ทารกไม่ถ่าย ปัญหาหนักใจของพ่อแม่เมื่อเห็นลูกน้อยอึดอัด ร้องงอแง แต่เชื่อไหมความรักของเราสามารถช่วยให้ลูกอึได้ เพียงนวดท้องแล้วร่ายมนต์แห่งความรัก I love you
I love you คาถานวดท้องแก้ปัญหา ทารกไม่ถ่าย ได้ผลชะงัด!!
ทารกไม่ถ่าย ลูกไม่อึ เป็นปัญหาที่น่ากังวลของพ่อแม่ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเห็นลูกน้อยอึดอัดทรมานด้วยแล้ว พ่อแม่คงทุกข์ใจกันไม่น้อย ก่อนจะตัดสินว่า ทารกไม่ถ่ายจนเป็นเรื่องที่น่าห่วงมากแค่ไหน เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบขับถ่ายของเด็กทารกกันก่อน
โดยทั่วไปแล้ว ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3 เดือน อาจถ่ายวันละประมาณ 2-3 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 5-40 ครั้ง เมื่ออายุ 3-6 เดือน จะถ่ายวันละ 2-4 ครั้ง ส่วนทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจถ่ายวันละประมาณ 1-2 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 5-28 ครั้ง ทั้งนี้ ทารกอาจไม่ได้ถ่ายทุกวัน ซึ่งการที่ทารกไม่ถ่ายนั้นไม่ได้บ่งบอกว่ามีอาการท้องผูกเสมอไป หากสงสัยว่าลูกท้องผูก ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมกับลักษณะอุจจาระว่าแข็งหรือมีเลือดปนออกมาด้วยหรือไม่
แบบไหนเรียกว่า “ลูกท้องผูก”
ทารกแต่ละคนมีความถี่ในการขับถ่ายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเด็กดื่มนมแม่ หรือนมชง ได้เริ่มทานอาหารอะไรบ้าง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อระบบขับถ่ายของลูกทั้งสิ้น สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ หมั่นสังเกตการขับถ่ายของเจ้าตัวเล็ก ว่าเป็นเช่นไร มีลักษณะแบบไหน จำนวนเท่าไหร่ ความสม่ำเสมอของแต่ละครั้ง และช่วงเวลาไหน หากเราคอยสังเกตจะพบความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายได้อย่างแม่นยำ อาการที่อาจแสดงว่าทารกท้องผูกนั้น ให้สังเกตดังต่อไปนี้
- ไม่ค่อยถ่าย ความถี่ในการขับถ่ายแต่ละวันของทารกนั้นไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่เพิ่งเริ่มหัดกินอาหารใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่าลูกไม่ได้ขับถ่ายติดต่อกันนานกว่า 2-3 วัน อาจเป็นสัญญาณของอาการท้องผูกได้
- ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระ พ่อแม่ควรสังเกตว่าลูกต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติ หรือรู้สึกหงุดหงิดและร้องไห้เวลาขับถ่ายหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้ เด็กอาจประสบภาวะท้องผูกอยู่
- มีเลือดปนอุจจาระ ทารกที่ท้องผูกอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระได้ เนื่องจากผนังทวารหนักฉีกขาดจากการออกแรงเบ่งอุจจาระ
- ไม่กินอาหาร ลูกจะไม่กินอาหาร และมักรู้สึกอิ่มเร็ว เนื่องจากอึดอัดและไม่สบายท้องจากการไม่ได้ขับถ่ายของเสีย
- ท้องแข็ง ลักษณะท้องของทารกจะตึง แน่น หรือแข็ง ซึ่งเป็นอาการท้องอืดที่เกิดขึ้นร่วมกับการมีท้องผูก
ส่อง “อึ” ลูกสังเกตอาการท้องผูก
อีกวิธีที่ง่าย และค่อนข้างได้ผลในการดูว่าทารกกำลังมีอาการท้องผูกอยู่หรือไม่ ก็คือ การสังเกตคุณภาพของอุจจาระ ให้สังเกตดูว่าเป็นอุจจาระที่
- แห้ง คุณภาพของอุจจาระดูแห้งไม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ ลักษณะแห้งไม่นุ่ม เป็นต้น
