ทารกไม่ถ่าย ลูกไม่ถ่าย แบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ ไม่ถ่าย 1-2วันปกติไหม ปัญหาสุขภาพที่พ่อแม่ควรรู้และสังเกต เพราะเป็นอาการที่ไร้สัญญาณเตือน รู้เร็วช่วยลูกได้
ทารกไม่ถ่าย ลูกไม่ถ่าย เรื่องใหญ่ไหม? สวนก้นเลยดีไหม?
ลูกน้อยวัยทารก สำหรับคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่ด้วยแล้ว คงเกิดคำถามในใจว่า
“จะทราบได้อย่างไรว่าลูกกำลังสุขภาพดี สบายตัว ไม่เจ็บป่วย?”
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถประเมินได้ว่า ลูกน้อยวัยทารกแข็งแรงสมบูรณ์ดี หรือมีความผิดปกติหรือไม่นั้น คือ การสังเกตการขับถ่ายของลูก ไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะ หรืออุจจาระ โดยสังเกตจากความถี่ในการเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือสังเกตลักษณะของของเสียที่ลูกถ่ายออกมาเปื้อนบนผ้าอ้อม นั่นเอง
ความถี่ในการขับถ่าย
ความถี่ในการเปลี่ยนผ้าอ้อม นั่นแสดงถึงความถี่ในการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระของทารก คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกต และนับจำนวนในการขับถ่ายของลูก เพราะสิ่งนี้สามารถบ่งบอกถึงภาวะการขาดน้ำ และอาการท้องผูกของทารกได้
- ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3 เดือน อาจถ่ายวันละประมาณ 2-3 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 5-40 ครั้ง
- ทารกอายุ 3-6 เดือน จะถ่ายวันละ 2-4 ครั้ง
- ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจถ่ายวันละประมาณ 1-2 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 5-28 ครั้ง
ทั้งนี้ ทารกอาจไม่ได้ถ่ายทุกวัน ซึ่งการที่ทารกไม่ถ่ายนั้นไม่ได้บ่งบอกว่ามีอาการท้องผูกเสมอไป หากสงสัยว่าลูกท้องผูก ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมกับลักษณะอุจจาระว่าแข็งหรือมีเลือดปนออกมาด้วยหรือไม่
แบบไหนเรียกว่าท้องผูกกันนะ?
ทารกแต่ละคนมีความถี่ในการขับถ่ายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเด็กดื่มนมแม่ หรือนมชง หัดกินอาหารได้หรือยัง และกินอาหารอะไรไปบ้าง พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตอาการหรือความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่าย อาการแบบไหนที่เรียกว่าท้องผูกกันนะ
- ทารกไม่ถ่าย ลูกไม่ถ่าย ติดต่อกันนานกว่า 2-3 วัน
- ออกแรงเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติ หรือร้องไห้ขณะขับถ่าย
- อุจจาระมีเลือดปน มีลักษณะก้อนแข็งคล้ายเม็ดกระสุน
- อิ่มเร็ว ไม่กินอาหาร
- ท้องแข็ง
แก้ได้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ (สาเหตุทารกไม่ถ่าย)
หากลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่มักมีอาการถ่ายไม่ออกบ่อย ๆ หรือท้องผูกเป็นประจำ เราควรหันมาสังเกตถึงพฤติกรรม และต้นเหตุที่แท้จริงว่า สาเหตุที่ทารกไม่ถ่ายเกิดจากเหตุอะไร ซึ่งสาเหตุที่ทารกท้องผูก ลูกไม่ถ่ายอาจแบ่งได้เป็น 2 ช่วงวัย ดังนี้
ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน
- ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หากทารกอายุน้อยกว่า 1 เดือน และมีอาการท้องผูก ไม่ถ่ายควรรีบปรึกษากุมารแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นอาการของภาวะลำไล้ใหญ่โป่งพองแต่กำเนิด แต่อย่าพึ่งกังวลมากไป เพราะมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 1 ใน 5,000 คน ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์จะเป็นการดีที่สุด
- แพ้นม ทารกที่รับประทานนมแม่มักไม่เกิดปัญหาท้องผูก หรือถ่ายยาก เนื่องจากน้ำนมแม่มีไขมัน และโปรตีนที่ช่วยให้อุจจาระไม่แข็งตัว จึงมีปัญหาเรื่องลูกไม่ถ่าย น้อยกว่าเด็กที่รับประทานนมชง แต่หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตได้ว่าลูกเริ่มมีอาการถ่ายไม่ออก ท้องผูก อาจเป็นไปได้ว่าลูกแพ้นมสูตรนั้น ๆ สำหรับเด็กที่รับประทานนมชง หรือแพ้อาหารบางอย่างที่คุณแม่รับประทานเข้าไป และส่งผ่านน้ำนมแม่ไปสู่ลูกได้
- คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากระบบย่อยอาหารยังเจริญไม่เต็มที่ ส่งผลให้อาหารที่รับประทานเข้าไปเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารช้า และย่อยได้ไม่สมบูรณ์ อุจจาระจึงมีลักษณะแห้ง และแข็ง ทำให้ลูกถ่ายไม่ออก
การดูแลเมื่อทารกไม่ถ่าย ลูกไม่ถ่าย ท้องผูก
สำหรับเด็กที่รับประทานนมแม่ คุณแม่ที่ให้นมบุตรจึงควรเลี่ยงอาหารที่ส่งผลต่อการขับถ่ายของลูก โดยการหมั่นสังเกต และจดบันทึกอาหารที่รับประทานในแต่ละวันที่ส่งผลต่อการขับถ่ายของลูกว่าสอดคล้องกันหรือไม่
ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป
เมื่อทารกอายุมากกว่า 6 เดือน เริ่มเข้าสู่การรับประทานอาหารเสริม นอกเหนือจากนมในบางบ้าน อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่ภาวะท้องผูกได้
- นมชง เด็กที่ดื่มนมชงเพียงอย่างเดียวเสี่ยงเกิดท้องผูกได้มาก อีกทั้งยังต้องคอยปรับสูตรนมตามวัยของลูกอีกด้วยทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการแพ้มากขึ้น และเนื่องจากนมชงมีส่วนผสมที่อาจทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานมากขึ้น ส่งผลให้อุจจาระเป็นก้อน นอกจากนี้ หากทารกแพ้โปรตีนในน้ำนมก็อาจเกิดอาการท้องผูกได้
- อาหารเสริม เมื่อเด็กเริ่มรับประทานอาหารเสริมนอกเหนือจากนมแม่ อาจทำให้ร่างกายไม่ได้รับของเหลว หรือน้ำในปริมาณเท่าเดิม และอาหารบางอย่างมีเส้นใยต่ำ ทำให้เป็นต้นเหตุให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่าย
- ภาวะขาดน้ำ อุจจาระ คือสิ่งหนึ่งที่เราสามารถสังเกตภาวะขาดน้ำของทารกได้ หากทารกประสบภาวะขาดน้ำหรือได้รับน้ำไม่เพียงพอ ร่างกายจะดูดซึมน้ำจากอาหารที่กินเข้าไป รวมถึงน้ำจากกากของเสียในร่างกาย ส่งผลให้อุจจาระแห้งและแข็งจนขับถ่ายลำบาก
- อาการป่วยและยา อาการท้องผูกในทารกอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ไฮโปไทรอยด์ โบทูลิซึม (Botulism) อาการแพ้อาหารบางชนิด โรคเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญอาหาร เป็นต้น รวมถึงอาการป่วยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เด็กกินอาหารหรือดื่มน้ำน้อยลง ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติ และนำไปสู่ปัญหาท้องผูก นอกจากนี้ การใช้ยาระงับปวดชนิดเสพติดหรือธาตุเหล็กในปริมาณสูงก็ทำให้เกิดท้องผูกได้
การดูแลเมื่อทารกไม่ถ่าย ลูกไม่ถ่าย ท้องผูก
ปรับอาหารการกินของลูก การขับถ่ายมักสัมพันธ์กับอาหารการกินเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงควรเริ่มจากการปรับอาหารที่ลูกรับประทานในแต่ละมื้อ ดังนี้
- เปลี่ยนการให้นม ทารกที่ดื่มนมชงอาจแพ้ส่วนผสมบางอย่างของนมผง จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยี่ห้อนม รวมทั้งสังเกตว่าเด็กแพ้ส่วนผสมใดในนมผง
- เติมน้ำผลไม้ในนม น้ำผลไม้อาจบรรเทาอาการท้องผูกได้หากบริโภคในปริมาณเล็กน้อย โดยควรผสมน้ำแอปเปิ้ล น้ำลูกแพร์ หรือน้ำลูกพรุนลงไปในนมชง หรือน้ำนมแม่วันละประมาณ 30-60 มิลลิลิตร
- เสริมใยอาหาร ด้วยอาหารที่มีเส้นใยมาก เช่น บร็อคโคลี่ ลูกพรุน ลูกแพร์ แอปเปิ้ล ลูกพีช ธัญพืช เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงทำให้ท้องผูก ลดข้าว กล้วย แครอทสุก ที่สำคัญควรเลี่ยงไม่ให้ลูกกินข้าวกับกล้วย เนื่องจากข้าวและกล้วยจะจับตัวเป็นก้อนได้ง่าย ทำให้ย่อยยาก
- ดื่มน้ำเยอะขึ้น เพราะน้ำเปล่า และนมจะช่วยให้ร่างกายของเด็กชุ่มชื้น และขับถ่ายอย่างสม่ำเสมอ
- ดื่มน้ำลูกพรุนหรือน้ำลูกแพร์เพื่อกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ โดยควรผสมน้ำเปล่าเพื่อเจือจางความเข้มข้นของน้ำผลไม้ไม่ให้หวานจนเกินไป
อ่านต่อ 12 เมนูอาหารเด็ก 6 เดือน กับสูตรอร่อยเพื่อลูกวัยเริ่มกิน
ลูกไม่ถ่ายหลายวัน สวนทวารทารกเลยดีไหม?
ก่อนอื่นเมื่อลูกไม่ถ่ายหลายวัน ให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตพฤติกรรมการรับประทานนมว่า ลูกได้รับนมในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกายหรือไม่
ทารกนมแม่
หากทารกนมแม่ถ่ายน้อยลง เพราะนมไม่พอ จะรู้ได้จากการชั่งน้ำหนัก เพราะเราไม่สามารถรู้ปริมาณน้ำนมที่ลูกได้รับแบบชัดเจนเหมือนดั่งทารกที่เลี้ยงด้วยนมชง ถ้าน้ำหนักเคยเพิ่มเฉลี่ย 5 วัน 150 กรัม ก็แสดงว่านมแม่ไม่พอ ลูกจึงไม่ถ่าย เพราะเด็กกินน้อยลง ก็ถ่ายน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกไม่ถ่ายเพราะท้องผูกเสมอไป ต้องดูองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย
ทารกนมชง
ถ้าลูกกินนมครั้งละ 100 cc. วันละ 7 ครั้ง นมที่ได้ถือว่าเพียงพอ หากลูกอายุต่ำกว่า 6 เดือนยังไม่ควรให้ดื่มน้ำ เพราะจะทำให้เขาอิ่มเร็วก่อนที่จะได้รับปริมาณน้ำนมที่เพียงพอ
ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่สังเกตพฤติกรรมลูกน้อยดังกล่าวแล้วพบว่าลูกไม่ได้ไม่ถ่าย เพราะรับปริมาณนมไม่เพียงพอ ยังคงกินได้ปกติ ทารกยังคงดูดนมได้ดี น้ำหนักขึ้นปกติ แต่ลูกไม่ถ่ายทุกวัน อันนี้ก็ต้องขอทำความเข้าใจว่าคนเราทุกคนไม่จำเป็นต้องถ่ายอุจจาระทุกวัน ถ้าเด็กถ่ายอุจจาระตามความถี่ปกติของวัยที่กล่าวมาข้างต้น และลักษณะอุจจาระไม่แข็ง ก็ไม่เรียกว่า ท้องผูก แต่หากลักษณะอุจจาระแข็งมีเลือดปน เด็กร้องทรมานทุกครั้งที่เบ่ง แสดงว่า ท้องผูก ต้องทำให้เด็กถ่ายอุจจาระออกมาให้ไว อย่าปล่อยไว้จนแข็งขึ้นไปอีก
ยาสวนทวาร กับทารก
ในเด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือนไม่แนะนำให้ใช้ยาสวนทวารที่ซื้อมาเอง ควรปรึกษาแพทย์ในการรักษา เพราะการสวนก้น ลูกน้อยจะทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุลำไส้ และกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักอาจเป็นแผลทำให้เกิดความเจ็บปวด ยิ่งส่งผลให้ลูกไม่ยอมเบ่ง เพิ่มพฤติกรรมกลัวการถ่ายอุจจาระ และยิ่งทำให้ท้องผูกมากยิ่งขี้น และส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กในระยะยาวได้
ยาถ่าย กับทารก
หากใช้บ่อยเกินไป จะส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกเป็นโรคลำไส้กลืนกันได้
สรุปได้ว่า หากทารกเกิดอาการท้องผูก ไม่ถ่ายหลายวัน ควรปรึกษาแพทย์ในการรักษา จะได้ทำการรักษาอาการท้องผูกให้ตรงจุด ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียงแก่ลูกน้อยที่อาจเกิดขึ้นได้หากเราแก้ปัญหาท้องผูกของลูกไม่ตรงกับต้นเหตุที่แท้จริง
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อาจารย์พิเศษภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย /
รศ.นพ. เสกสิต โอสถากุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาสงขลานครินทร์
หมัดเด็ด…เคล็ดลับ
วิธีการกระตุ้นการขับถ่ายของทารก
นอกจากการดูแลทารกเรื่องอาหารการกินที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอาการท้องผูกของลูกน้อยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถใช้เคล็ดลับในการช่วยกระตุ้นร่างกายของเจ้าตัวน้อยให้สามารถขับถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้นได้อีกด้วย ดังนี้
- ขยับบ่อย ๆ จะดีที่สุด
การเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยเร่งการย่อยอาหาร ส่งผลให้ร่างกายลำเลียงของเสียออกไปได้เร็ว โดยพ่อแม่อาจฝึกทารกที่ยังเดินไม่ได้ให้ถีบจักรยานกลางอากาศ หรือหากทารกยังคลานไม่ได้ อาจช่วยนวดกระตุ้นขา
- นวดท้องกระตุ้น สัมผัสรักจากแม่
วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นลำไส้ ช่วยให้ขับถ่ายได้ง่าย โดยเริ่มจากการนวดท้องส่วนล่างด้านซ้ายของลูก ซึ่งอยู่ใต้สะดือประมาณ 3 นิ้วมือ โดยใช้ปลายนิ้วกดลงไปเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอประมาณ 3 นาที และควรหมั่นนวดวันละหลายครั้งจนกว่าจะถ่ายได้ปกติ
- ว่านหางจระเข้ช่วยได้
หากลูกถ่ายลำบากจนมีเลือดออก หรือผิวหนังบริเวณทวารหนักฉีกขาด อาจช่วยบรรเทาด้วยการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ทาบริเวณดังกล่าวเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.pobpad.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
อุทาหรณ์..แม่เตือน ล้างขวดนม ผิดวิธี เสี่ยงทำลูกติดเชื้อในกระเพาะอาหารได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่