเด็กที่สัมผัสเชื้อและติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการถึงร้อยละ 4-15 แต่สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้
อาการแสดงของการติดเชื้อ COVID-19 มีความหลากหลายตั้งแต่เป็นไข้หวัดเล็กน้อย หรือมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้สูง เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และในจำนวนนี้มีรายงานถึงร้อยละ 10 ที่มีอาการของระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และหากผู้ที่ติดเชื้อมีอาการมากขึ้นก็อาจมีอาการแสดงของปอดอักเสบ ปอดอักเสบอย่างรุนแรง บางรายอาจมีอาการเหมือนติดเชื้อในกระแสเลือด ช็อก หรือการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลว บางรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ รายงานอัตราการเสียชีวิตโดยภาพรวมประมาณร้อยละ 2 แต่อาจจะสูงขึ้นในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
สำหรับเด็ก ๆ COVID-19 อันตรายอย่างไร
สำหรับเด็ก ๆ ส่วนใหญ่แล้วเมื่อมีการติดโรค COVID-19 จะมีอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก และกว่าร้อยละ 90 จะมีประวัติสัมผัสกับบุคคลในครอบครัวที่มีการติดเชื้อ เด็ก ๆ อาจจะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ และส่วนใหญ่ก็จะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดทั่วไป ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ มีรายงานผู้ป่วยที่เป็นโรค COVID-19 ที่มีอาการหนักและวิกฤตร้อยละ 6 ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่มีอาการหนักและวิกฤตพบมากถึงร้อยละ 19 โดยกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอาการรุนแรงในเด็ก ได้แก่ ทารกและเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
เด็ก ๆ กับการใส่หน้ากากอนามัย
ในปัจจุบันแนะนำให้ทุกคนสวมใส่หน้ากาก หากต้องเดินทางไปในที่สาธารณะหรือชุมชนที่มีคนหนาแน่น โดยในเด็กที่แข็งแรงดี อาจใช้หน้ากากผ้าได้ โดยต้องมีขนาดพอดี คลุมจมูก ปากและคาง รวมทั้งกระชับใบหน้า อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่สวมหน้ากากหรือแผ่นพลาสติกใสคลุมหน้า (face shield) ให้กับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี รวมทั้งเด็กที่ช่วยเหลือถอดหน้ากากเองไม่ได้หากหายใจไม่ออก เพราะเด็กกลุ่มนี้อาจมีความเสี่ยงในการขาดอากาศหรือมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งจนเป็นอันตรายได้ และ face shield อาจบาดใบหน้า ซึ่งในกลุ่มเด็กเล็กอาจใช้ผ้าคลุมรถเข็น หรือตระกร้าใส่เด็กเพื่อกันละอองฝอยที่อาจมีเชื้อโรคแทน ในกรณีที่เด็กมีอาการของการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น มีอาการไอหรือจาม อาจพิจารณาใส่หน้ากากอนามัย
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เตือนพ่อแม่!! ห้ามสวม หน้ากากอนามัยเด็ก ที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
ชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทยได้ออกมาประกาศว่า ไม่สนับสนุนให้มีการใส่ face shield หรือ หน้ากากอนามัยเด็ก แก่ทารกแรกเกิด เนื่องจาก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับทารกในการใส่ face shield หรือ หน้ากากอนามัยได้ ดังนี้
1. เนื่องจากทารกแรกเกิดหายใจทางจมูกเป็นทางหลัก (obigate nasat breather) ยังไม่มีความสามารถหายใจชดเชยด้วยการอ้าปากหายใจได้เมื่อมีการขาดอากาศ หรือออกซิเจน ดังนั้นวัสดุต่างๆ ที่นํามาผลิตเป็น surgical mask หรือ non-surgical mask หากมีคุณสมบัติ breathability (แรงต้านต่อการไหลของอากาศเข้า-ออก) สูงเกินไป อาจ ทําให้ทารกหายใจได้ไม่เพียงพอ และมีโอกาสเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกิดอันตรายต่อระบบประสาทของทารกส่งผลให้เกิดอาการเซื่องซึม หรือหมดสติได้
“เชื่อว่าคุณแม่หลายท่านอาจจะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอว่า ในช่วง 6 เดือนแรก อย่าเพิ่งให้ลูกนอนคว่ำ เพราะลูกยังไม่มีความสามารถที่จะพลิกหน้าพลิกตัวได้ และท่านอนคว่ำยังทำให้เสี่ยงต่อการที่หน้ากดกับที่นอนแล้วเกิดภาวะขาดหายใจ เพราะฉะนั้น ก็เช่นเดียวกันกับการนำแมสก์ไปใส่ให้ลูก ลูกจะดึงทิ้งเองก็ทำไม่ได้ ไม่รู้จะเอาหน้าหนีไปอย่างไรเมื่อหายใจไม่ออก ภาวะขาดออกซิเจนในเด็กเล็กๆ จะยิ่งไปกดศูนย์ควบคุมการหายใจ แทนที่เขาจะช่วยตัวเองให้หายใจเพิ่มมากขึ้น อาจจะหยุดหายใจไปเลยก็ได้” รศ.พญ.พิมลวงศ์ศิริเดช กรรมการบริหาร ชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิดกล่าว
2. วัสดุพลาสติกที่ใช้บังหน้าทารกอาจมีความคมบาดใบหน้า ดวงตาทารกได้ แต่ถ้ากลัวมาก ๆ อยากจะใส่เฟซชิลด์กันจริงๆ ก็ต้องใส่ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด เช่นระหว่างการเดินทางในที่สาธารณะ แต่ไม่ควรใส่ตลอดเวลา
“อยู่บ้านดีที่สุด”
รศ.พญ.พิมล วงศ์ศิริเดช ได้ให้คำแนะนำสำหรับการดูแลทารกแรกเกิด ถึงเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีไว้ว่า
ไม่พาเด็กไปในที่สุ่มเสี่ยง พาออกไปข้างนอกตามที่จำเป็น เช่น การไปโรงพยาบาลเพื่อรับการฉีดวัคซีนพื้นฐานตามที่แพทย์นัด หรือเด็กมีอาการไม่สบาย ในกรณีเหล่านี้ก็สมควรที่จะต้องพาไปโรงพยาบาล แต่หากจะพาออกไปซื้อของด้วยกันหรือพาไปเที่ยวนอกบ้าน แบบนี้ก็ควรที่จะต้องเว้นไว้ก่อน บุคคลที่จะพาเชื้อโรคมาสู่เด็กแรกเกิดก็คือ “ผู้ใหญ่” ฉะนั้น ผู้ใหญ่ในบ้านต้องสำรวจตัวเองว่ามีโอกาสนำเชื้อมาให้เด็กในบ้านหรือไม่ และไม่พาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดด้วย ในตอนที่ยังไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ไม่แนะนำให้พาเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดออกไปไหนอยู่แล้ว เพราะมีโอกาสที่จะสัมผัสผู้คนเยอะ แม้จะไม่มีเชื้อโควิด ก็ยังมีเชื้อโรคที่รับมาทางระบบทางเดินหายใจได้
การป้องกันที่ดีที่สุดในการป้องกันการแพร่เชื้อสู่ทารก มี 5 วิธี ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดตามสุขอนามัยก่อนสัมผัสทารก และควรใส่หน้ากากอนามัยสำหรับผู้เลี้ยงดูหากไม่แน่ใจในอาการของตัวเอง
- ผู้มีอาการไม่สบายโดยเฉพาะมีอาการทางระบบหายใจ งด เข้าใกล้ทารก
- งด การนําทารกแรกเกิดออกนอกบ้าน ยกเว้น การพาไปฉีดวัคซีนตามกําหนด หรือไปพบแพทย์เมื่อมีอาการไม่สบาย
- หากจําเป็นต้องพาทารกไปอยู่ในที่ชุมชน ควรปฏิบัติตามนโยบายของ Physical distancing อย่างเคร่งครัดโดยห่างจากผู้อื่น ประมาณ 6 ฟุต (2 เมตร)
- งดการเยี่ยมทารก จากบุคคลภายนอกทั้งที่โรงพยาบาล และที่บ้าน ควรใช้สื่อทางสังคม (social media) แสดงความยินดีแก่ครอบครัวแทน
ข้อควรระวังในการใส่หน้ากากอนามัย
ทั้งนี้นอกจากทารกแรกเกิด หรือเด็กกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ที่ไม่ควรให้ใส่หน้ากากอนามัยแล้วนั้น สำหรับเด็กอื่นหากไปในที่ชุมชน หรือจุดเสี่ยงก็สามารถให้เด็กใส่หน้ากากได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ และเด็ก ๆ ควรได้รับการสอนวิธีใช้หน้ากากให้ถูกต้อง ซึ่งนับว่าเป็นทักษะ Health Quotian ความฉลาดทางสุขภาพอย่างหนึ่ง เป็นทักษะ 1 ใน 10 ความฉลาด Power BQ ที่เด็กในปัจจุบันควรต้องมี นั่นคือ
- ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนใส่และหลังถอดหน้ากาก
- ไม่จับ สัมผัสบริเวณพื้นผิวด้านหน้าของหน้ากากอนามัยในขณะที่ใส่ เวลาถอดจะต้องจับที่หูหน้ากากทั้งสองข้าง
- ในกรณีใช้หน้ากากผ้าควรซักทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า หรือน้ำยาฟอกขาวทุกวัน หรือเมื่อเปียกชื้น เปื้อน
- ในกรณีใส่หน้ากากอนามัย เมื่อถอดควรนำไปทิ้งในภาชนะที่ปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ ที่สำคัญ ทั้งเด็ก ๆ และผู้ปกครองจะต้องล้างมือทันทีที่สัมผัสกับหน้ากากที่ใช้แล้ว
การป้องกันอย่างรัดกุมเป็นสิ่งที่ดีในช่วงเวลาการแพร่ระบาด แต่ก็ต้องคำนึงถึงผลร้ายอื่น ๆ ที่อาจทำให้ลูกได้รับอันตราย ที่ทำให้เขาได้รับ ผลกระทบมากกว่าการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเช่น การใส่หน้ากากอนามัยในเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ดั่งที่ได้กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือ ความไม่ประมาท ดำเนินกิจวัตรประจำวันของตนเองอย่างมีสติอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้เรา และลูกน้อยห่างไกลเชื้อได้อย่างปลอดภัย ที่สำคัญอย่าลืมให้กำลังใจกันและกันในวันที่โลกต้องการกำลังใจให้แก่กันเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก matichon.co.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
คนท้องตรวจโควิดได้ไหม จำเป็นต้องตรวจไหม อาการแบบไหนไม่ควรปล่อยไว้
ลูกหัวเล็ก หรือภาวะศีรษะเล็ก ไม่ได้เกิดจากไวรัสซิก้าเพียงอย่างเดียว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่