อุทาหรณ์ ลูกติดเชื้อโรคครูป แม้ไปโรงพยาบาลแค่ไม่นาน เชื้อโรคร้ายก็มากล้ำกรายสุขภาพลูกเราได้
ลูกติดเชื้อโรคครูป
ไม่มีใครอยากเห็นลูกป่วย ไม่มีใครอยากพาลูกไปโรงพยาบาล สถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยเชื้อโรคมากมาย แต่เมื่อลูกเจ็บป่วยต้องพบหมอ คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องพาลูกไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษาอย่างละเอียด เช่นเดียวกับครอบครัวของน้องริวคิน แต่ใครเล่าจะรู้ว่า การไปโรงพยาบาลเพื่อหาหมอรักษาโรคหนึ่ง ลูกกลับได้อีกโรคหนึ่งกลับมา
เพจเจ้าตัวเล็ก เล่าประสบการณ์แอดมิทครั้งแรกของริวคินผ่านโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า โรงพยาบาลคือที่ที่อันตรายสำหรับเด็กเล็กจริง ๆ โดยเรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่หวังให้เป็นอุทาหรณ์สำหรับแม่ ๆ ที่จะต้องพาลูกไปโรงพยาบาล เริ่มมาจากที่ริวคินมีตุ่มที่เปลือกตา เป็นมานานหลายวันไม่หายสักที คุณหมอที่คลินิกแถวบ้านเลยแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลจะได้รู้ว่าแพ้อะไรหรือเปล่า
“ด้วยความเป็นห่วงลูก หม่ามี้ก็พาไปค่ะ ระหว่างรอคิวมันก็จะมีโซฟายาว ๆ ให้เรานั่งรอ หม่ามี้ก็ไปนั่งรอ โดยให้พี่เลี้ยงริวคินเค้าอุ้มริวคินไว้บนตัก แต่ด้วยความสะเพร่าของเราเอง นั่งไปสักพักริวคินก็คลานลงมานั่งที่โซฟา เอามือจับถู ๆ ที่โซฟา พอหม่ามี้เห็นก็เอาผ้าเปียกเช็ด ๆ มือเค้า แล้วอุ้มกลับมานั่งที่เดิม ใจเราก็คิดสั้น ๆ ว่าคงไม่เป็นไร เพราะจับแปปเดียวเอง จากนั้นเราก็เข้าพบคุณหมอปรึกษาเสร็จเรียบร้อยปรากฏว่าแมลงกัด กลับบ้านได้ค่ะ”
แต่เรื่องไม่จบลงแค่นั้น เจ้าตัวน้อยกลับมีอาการป่วยเริ่มขึ้นมา โดยคุณแม่เล่าต่อไปว่า วันต่อมาริวคินเริ่มมีน้ำมูก ตอนกลางคืนก็ตื่นมาร้องไห้บ่อย ๆ กลางวันก็ดูหงุดหงิด มีไข้เล็กน้อย หม่ามี้ก็รักษาตามอาการไปค่ะ แต่พอมาวันที่ 2 ริวคินเริ่มหายใจมีเสียงดังมาก ๆ เหมือนมีเสมหะในคอตลอดเวลา ไม่กลืนน้ำลาย ไม่กินข้าว กินนมน้อยมาก มีไข้ 37.8-37.9 นอนไม่ได้ นอนได้แป๊บเดียวก็ตื่นเหมือนหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ แต่ยังไม่ไอ หม่ามี้ก็ให้กินยาลดไข้ กะว่าถ้าคืนนี้ยังไม่ดีขึ้นพรุ่งนี้จะพาไปโรงพยาบาล
หายใจแล้วหน้าอกยุบ สัญญาณอันตรายโรคครูป
หลังจากที่ผลัดกันอุ้มกับป่ะป๊ามาเรื่อย ๆ จนถึงเวลา ตี 5 ริวคินก็เริ่มร้องไห้ไม่มีเสียง ทำท่างับอากาศเหมือนหายใจไม่สะดวก หม่ามี้ตกใจมาก!! รีบเปิดเสื้อดูหน้าอกของลูก ปรากฏว่า เวลาหายใจเข้าหน้าอกริวคินยุบลงไปเลย!! หม่ามี้ตกใจที่สุดในชีวิต รีบให้ป่ะป๊าพาลูกไปโรงพยาบาล พอถึงโรงพยาบาล คุณหมอดูอาการแล้วบอกว่าต้องพ่นยาทันที เพราะจะได้ช่วยให้ริวคินหายใจได้สะดวกมากขึ้น
เวลาบีบหัวใจของคนเป็นแม่ก็มาถึง.. คุณพยาบาลเอาผ้ามาพันรอบตัวริวคินเพื่อมัดเค้าไว้ไม่ให้เค้าดิ้น เพราะริวคินไม่เคยพ่นยาหรือมาโรงพยาบาลเลย เวลานั้นริวคินร้องไห้เยอะมาก ๆ ยิ่งร้องเค้าก็ยิ่งเหนื่อย หน้าอกยิ่งยุบลง แต่เริ่มร้องไห้แบบมีเสียงออกมาบ้างแล้ว คงเป็นเพราะยาที่เพิ่งพ่นไป พ่นเสร็จคุณหมอแจ้งว่าต้องแอดมิท และบอกว่าลูกคุณแม่เป็น โรคครูป
“ตอนนั้นยังไม่ได้ถามรายละเอียดอะไรมากมาย ก็ต้องพาริวคินไปเจาะเลือดและใส่สายน้ำเกลือ โอ้ยย!!! ใจแม่จะขาดแล้ว ต้องมัดลูกไว้ให้คุณพยาบาลเจาะเลือดใส่น้ำเกลือ วินาทีนั้นเราได้แต่มองหน้าลูกที่ร้องไห้จนเหนื่อย เค้าพยายามดิ้นสุดชีวิต น้ำตาไหลอาบแก้ม สายตามองมาที่หม่ามี้กับป่ะป๊าที่ยืนอยู่ข้าง ๆ เค้า ใจคนเป็นพ่อเป็นแม่จะขาดซะให้ได้เห็นลูกเจ็บอยู่ตรงหน้าแต่ทำอะไรไม่ได้เลย”
เสร็จจากเจาะเลือดก็ต้องป้อนยาแก้ไข้ต่อเพราะริวคินมีไข้ 38.2 องศา จากนั้นก็พาไปเอ็กซเรย์ดูปอดกับหลอดลมว่าโอเคไหม เชื้อลงปอดหรือเปล่า สรุปปอดโอเคไม่มีปัญหาแต่หลอดลมตีบ สรุปริวคินต้องนอนแอดมิทที่โรงพยาบาล 3 คืน โดยต้องให้ยาฆ่าเชื้อและพ่นยาทุก ๆ 6 ชั่วโมง หลัง ๆ ต้องมีดูดน้ำมูกด้วย
โรคครูปคือโรคอะไร
คุณหมอแจ้งว่าโรคครูปคือโรคที่มีการติดเชื้อไวรัสที่หลอดลมและกล่องเสียง โดยมีอาการคือ
- หายใจลำบาก
- หายใจเสียงดัง
- ไอมีเสียงก้องเหมือนหมาเห่า
เวลาริวคินหายใจแล้วได้ยินเสียงครืดคราดเกิดมาจากการอักเสบของหลอดลมทำให้หลอดลมตีบ ไม่ใช่เสียงเสมหะ โดยโรคนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนถึง 5 ปี เกิดมาจากที่เด็กอาจจะสูดเอาละอองที่มีเชื้อไวรัสเข้าไปหรือไปสัมผัสกับของเล่นหรือพื้นผิวที่ผู้ป่วยโรคนี้เคยสัมผัส ซึ่งส่วนมากจะติดมาจากโรงพยาบาลกันค่ะ!!