- รูปทรงกรวด หรือเม็ด แม้ว่าเด็กจะไม่ต้องออกแรงเบ่งมากนักกับอุจจาระรูปแบบนี้ แต่เมื่อเห็นว่าเป็นทรงกรวด หรือเป็นเม็ดนั่นแสดงถึงภาวะท้องผูกในทารก
- ออกไม่หมด โดยจะพบรอยเปื้อนบนผ้าอ้อม
หากพบลักษณะดังกล่าว สามารถบอกได้ว่าลูกน้อยของคุณกำลังพบกับภาวะ “ท้องผูก” เสียแล้ว
วิธีกระตุ้น และดูแล เมื่อ “ทารกไม่ถ่าย”
ส่วนสำคัญสุดในการช่วยให้การขับถ่ายของทารกเป็นปกติ นั่นคือ อาหาร อาหารสำหรับทารกส่วนใหญ่ก็คือ นมนั่นเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจในการเลือกซื้อนมผงที่เข้ากับลูก เพราะนมแต่ละยี่ห้อก็มีผลต่อเด็กแต่ละคนแตกต่างกันไป เช่น เด็กบางคนอาจไม่ถูกกับนมชนิดนี้ กินไปแล้วอาจเกิดอาการแพ้ ท้องเสีย ถ่ายเหลว หรือท้องผูกได้ โดยอาจทดลองซื้อนมผงขนาดเล็กมาให้เจ้าตัวเล็กลองทานดูก่อน เผื่อลูกน้อยเกิดแพ้นมผงสูตรนั้นหรือยี่ห้อนั้นขึ้นมาจะได้เปลี่ยนได้ทัน จะได้ไม่ต้องเสียดายเงินหากซื้อกระป๋องใหญ่ และหากลูกทานได้ ไม่มีอาการแพ้ หรือมีผลไม่ดีต่อร่างกายใด ๆ ก็ตาม ถึงอย่างนั้นก็ยังแนะนำให้ซื้อกระป๋องเล็กในจำนวนเยอะ ๆ แทนอยู่ดี เหตุผลเพราะเมื่อเปิดกระป๋องแล้ว ควรจะชงนมผงให้หมดในไม่เกิน 7 วันเพื่อลดความเสี่ยงของเชื้อโรคที่จะก่อตัวในกระป๋องนม
แต่นมที่ดีที่สุด และพบปัญหาต่อลูกน้อยที่สุด นั่นคือ นมแม่นั่นเอง หากคุณแม่ไม่ได้มีเหตุจำเป็นใด ๆ ก็ขอแนะนำว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนในตัวน้ำนมแม่แล้ว ยังเป็นน้ำนมที่เข้ากับร่างกายของลูกของเรามากที่สุดอีกด้วย เนื่องจากแทบจะไม่พบปัญหาเรื่องทารกไม่ถ่าย หรือท้องผูก กับเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเลย
นอกจากอาหารแล้ว เราอาจใช้การกระตุ้นด้วยวิธีอื่นเพื่อให้ทารกขับถ่ายได้ง่ายขึ้น เช่น
- ช่วยขยับร่างกาย การเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยเร่งการย่อยอาหาร ส่งผลให้ร่างกายลำเลียงของเสียออกไปได้เร็ว โดยพ่อแม่อาจฝึกทารกที่ยังเดินไม่ได้ให้ถีบจักรยานกลางอากาศ หรือหากทารกยังคลานไม่ได้ อาจช่วยนวดกระตุ้นขา
- นวดท้องเด็ก วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นลำไส้ ส่งผลให้ขับถ่ายได้ง่าย
- ทาว่านหางจระเข้ หากเด็กถ่ายลำบากจนมีเลือดออกหรือผิวหนังบริเวณทวารหนักฉีกขาด ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาเป็นอันดับแรก แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการรักษาอาจใช้ครีมที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ทาบริเวณดังกล่าวเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษา พ่อแม่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาหรือวิธีรักษาอาการท้องผูกของเด็ก โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาที่ช่วยให้อุจจาระไม่แข็งตัวเพื่อให้เด็กถ่ายง่ายขึ้น หรือใช้ยากลีเซอรีนเหน็บก้น อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยาเหน็บก้นเป็นประจำ เนื่องจากจะทำให้เด็กเคยชิน และไม่ถ่ายเองตามปกติ รวมทั้งเลี่ยงไม่ให้เด็กรับประทานยาระบาย หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
ชั่วโมงแห่งการนวด “ระบายท้อง”
