พาลูกไปทะเลแต่ ลูกกลัวทราย ไม่กล้าเหยียบทราย! - Amarin Baby & Kids
ลูกกลัวทราย

พาลูกไปทะเลแต่ ลูกกลัวทราย ไม่กล้าเดินเหยียบพื้นทราย เป็นเพราะอะไร?

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกกลัวทราย
ลูกกลัวทราย

ลูกกลัวทราย – สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ชอบพาลูกไปเที่ยว เปิดหูเปิดตา ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แน่นอนว่า ทะเล คืออีกหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ ที่พ่อแม่นิยมพาลูกเล็กเด็กแดง ไปสัมผัสกับลมทะเลและสัมผัสผืนทรายที่ฝ่าเท้าครั้งแรกในชีวิต แต่บางครั้งภาพที่พ่อแม่อยากเห็น อย่างภาพที่ เด็กๆ เดินเล่นสำรวจบนพื้นทรายอย่างมีความสุขอาจไม่เกิดขึ้น หากเจ้าตัวน้อยกลัวทราย หรือไม่ชอบการเดินเหยียบและไปสัมผัสกับพื้นทรายขึ้นมา ว่าแต่ทำไมเด็กเล็กๆ บางคนถึงรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องเดินสัมผัสกับผืนทราย วันนี้เรามาไขข้อข้องใจกันค่ะ

พาลูกไปทะเลแต่ ลูกกลัวทราย ไม่กล้าเดินเหยียบพื้นทราย เป็นเพราะอะไร?

สาเหตุของความกลัวทรายในเด็ก

หากพูดถึงระดับของความกลัวทรายในเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป บางคนสามารถเดินบนทรายได้ แต่อาจรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ บางรายมีอาการกลัวมาถึงขั้นให้พ่อแม่อุ้มเอาไว้ เกาะพ่อแม่แน่นไม่ยอมให้ปล่อยเดินลงไปเหยียบพื้นทรายหรือบางรายอาจร้องไห้ด้วยความอึดอัดใจ

เพราะเด็กเล็กๆ ยังมีการประมวลผลทางประสาทสัมผัสที่ไม่ดีนัก ซึ่งอาจทำให้พวกเขารู้สึกแปลกใจและตกใจกับเนื้อสัมผัสใหม่ๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินเหยียบบนผืนทราย  จัสมิน ซาปาตา กุมารแพทย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ระบุว่า เด็กส่วนใหญ่ล้วนเติบโตจากความกลัวนี้  “ปรากฏการณ์ที่เกิดกับทารกและทรายนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพวกเขาได้สัมผัสกับพื้นผิวใหม่ที่พวกเขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน ”  “ เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ในเด็กเล็ก ปรากฏการณ์ที่คล้ายกัน คือ วิธีที่เด็กตอบสนองต่อพื้นผิวใหม่ของอาหารใหม่ ที่ผู้ปกครองแนะนำในขวบปีแรกของชีวิต พวกเขามักจะถ่มน้ำลายหรือไม่ชอบเพราะเป็นเนื้อสัมผัสที่พวกเขาไม่เคยลิ้มรสมาก่อน ซึ่งปฏิกิริยานี้คล้ายคลึงกันกับการสัมผัสได้ถึงทรายที่เท้าของพวกเขา” นอกจากนี้ ซาปาตา ยังตั้งข้อสังเกตว่าความกลัวทรายนี้ก็คล้ายกับปฏิกิริยาของเด็ก เมื่อต้องสัมผัสหญ้าเป็นครั้งแรกด้วยเท้าเปล่า

ลูกกลัวทราย
ลูกกลัวทราย

เท้าของเด็กมีความอ่อนไหวมาก เด็กๆ จะรู้สึกไม่สบายใจได้ง่ายเมื่อร่างกายต้องสัมผัสกับพื้นผิวใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน สัมผัสของเท้าบนพื้นทรายหรือพื้นหญ้าสามารถทำให้เด็กตีความว่าเป็นความเจ็บปวดได้ แม้ว่าผู้ใหญ่อย่างเราจะไม่รู้สึกอะไรเลยก็ตาม นอกจากนี้ เมื่อพื้นผิวที่สัมผัสเปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน เช่น เหยียบบนหิน หรือเปลือกหอย อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายใจ และจะกลายประสบการณ์ที่น่ากลัวสำหรับพวกเขาได้มากกว่าที่เราคิด

