ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจตอนนอนคืออะไร
มนุษย์เราทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เวลาที่ตื่นอยู่กล้ามเนื้อบริเวณคอจะตึงตัว จึงเปรียบเหมือนท่อแข็งๆ อากาศผ่านเข้าออกได้ดีตามปกติ แม้ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์จะโตแต่ลมยังผ่านเข้าไปได้ แต่เมื่อเราหลับ กล้ามเนื้อบริเวณคอจะหย่อนลง ทำให้อากาศผ่านได้ไม่ดีเหมือนเวลาเราใช้หลอดกาแฟเก่าดูดน้ำแรงๆ หลอดจะแฟบลง ทำให้ดูดน้ำลำบาก ยิ่งรวมกับการที่ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โตแล้ว เวลาสูดลมหายใจเข้าแรงๆ ยิ่งทำให้ทางเดินหายใจตีบไปหมด เป็นสาเหตุที่ทำให้มีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจตอนนอนแต่ตอนตื่นไม่เป็นไร แต่สมมติเราตัดต่อมทั้งสองนี้ออกเมื่อกล้ามเนื้อหย่อนลงตอนนอน จะหายใจได้ปกติเพราะไม่มีอะไรขวาง
ภาวะนี้ยิ่งมีการอุดกั้น เด็กก็จะยิ่งหายใจแรงขึ้น ต้องสูดหายใจแรงเพื่อพยายามเอาอากาศเข้าไป ทางเดินหายใจก็จะยิ่งตีบมากขึ้น หากปล่อยไว้อาการนี้จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
อาการที่บ่งบอกว่าลูกอาจมี “ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจตอนนอน”
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- อาการตอนนอน (Nighttime symptom)ได้แก่ หายใจสะดุด นอนกระสับกระส่าย นอนหายใจเฮือก สะดุ้งตื่นตอนกลางดึกเพราะหายใจไม่พอ
- อาการตอนตื่น (Daytime symptom)เด็กที่นอนกรนแล้วหายใจไม่พอ เขาจะไม่ค่อยได้นอน พักผ่อนไม่เพียงพอ อาการที่ลูกแสดงออกจะต่างกันตามวัย
– เด็กโต มักจะบอกว่าปวดหัว ตื่นมาแล้วเวียนหัว บางคนไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากตื่น อยากนอนต่อ ปลุกยาก บางคนเมื่อไปเรียนก็ง่วงจนหลับในห้องหรือขณะทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย จะหลับตอนกลางวันมากขึ้น
– เด็กเล็กเด็กเล็กมักบอกไม่ได้ว่าปวดหัว เด็กที่เข้าโรงเรียนแล้วครูจะบอกพ่อแม่ว่าสมาธิสั้น เขามักไม่มีสมาธิในการเรียน มีปัญหาเรื่องการเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน เขาจะไม่ง่วงเหงาหาวนอนแบบเด็กโต แต่กระสับกระส่าย เดินไปเดินมาเพื่อไม่ให้ง่วง หรืออารมณ์หงุดหงิด ถ้าคุณครูบอกว่าเด็กเล็กคนใดสมาธิสั้น ต้องมาดูว่านอนกรนหรือไม่ หากนอนกรนต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะมีการศึกษาพบว่าเมื่อแก้ปัญหาเรื่องนอนกรน เรื่องสมาธิสั้นและพัฒนาการด้านการเรียนจะดีขึ้น
ลูกนอนกรน ถ้าไม่รักษา จะส่งผลเสียในระยะยาวอย่างไร
- เรียนได้ไม่ดี ทำให้ลูกไม่ชอบเรียน ซึ่งจะมีผลกับเขาในอนาคตแน่นอนและเพราะได้ออกซิเจนไม่เพียงพอจึงส่งผลต่อสมอง ทั้งด้านความจำ สติปัญญา การตัดสินใจสมองไม่ค่อยแล่น คิดและตัดสินใจช้า แต่พัฒนาการอื่นอาจไม่ช้า
- เสี่ยงเป็นความดันสูงหรือหัวใจวายมากกว่าปกติ เมื่อเด็กนอนกรนแล้วหายใจเข้าไปไม่พอ จะทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำเพราะการหายใจของเราคือการสูดเอาออกซิเจนเข้าไปในเลือด เมื่อออกซิเจนในเลือดต่ำจะทำให้อวัยวะภายในได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หัวใจและปอดจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อปั๊มเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้อวัยวะต่างๆ ได้รับออกซิเจนในปริมาณเท่าเดิม ฉะนั้นในอนาคต เด็กจะมีโอกาสความดันสูง หรือหัวใจวายมากกว่าปกติ เพราะหัวใจและปอดทำงานหนักเป็นระยะเวลาหลายปีทั้งตอนตื่นและตอนหลับ
วินิจฉัยอย่างไรว่าลูกมี “ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจตอนนอน”
ใช้วิธีตรวจการนอน (Sleep test) โดยให้เด็กนอนที่โรงพยาบาลหนึ่งคืนแล้ววัดคลื่นสมองว่าลักษณะการนอนปกติไหม วัดลมที่จมูก ว่าลมผ่านเข้าออกปกติไหม เพราะถ้าเด็กนอนกรน เกิดจากทางเดินหายใจตีบแคบ ลมที่ผ่านจมูกจะน้อยลง วัดระดับออกซิเจนในเลือดว่าลดต่ำไหม วัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดว่าสูงขึ้นไหม เพราะเมื่อเราหายใจต้องเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออก ถ้าคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงแสดงว่าหายใจไม่เพียงพอ มีการวัดการกลอกตา สังเกตการนอนว่าหลับสนิทดีไหมหรือว่าตื่นตลอด
การนอนของคนเรามีหลายระดับ เมื่อหลับแล้วเราจะหลับลึกขึ้นเรื่อยๆ บางคนจะหลับอยู่แค่ระดับหนึ่ง เมื่อหายใจไม่ออกสักพักก็จะตื่นขึ้นมา ไม่ได้ตื่นแบบรู้ตัวแต่สมองตื่น เหมือนหลับไม่สนิท สักพักต่อมาจะหลับสนิทขึ้นและเมื่อหายใจไม่พอสมองก็จะตื่นขึ้นมาใหม่อีก หลับไม่ลึกเสียที การตรวจคลื่นสมองจะช่วยตรวจได้ว่าเขาหลับได้ดีไหม
การตรวจการนอนโดยวัดหลายวิธีดังที่กล่าวไปนั้นมีค่าใช้จ่ายพอสมควร จึงมีวิธีที่ง่ายกว่านั้นคือนอนที่โรงพยาบาลแล้ววัดออกซิเจนในเลือดเพียงอย่างเดียว หากได้ผลว่าระดับออกซิเจนในเลือดต่ำก็บ่งบอกได้ว่าเด็กมีปัญหาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ แต่วิธีที่ได้มาตรฐานคือการตรวจการนอน