ศาสตร์แห่งการนวดเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ยอมรับกันมากให้หมู่พ่อแม่ที่ดูแลลูกน้อย แม้ว่าจะไม่สามารถระบุผลที่ชัดเจนได้ตามวิทยาศาสตร์เท่าไหร่นักก็ตาม แต่เมื่อนำไปลองปฎิบัติดู ต่างก็เห็นผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ไม่มากก็น้อย พบว่าการนวดบริเวณท้องของทารกสามารถช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ และยังบรรเทาอาการจุกเสียดและก๊าซ เด็กที่ได้รับการนวดวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที ติดต่อกัน 14 วัน มีจำนวนการถ่ายอุจจาระเพิ่มขึ้น ในการนวดมีเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากกัน ดังนี้
เคล็ดลับทั่วไปบางประการในการนวดลูกน้อยเพื่อรักษาอาการท้องผูก:
- นวดลูกน้อยของคุณวันละครั้ง
- เวลาที่ดีที่สุดในการนวดแก้อาการท้องผูก เนื่องจากพลังของการกำจัดและการย่อยอาหารทำงานมากที่สุดตั้งแต่ตี 5 – 11 โมงเช้า
- อย่าลืมใช้น้ำมันเกรดอาหารในระหว่างการนวด เช่น น้ำมันมะพร้าว หรือเบบี้ออยล์ก็ได้เช่นกัน
- ทำให้มือของคุณอุ่นก่อนเริ่ม หากมือของคุณเย็นอยู่เสมอ ให้แช่มือด้วยน้ำอุ่นสักครู่
- นวดลูกน้อยของคุณในห้องที่มีอุณหภูมิห้องปกติ ไม่ควรหนาว หรือเย็นเกินไป
ดังนั้นเรามานวดทารก เพื่อช่วยระบายอาการอึดอัดท้องกันดีกว่า เพราะไม่มีอันตราย แถมสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวคุณเองที่บ้านเสียด้วย
1. ท่า I love you ความรักชนะทุกสิ่ง
ท่านวดนี้เป็นท่านวดช่วยไล่ลมในท้องของทารก เพราะอาการท้องอืดมักมาพร้อมกับการไม่ถ่ายด้วยเช่น หากลูกสบายท้อง ไม่มีลมในท้อง ก็จะช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้นได้
- I การนวดท่านี้ให้ใช้ฝ่ามือลูบเป็นเส้นตรงจากใต้ราวนมด้านซ้ายถึงบริเวณท้องน้อยเป็นตัว I (ด้านขวาของผู้นวด)
- LOVE ให้ผู้นวดใช้ฝ่ามือลูบเป็นตัว L กลับหัวบริเวณท้อง โดยเริ่มลากมือจากซ้ายไปขวาตามแนวนอนถึงใต้ชายโครงซ้าย แล้วลากลงตรง ๆ ถึงบริเวณท้องน้อย
- YOU ใช้ฝ่ามือลูบบริเวณท้องเป็นรูปตัวยูคว่ำ โดยเริ่มจากด้านขวาของเด็กไปซ้าย
ข้อแนะนำ ให้นวดก่อนมื้อนม หรือหลังจากให้นมไปแล้ว 2 ชั่วโมง
2.นวดมือกระตุ้นลำไส้
จับมือทารกลูบลงบนฝ่ามือไล่มือโดยใช้นิ้วโป้งลากไปจากข้อมือเรื่อยไปถึงนิ้วชี้ ทำซ้ำประมาณ 100 – 300 ครั้ง สิ่งนี้ควบคุมลำไส้ใหญ่และส่งเสริมการเคลื่อนไหวของลำไส้ให้ดีขึ้น
3.นวดท้องขยับกระเพาะอาหาร
- ให้ถูรอบสะดือตามเข็มนาฬิกาด้วยโคนฝ่ามือ 100 – 500 ครั้ง วิธีนี้ช่วยกระตุ้นการย่อยอาหาร และการเคลื่อนไหวของลำไส้ให้ขยับ จะได้กลับมาทำงานปกติ
- นวดท้องส่วนล่างด้านซ้ายของเด็กซึ่งอยู่ใต้สะดือประมาณ 3 นิ้วมือ โดยใช้ปลายนิ้วกดลงไปเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอประมาณ 3 นาที และควรหมั่นนวดวันละหลายครั้งจนกว่าเด็กจะถ่ายได้ปกติ
4.นวดบนขาท่อนล่าง
ใช้ปลายนิ้วกลางนวด หรือทำเป็นวงกลมเล็ก ๆ บริเวณใต้เข่าด้านนอกของกระดูกหน้าแข้ง 50-100 ครั้ง การนวดบริเวณนี้จะช่วยส่งเสริมการย่อยอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันของทารก
การนวดนอกจากจะส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย ระบบย่อยอาหารของทารกแล้ว ยังช่วยให้เกิดสัมผัสแห่งรักที่จะส่งผ่านจากแม่สู่ลูกน้อย การที่เขาได้รับการสัมผัสบ่อย ๆ จากแม่ หรือพ่อผ่านการนวด จะทำให้สร้างสายใยความผูกพันระหว่างกันได้ดีอีกด้วย รู้แบบนี้แล้ว…รีบกลับไปนวดเจ้าตัวเล็กกันเถอะ!!
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.pobpad.com/www.mommasociety.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ส่งลูกเข้า เตรียมอนุบาล จำเป็นมั้ย? ควรให้ลูกเข้าเรียนตอนกี่ขวบดี?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่