ยกตัวอย่าง หากคุณนั่งบนพื้นผิวที่คุณรู้และจำผิวสัมผัสได้ว่าเป็นแบบไหน เช่น กระเบื้อง หรือ พื้นไม้ เป็นต้น แต่อยู่ๆ มีคนมีคนบังคับให้คุณนั่งลงบนพื้นผิวเช่น น้ำตาล เป็นธรรมดาที่ประสาทสัมผัสของคุณจะประมวลผลแตกต่างออกไป  และสำหรับทารกอาจสร้างความสับสนให้พวกเขาได้มาก และเด็กๆ รู้วิธีเดียวที่จะสื่อสารอารมณ์ได้ นั่นคือ การร้องไห้ และแสดงความกลัวออกมา ทั้งนี้หากความกลัวทรายไม่หายไป หรือมาพร้อมกับความกลัวต่อพื้นผิวอื่นๆ พ่อแม่อาจต้องใส่ใจเป็นพิเศษ  “แม้เด็กส่วนใหญ่เติบโตขึ้นจากสิ่งนี้ แต่ก็มีเด็กบางคนที่มีปัญหาได้ในระยะยาว ”

พ่อแม่จะช่วยลูกได้อย่างไร?

สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้คือรักษาความสงบและให้ความสะดวกสบายทั้งกายและใจให้ลูก  ในฐานะพ่อแม่ หน้าที่ของเราคือการช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัย ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความสามารถในการจัดการอารมณ์ของตนในทางที่ดี แทนที่จะละเลยหรือเพียงแค่บอกพวกเขาว่าพวกเขาไม่เป็นไร การช่วยให้เด็กประมวลผลอารมณ์ สามารถนำไปสู่ระดับความฉลาดทางอารมณ์ที่สูงขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลดีในปัจจุบัน แต่ยังส่งผลต่อการเลือกของพวกเขาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตอีกด้วย

4 ข้อควรคำนึง เล่นกับลูก ให้สนุก-ปลอดภัย ช่วยลูกมีพัฒนาการที่ดีได้

ลูกเล่นเท้าเปล่า ลูกไม่ยอมใส่รองเท้า พ่อแม่ควรห้ามหรือควรปล่อย?

เปิดเทคนิค สอนลูกให้ใจแกร่ง ฟันฝ่าอุปสรรคชีวิตได้ราบรื่น

เพื่อช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัย พ่อแม่ต้องสนับสนุนลูกทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์ เช่น พากลูกเดินออกจากสิ่งที่ทำให้ลูกกลัว และบอกลูกว่ามันปลอดภัยแล้ว เราจะไม่ต้องเหยียบทรายอีกนะ เว้นแต่ลูกจะต้องการ คุณอาจหาเสื่อ หรือเบาะสำหรับนั่งบนทราย หรือรองเท้าลุยน้ำเพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องรู้สึกถึงทรายที่เท้า เป็นต้น

กอดลูกให้แน่นและปลอบลูกต่อไปจนกระทั่งพวกเขาเริ่มผ่อนคลาย จำไว้ว่าการให้เกียรติและใส่ใจในความรู้สึกของบุตรหลานเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่บางสิ่งบางอย่างทำให้พวกเขากลัวแทนที่จะผลักดันพวกเขาให้กลับเข้าสู่ความรู้สึกไม่สบายโดยไม่ให้เวลาพวกเขาประมวลผลประสบการณ์ของพวกเขาก่อน

หากลูกของคุณไม่เต็มใจที่จะกลับไปทะเล ให้ลองหานิทาน หรือสมุดภาพที่เกี่ยวข้องกับทรายและทะเลให้ลูกดู ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับใช้วิจารณญาณของพ่อแม่ว่าลูกจะเปิดรับหรือไม่ เพราะฉะนั้นอ่านสัญญาณของพวกเขา และถามพวกเขาเสมอว่ารู้สึกอย่างไร แม้ว่าพวกเขาจะมองแค่ภาพก็ตาม บอกลูกว่าพร้อมเมื่อไหร่เราจะลองไปทะเลกันอีกครั้ง  สิ่งนี้อาจทำให้ลูกรู้สึกสบายใจที่จะไปชายหาดอีกครั้ง

 

ลูกกลัวทราย

ชื่นชมลูกเมื่อลูกก้าวข้ามความกลัวได้

การยกย่องชมเชยจากผู้ปกครอง เป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นพ่อแม่ ที่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อย ยิ่งไปกว่านั้น มันเปลี่ยนโครงสร้างของสมอง เด็กที่ได้รับคำชมจากผู้ปกครองมักจะมีปริมาณเนื้อสมองสีเทา (Grey Matter) ในเยื่อหุ้มสมองส่วนหลังด้านซ้ายมากขึ้น ซึ่งเป็นเนื้อสมองหรือเนื้อเยื่อเซลล์ประสาทที่ใช้ในการรับสัมผัสต่างๆ เช่น การรับรู้อารมณ์ การควบคุมตนเอง การมองเห็น การได้ยิน รวมทั้งการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ มากขึ้น

ซึ่งสัมพันธ์กับการเอาใจใส่และการเปิดกว้างต่อประสบการณ์ใหม่ของเด็กๆ  ทำตามขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ กับลูกน้อยของคุณ เพื่อให้พวกเขารู้สึกสบายใจกับชายหาดและผืนทรายมากขึ้น กล่าวชมเชยเมื่อพวกเขาสามารถดูสิ่งของ หรือนิทาน ที่เกี่ยวข้องกับทะเลและชายหาด หรือชื่นชมเมื่อลูก เลือกที่จะลองไปเดินบนชายหาดอีกครั้ง

จำไว้เสมอว่าการการทำให้เด็กวัยเตาะแตะของคุณรู้สึกกลัวมากเกินไป อาจทำให้พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย ความช่วยเหลือจากพ่อแม่ในการช่วยให้เด็กๆ ได้ประมวลผลสถานการณ์ที่กระตุ้นต่อความรู้สึกกลัว ไม่ยัดเยียดพวกเขามากเกินไป จะช่วยให้ลูกน้อยของคุณจะรู้สึกอุ่นใจและมีโอกาสจะเอาชนะความกลัวได้ในอนาคต แต่หากคุณสังเกตเห็นว่าลูกของคุณกลัวบางสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชายหาดหรือทรายมากจนผิดสังเกต คุณสามารถปรึกษานักจิตวิทยาเด็กเพื่อขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ และหากปัญหายังคง แม้เด็กๆ เริ่มโตขึ้น ผู้ปกครองควรพูดคุยกับกุมารแพทย์ หรือนักบำบัดที่สามารถช่วยแก้ปัญหานี้

การให้ความช่วยเหลือลูกให้ก้าวผ่านพ้นความกลัวต่างๆ ในวัยเด็กไปได้ด้วยความสนันบสนุนที่เหมาะสมของคุณพ่อคุณแม่ จะทำให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในชีวิตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป จะส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ของตัวเอง สิ่งที่ยากสำหรับลูกในครั้งแรกของชีวิต จะค่อยๆ ง่ายขึ้น และพวกเขาจะปรับตัวได้หากได้รับการสนับสนุนที่ดี ไม่ยัดเยียดจนเกินไป ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจ และส่งเสริมลูกอย่างเหมาะสมในการก้าวผ่านอุปสรรคปัญหาต่างๆ จะช่วยให้เด็กๆ เกิดทักษะด้าน ความฉลาดต่อการเผชิญกับปัญหา (AQ)  ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จ เมื่อพวกเขาต้องเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ต่อไปในอนาคตค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : romper.com , popsugar.com , cloudsurfingkids.com

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ให้ ลูกเล่นเลอะเทอะ บ้างสิดี! เลอะแบบนี้ ดีต่อพัฒนาการ!

บุ้งทะเล! สัตว์มีพิษที่ต้องระวัง เมื่อพาลูกเที่ยวทะเล (มีคลิป)

เทคนิค คลายปัญหา ลูกขี้กลัว ช่วยลูกปรับตัว ในทุกเหตุการณ์

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up