โรคหัวใจในเด็กแรกเกิด เป็นได้หรือ อาการหนักไหม
ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นข้อมูลว่าผู้ที่เป็นโรคหัวใจมักจะเป็นวัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีอันตรายเสี่ยงต่อการเสียชีวิตค่อนข้างมาก แต่เด็กแรกเกิดเองก็มีความเสี่ยงเป็น โรคหัวใจในเด็กแรกเกิด ด้วยนะคะ! จากข้อมูลพบว่าเด็กแรกเกิด 8 คน จาก 1,000 คน เป็นโรคหัวใจพิการ ทำไมเด็กแรกเกิดจึงเป็นโรคหัวใจได้ แล้วอาการจะหนักหรือไม่ แค่ไหน ทีมบรรณาธิการ ABK นำข้อมูลมาให้คุณพ่อคุณแม่ศึกษากันค่ะ
โรคหัวใจในเด็กแรกเกิด
แพทย์หญิงศรัยอร ธงอินเนตร กุมารแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาล ศิครินทร์ ได้ให้ข้อมูลว่า โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Defects) คือ ความผิดปกติของการพัฒนาโครงสร้างหัวใจของทารก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในเด็กมี 2 ชนิด คือ
1. ชนิดที่มีอาการเขียว (Cyanotic Type) ภาวะที่เด็กมีออกซิเจนในเลือดต่ำ เนื่องจากมีโครงสร้างหัวใจผิดปกติ เลือดดำปนอยู่กับเลือดแดง ที่ไปเลี้ยงร่างกาย การเจริญเติบโตของเด็กกลุ่มนี้ จะน้อยกว่าปกติ โดยโรคหัวใจชนิดที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้ เช่น
- Tetralogy of Fallot (TOF) เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ชนิดเขียวที่พบบ่อยที่สุด
- Transposition of the Great Asteries (TGA) การสลับที่ของหลอดเลือดแดงใหญ่
2. ชนิดไม่มีอาการเขียว (Acyanotic Type) เด็กกลุ่มนี้จะไม่มีอาการเขียว เนื่องจากร่างกายได้รับเลือดแดง ที่มีความอิ่มตัวของออกซิเจนในหลอดเลือดแดง มีปริมาณสูง อาจมีความผิดปกติที่เกิดจากผนังกั้นหัวใจมีรู ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ หรือหลอดเลือดตีบ หรือเกิน ซึ่งพบเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจชนิดไม่มีอาการเขียว ประมาณร้อยละ 85 ของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยโรคหัวใจชนิดที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้ เช่น
- Ventricular Septal Defect (VSD) ภาวะที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่างมีรูรั่ว
- Patent Ductus Arteriousus (PDA) การคงอยู่ของหลอดเลือดแดง เชื่อมระหว่างหลอดเลือดแดงใหญ่ของร่างกายและปอด
- Atrial Septal Defect (ASD) ภาวะที่ผนังกั้นหัวใจห้องบนมีรูรั่ว
อาการที่อาจสงสัยว่าเด็กเป็นโรคหัวใจ
- เด็กดูดนมได้ช้า, ดูดนมแล้วหอบเหนื่อย
- หายใจหอบ เหนื่อยง่ายเวลาเล่น หรือออกกำลังกาย
- หัวใจเต้นเร็ว เด็กมีอาการหัวใจเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ
- เลี้ยงไม่โตหรือเติบโตช้า ในเด็กเล็กก็จะพบพัฒนาการช้าทางด้านที่ต้องใช้กำลัง หรือกล้ามเนื้อ เช่น คว่ำ, นั่ง, ยืน, เดิน ช้า แต่มักไม่มีผลต่อสติปัญญาชัดเจน
- มีอาการเขียวเวลาดูดนม เหนื่อยง่าย ทำให้กินได้น้อยกว่าปกติ
- นิ้วปุ้ม มักจะพบในรายที่มีอาการเขียวนานเกิน 1-2 ปีขึ้นไป โดยในรายที่เขียวมากนิ้วก็จะปุ้มมาก
สาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ยังไม่สามารถทราบได้ชัดเจน แต่มีปัจจัยและความเสี่ยงอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบในการโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ดังนี้
1. ความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งการสร้างหัวใจของทารก จะถูกกำกับด้วยสารทางพันธุกรรมที่เรียกว่า ยีน (Gene) ตัวอย่างเช่น เด็กหลายคนที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม มักมีภาวะโรคหัวใจพิการด้วย
2. การได้รับยาหรือสารเคมีบางอย่างในช่วงก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์ หรือสารบางอย่างที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก โดยก่อนรับยาควรแจ้งแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพราะตัวยาบางชนิด ไม่สามารถใช้ในระหว่างการตั้งครรภ์ และมีผลโดยตรงกับทารกในครรภ์
3. ปัจจัยเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ อาจเกิดได้จาก การติดเชื้อของคุณแม่ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ของการตั้งครรภ์ การเจ็บป่วยขณะตั้งครรภ์ โรคประจำตัวของคุณแม่ เช่น เบาหวาน เป็นต้น
4. การปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้องของมารดาขณะตั้งครรภ์ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น เพราะสารดังกล่าว อาจส่งผลต่อหัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ ของเด็กในครรภ์
เทคโนโลยีตรวจหาโรคหัวใจในเด็ก
1. การวัดปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือดจากผิวหนัง ด้วยเครื่อง Pulse Oxemeter ซึ่งเป็นการตรวจวัดที่มีความแม่นยำสูง ทารกไม่ต้องเจ็บตัวจากการถูกเจาะเลือด สามารถใช้ตรวจคัดกรองโรคหัวใจในทารกได้ตั้งแต่แรกเกิด
2. การเอกซ์เรย์ทรวงอก (Chest X-ray)เพื่อดูขนาดหัวใจและ ดูลักษณะของเส้นเลือดในปอด
3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูความผิดปกติของหัวใจ และดูว่ามีหัวใจห้องไหนโตหรือไม่
4. การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนเป็นภาพหัวใจ (Echocardiogram) เป็นการตรวจพิเศษดูภายในหัวใจ และหลอดเลือด โดยกุมารแพทย์ด้านโรคหัวใจเด็ก เป็นการใช้คลื่นเสียงเหมือนการทำ Ultrasound ซึ่งจะบอกรายละเอียดของความผิดปกติภายในหัวใจและเส้นเลือดใหญ่บริเวณใกล้หัวใจได้ เป็นวิธีการตรวจที่ทำได้รวดเร็ว และแม่นยำ โดยไม่มีข้อเสียหรือความเสี่ยงใดๆ แต่ถ้าการตรวจในขั้นต้นไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ การตรวจด้วยการสวนหัวใจเป็นวิธีการที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับสุดท้าย และต้องทำรายที่จำเป็นเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลศิครินทร์, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก