อาการ ปวดบิดในทารก ร้องไห้จ้า ลูกเป็นอะไร อันตรายไหม ต้องหาหมอหรือเปล่า
ปวดบิดในทารก อาการแบบนี้เป็นอะไร
อาการบิดตัวของทารก หากแบ่งเป็นตามช่วงวัย อาจมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป ต้องดูบริบทอื่น ๆ ประกอบด้วย อย่างการบิดตัวของทารกแรกเกิดจะเรียกกันว่า บิดเรียกเนื้อ อาการนี้เกิดได้กับทารกทุกคน เป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อของทารกที่มักทำตอนตื่นนอน คนโบราณเชื่อกันว่า การที่ทารกบิดขี้เกียจเรื่อย ๆ จะทำให้เด็กมีเนื้อเยอะ โตเร็ว อาการบิดตัวของทารกแรกเกิด มักจะมาพร้อมเสียงร้องเอี๊ยด ๆ เป็นเพราะว่าทารกยังควบคุมกล้ามเนื้อได้ไม่ดี พบได้บ่อยในเด็กที่น้ำหนักตัวขึ้นเร็ว แต่ไม่ได้มีอันตราย
ทารกปวดบิดจากโคลิก
หนึ่งในอาการปวดบิดของทารกที่พบบ่อยคือ โคลิก (Baby Colic) หรือที่เรียกกันว่า เด็กร้อง 100 วัน เนื่องจากโคลิกเป็นอาการที่เด็กแรกเกิด อายุ 3 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึง 3 เดือน ร้องไห้หนักมาก ซ้ำยังร้องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในตอนกลางคืน ทารกมักจะร้องโดยหาสาเหตุได้ยาก อาการอื่น ๆ ของโคลิก เช่น
- ร้องไห้หนักเป็นเวลานาน มักจะร้องไห้มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และเป็นอยู่นานมากกว่า 3 เดือน
- แผดเสียงคล้ายโมโห
- บิดตัวไปมา
- งอขาเข้าหาหน้าท้อง งอตัว กำมือแน่น
แม้ว่าเจ้าตัวน้อยจะกินนมได้ตามปกติ มีสุขภาพที่แข็งแรงดี แต่ก็ยังร้องไห้โคลิกเป็นเวลานาน จนพ่อแม่หลายคนหาสาเหตุของโคลิกไม่เจอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโคลิกเกิดได้จากหลายสาเหตุ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโคลิก
-
ระบบทางเดินอาหาร
มีความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหาร เกิดจากทารกร้องไห้หนักมาก ๆ มักจะกลืนก๊าซเข้าไปในลำไส้ หรือกลืนอากาศเข้าไปตอนดูดนม โดยเฉพาะการดูดขวด ทำให้แน่นท้อง เกิดการไม่สบายตัว จนร้องไห้ออกมาอย่างรุนแรง ซ้ำยังแสดงท่างอขาไปชิดหน้าท้อง คล้ายกับว่าปวดบิดภายในท้องของเจ้าตัวน้อย จึงมีความเป็นไปได้ด้วยว่า มีการเคลื่อนไหวของลำไส้มากกว่าปกติ หากได้รับยาลดการบีบตัวของลำไส้ ก็ช่วยให้ทารกบางคนมีอาการที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ถ้าพ่อแม่ไม่อุ้มเรอ กินมากไป กินน้อยไป ก็ทำให้เจ้าตัวน้อยอึดอัดแน่นท้องจนร้องบิดได้
-
สุขภาพจิตของแม่
ความเครียดตั้งแต่ตอนท้องก็มีผลต่ออาการของทารก รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก ก็จะส่งผลเช่นกัน โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรกที่กังวลเรื่องการเลี้ยงลูก หรือจำเป็นต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพัง ทำให้รู้สึกล้า ท้อ กังวล เครียด เมื่อทารกร้องไห้จึงไม่รู้วิธีจัดการอย่างถูกต้องเพื่อให้ทารกหยุดร้อง
-
ระบบประสาทและพัฒนาการในทารก
ทารกกลุ่มนี้อาจจะร้องไห้มากกว่าทารกทั่วไป แต่เมื่อเติบโตขึ้นระบบประสาทและพัฒนาการจะดีขึ้นจนค่อย ๆ หายได้เอง หรือแม้แต่พื้นฐานทางอารมณ์ของทารกก็สำคัญเช่นกัน อย่างทารกอาจอยู่ในกลุ่มเด็กเลี้ยงยาก
อาการโคลิกก็ยังพบได้ในหลายโรค และมักมีอาการอย่างเฉียบพลัน เช่น
- ภาวะกรดไหลย้อนในเด็กเล็ก
- ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง
- ท้องผูก
- แพ้นม สำลักอาหารหรือขย้อน
- แผลที่รูก้น
- การติดเชื้อในร่างกาย เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบ
- ได้รับอุบัติเหตุ เช่น กระดูกหัก แผลที่ตาดำ และแมลงเข้าไปในหู เป็นต้น
วิธีดูแลลูกเมื่อมีอาการโคลิก
- อุ้มทารกเมื่อลูกร้องโคลิก คอยปลอบ ดูแลทารกอย่างใกล้ชิด
- สังเกตว่าลูกหิวนมหรือเปล่า แต่ไม่ควรให้นมมากเกินไป เพราะ Overfeeding ทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ จนแหวะนม และรู้สึกไม่สบายตัว เพราะน้ำนมมีมากจนล้นกระเพาะออกมา ดังนั้น ตอนให้นมควรจับลูกเรอเป็นระยะ ส่วนอาการแพ้นมวัวนั้นต้องพิจารณาอาการทางร่างกายของทารกอื่น ๆ ประกอบด้วย
- ถ้าลูกดูดขวดต้องอุ้มเรอให้ดี
- ลูกขับถ่ายหรือเปล่า ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือไม่
- อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป ก็มีผลให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัว
- โคลิกเกิดได้ทั้งเด็กนมผง และเด็กนมแม่ ถ้าคุณแม่กังวลเรื่องอาหารที่รับประทาน ทำให้ลูกมีอาการโคลิก ให้ลองดูหลังจากที่แม่กินนมวัว ไข่ และถั่ว ดูว่าลูกมีอาการอย่างไรบ้าง
- ทารกที่ดื่มนมผสม เช็คดูว่าลูกอาจแพ้นมวัวหรือไม่ เช่น อาการแหวะนม ผื่นขึ้น ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นเลือด
ถ้าลูกมีอาการปวดบิดในทารกไม่หายสักที ประกอบกับมีอาการไข้ ร้องนานกว่าเดิมจนหน้าดำหน้าแดง สีอุจจาระเปลี่ยนไป หรือหายใจผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
อ้างอิงข้อมูล : si.mahidol.ac.th และ ekachaihospital
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม