ผื่นแพ้นมวัว จากโรคแพ้นมวัว มีลักษณะอย่างไร ลูกเป็นโรคแพ้นมวัว อันตรายไหม
แม่จ๋ารู้ไว้ลูกเป็นผื่นแบบนี้เรียก ผื่นแพ้นมวัว
อาการผื่นแพ้นมวัวเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในทารกหรือเด็กเล็ก จากสถิติในเมืองไทยพบการแพ้นมวัวตั้งแต่แรกเกิดราว 3-5% หรือเทียบเป็นจำนวนประชากรอยู่ที่ 20,000-30,000 คนต่อปี โดยโรคแพ้นมวัวหรือโรคแพ้โปรตีนนมวัว (Cow milk protein allergy) เกิดขึ้นได้จากร่างกายมีปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในนมวัว ผ่านกลไกการแพ้ อาการจึงไม่ได้เป็นแค่เพียงผื่น แต่ยังแสดงอาการได้หลายระบบ หลายระดับความรุนแรง
อาการของโรคแพ้โปรตีนนมวัว
เมื่อได้รับนมวัวเข้าไปในร่างกายแล้ว อาจมีอาการตั้งแต่ 1-3 ชั่วโมง แต่อาจจะนานได้เป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ อาการแสดงของโรคจะพบมากกว่า 2 อาการ และมากกว่า 2 ระบบขึ้นไป ร้อยละ 50-70 จะมีอาการทางผิวหนังร้อยละ 50-60 มีอาการทางเดินอาหาร และร้อยละ 20-30 มีอาการทางระบบหายใจ โดยอาการสำคัญที่แม่ต้องสังเกตมีดังนี้
- อาการทางผิวหนัง ทารกหรือเด็กที่เป็นโรคแพ้โปรตีนนมวัว มักจะมีผื่นแพ้นมวัว ลักษณะเป็นผื่นลมพิษ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบวมแบบเฉียบพลัน ผื่นแดง คัน ลูบแล้วสากมือ ผื่นอาจเป็นได้ทั้งตัวหรือบางส่วนก็ได้ ผื่นที่เกิดขึ้นอาจเป็นลักษณะผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้
- ระบบทางเดินหายใจ ลูกจะมีน้ำมูกไหล หายใจเสียงวี๊ด มีอาการหอบได้ ไอแห้ง นอนกรน หรือคัดจมูก อาจมีเสมหะในลำคอได้
- ระบบทางเดินอาหาร แหวะนม สำรอกนม อาเจียน ริมฝีปากบวม ปวดท้อง ร้องโคลิกเป็นประจำ ถ่ายเหลว บางรายถ่ายมีมูกเลือด หรือมีอาการท้องผูกร่วมด้วย
อาการที่แสดงอาจเป็นได้มากกว่า 2 อาการ มากกว่า 2 ระบบขึ้นไป มีอาการเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ และต้องระวังเรื่องการถ่ายอุจจาระของทารกด้วย เมื่อลูกอายุ 7-8 เดือนขึ้นไป แต่ยังถ่ายวันละ 2-3 ครั้ง ถ่ายเหลว ไม่เคยเป็นก้อน หรืออุจจาระลอยน้ำ มักจะเกิดปัญหาเลี้ยงไม่โต น้ำหนักไม่ค่อยขึ้น หากมีอาการเช่นนี้ต้องตรวจอย่างละเอียดว่าเกี่ยวข้องกับการแพ้โปรตีนในนมวัวหรือไม่ นอกจากอาการแพ้เหล่านี้แล้ว เด็กอาจมีอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลันทั่วตัว (Anaphylaxis) หรือมีอาการช็อค ถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่มักเกิดขึ้นได้น้อย
สาเหตุที่ลูกมีอาการของโรคแพ้โปรตีนนมวัว
อาการของโรคแพ้โปรตีนนมวัว เกิดได้ทั้งจากการกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก และการให้ลูกดื่มนมแม่ แต่ตัวแม่นั้นกินนมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว หรืออาหารที่มีโปรตีนจากนมวัว ก็จะไปกระตุ้นให้เด็กเกิดผื่นแพ้นมวัวและอาการอื่น ๆ ได้
ทำไมลูกถึงเป็นโรคแพ้โปรตีนนมวัว
- กรรมพันธุ์ หากมีประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ เด็กจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กมากขึ้น เช่น แม่เป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้ลูกเป็นโรคภูมิแพ้ร้อยละ 30-50 แต่ถ้าพ่อเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกก็จะเสี่ยงราว ๆ ร้อยละ 30 หากพ่อแม่เป็นโรคภูมิแพ้ทั้งคู่ ลูกจะยิ่งเสี่ยงขึ้นไปอีกอยู่ที่ร้อยละ 60-70
- แม่ตั้งครรภ์บำรุงทารกในครรภ์ด้วยนมวัวมากกว่าปกติ ซึ่งโปรตีนในนมวัวที่แม่กินเข้าไปนั้นจะผ่านจากแม่ไปกระตุ้นให้ทารกเกิดการแพ้ แม่บางคนอาจปรับลดการกินนมวัวลง และกินนมถั่วเหลืองเพิ่มไปแทน ซึ่งส่งผลให้เด็กแพ้นมวัวและนมถั่วเหลืองไปด้วยกัน
- ไม่ใช่แค่การดื่มนมวัวเท่านั้น แม่ท้องที่ชอบกินอาหารที่ทำด้วยผลิตภัณฑ์จากนมวัว ก็ทำให้ลูกเสี่ยงได้ โดยเฉพาะอาหารฝรั่ง เช่น พิซซา ชีส สปาเก็ตตี้ หรือขนมจำพวก เค้ก คุ้กกี้ และไอศกรีม ก็ต้องระวัง
การตรวจร่างกายทารกเพื่อวินิจฉัยอาการแพ้นมวัว
นอกจากอาการที่แสดงออกทางร่างกายแล้ว แพทย์จะทำการทดสอบดูการตอบสนองของผู้ป่วยหลังงดและทานนมวัว (oral food challenge) โดยทารกที่กินนมแม่ให้แม่งดนมวัว ถ้าอาการดีขึ้นจึงทดสอบโดยทานนมวัวอีกครั้งในเวลา 4-8 สัปดาห์ต่อมา รวมถึงการทำการตรวจทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (skin prick test) หรือ การตรวจเลือดหาภูมิต้านทานต่อโปรตีนนมวัว (cow’s milk protein-specific IgE) ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม
การรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัว
ปกติแล้วเด็ก ๆ จะมีอาการดีขึ้นเมื่ออายุครบ 1 ปี แพทย์อาจทดสอบดูการตอบสนองของผู้ป่วยหลังงดและทานนมวัว (oral food challenge) ทุก 6 เดือน ประกอบกับการรักษาตามอาการ ส่วนแม่ก็ยังให้นมแม่ต่อไปได้ แต่ต้องงดนมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว และอาหารที่มีโปรตีนจากนมวัว โดยเสริมด้วยแคลเซียมจากอาหารหรือเสริมยาเม็ดแคลเซียมให้เพียงพอ (800 มก./วัน) ส่วนทารกที่ต้องเลี้ยงด้วยนมผสม ต้องเลือกนมที่ไม่มีโปรตีนนมวัวทดแทนนมผสม โดยทั่วไปอาการของเด็กจะดีขึ้นจนหายขาดถึงร้อยละ 81-95 เมื่ออายุ 5 ปี แต่ถ้ายังพบอาการแพ้ อาจจำเป็นต้องงดนมวัวหรือไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัว
การป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคแพ้โปรตีนนมวัว เริ่มได้ตั้งแต่ในครรภ์ แม่ท้องไม่จำเป็นต้องโด๊ปนมวัว นมถั่วเหลือง ให้มากเกินไป เพราะแคลเซียมสามารถกินได้จากผักและผลไม้เช่นกัน และเมื่อคลอดมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินนมให้มากขึ้น เพียงรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ น้ำนมแม่ก็มีสารอาหารครบถ้วนสำหรับทารกแล้ว ที่สำคัญ ต้องหมั่นตรวจดูสุขภาพทารกในทุกวัน เพื่อให้มั่นใจว่า ลูกมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เกิดผื่นภูมิแพ้ใด ๆ
อ้างอิงข้อมูล : phyathai.com, thaipediatrics.org และ newtv.co.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
หมอเผยภาพ! ปอดเด็กที่ติด เชื้อไวรัส RSV พร้อมแนะวิธีป้องกันลูกจากโรค RSV