ขณะนี้ริวคินหายดีแล้ว กลับมาร่าเริงสดใสเหมือนเดิม โดยคุณแม่บอกว่า อาการที่น้องเป็นอยู่ในขั้นปานกลาง สำหรับวิธีการรักษาคือพ่นยาและให้ยาฆ่าเชื้อทุก ๆ 6 ชั่วโมง กินยาครั้ง 4 หลอด เช้ากลางวันเย็น และต้องให้ริวคินอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ พยายามอย่าทำให้เค้าร้องไห้เพราะโรคนี้ยิ่งร้องไห้อาการจะยิ่งแย่ลง แต่ทุกครั้งที่ต้องพ่นยาริวคินก็จะร้องไห้หนักทุกที
สำหรับการติดเชื้อไวรัสโรคครูป คุณหมอบอกคุณแม่ด้วยว่า นอกจากการสูดอากาศเอาละอองไวรัสเข้าไป ลูกยังติดเชื้อได้จากการจับของเล่น หรือพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแล้วเด็กเอามือเข้าปาก เด็กจึงมักจะติดเชื้อมาจากบ่อบอล โรงเรียน หรือโรงพยาบาล
“เหตุการณ์นี้สอนให้แม่รู้ว่า อย่าละเลยกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปโรงพยาบาลไม่ควรให้ลูกไปจับอะไรเลยสักอย่าง เพราะที่โรงพยาบาลเชื้อโรคเยอะมาก ๆ อย่าคิดว่าแค่นี้เอง แป๊ปเดียวเองไม่เป็นอะไรหรอก ไม่จริงค่ะ!! ริวคินก็จับแค่แป๊ปเดียว หม่ามี้ก็เช็ดมือให้แล้ว สุดท้ายก็ติดเชื้อไวรัสมา ไม่คุ้มที่สุดเลยค่ะ คุณหมอแนะนำว่า ถ้าจะมาโรงพยาบาลควรให้ลูกนั่งรถเข็นเลยค่ะให้อยู่แต่ในรถเข็น ใส่หน้ากากและล้างมือบ่อย ๆ จะปลอดภัยที่สุด ใครจะมองว่าเราเป็นแม่ที่เยอะ!! ช่างเค้าค่ะอย่าไปสนใจ!! เพราะเวลาลูกเจ็บป่วยมันไม่คุ้มเลยจริง ๆ การที่ต้องมาเห็นลูกป่วย มันเป็นอะไรที่บีบหัวใจมาก ๆ เวลาที่ลูก ๆ แข็งแรง สดใสร่าเริง คือสิ่งที่วิเศษที่สุดสำหรับคนเป็นแม่แล้วค่ะ” คุณแม่ยังทิ้งท้ายกับทีมแม่ ABK ด้วยว่า ตอนนี้ถ้าไปข้างนอกก็จะจับน้องนั่งรถเข็นอย่างเดียวเลยค่ะ ไม่ให้จับอะไรเลย ใส่หน้ากากแล้วก็ล้างมือเค้าบ่อย ๆ ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจเจ้าตัวเล็ก ที่มาเล่าประสบการณ์พร้อมให้ความรู้เรื่องโรคครูปด้วยนะคะ สำหรับโรคครูปนั้นเป็นโรคที่ติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza), ไวรัส อาร์ เอส วี (RSV) และ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza) แล้วพ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคครูป เรามาทำความรู้จักโรคครูป (Croup) เพิ่มเติมกันนะคะ
วิธีสังเกตโรคครูป
- มีไข้ ไอ น้ำมูก อาการเหล่านี้จะนำมาก่อนประมาณ 2 วัน
- หายใจเสียงดัง โดยเฉพาะช่วงหายใจเข้า
- ไอเสียงก้อง เสียงแหบ
ส่วนสัญญาณอันตราย หากลูกมีอาการหอบเหนื่อย อกบุ๋ม คอบริเวณไหปลาร้ามีลักษณะบุ๋มเวลาหายใจเข้า ให้รีบมาพบแพทย์ โดยโรคครูปสามารถเป็นซ้ำได้อีก แพทย์จึงมักจะนัดหมายเพื่อติดตามอาการหลังกลับบ้าน ในด้านการรักษา แพทย์ทำการประเมินสัญญาณชีพ ระดับออกซิเจน ลักษณะการหายใจของเด็กว่ามีอาการหอบเหนื่อยหรือไม่ และประเมินความรุนแรงของโรค จากลักษณะอาการไอ ลักษณะการหายใจ เสียงหายใจ เสียงลมเข้าปอด และระดับออกซิเจน หากเด็กมีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์โดยวิธีรับประทาน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือทางหลอดเลือดดำ แต่ถ้าเด็กมีอาการรุนแรงปานกลาง แพทย์จะให้พ่นยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) เพิ่มเติมจากยาสเตียรอยด์ และประเมินอาการที่โรงพยาบาลในช่วง 2-4 ชั่วโมง สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรงหรือมีโอกาสเกิดภาวะหายใจล้มเหลว จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แม้ว่าโรคครูปมักจะหายได้เองภายใน 3-7 วัน แต่อาจมีความเสี่ยงที่ทางเดินหายใจจะบวมกระทบต่อการหายใจของผู้ป่วยได้
เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสและโรคต่าง ๆ เด็กควรใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ พ่อแม่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายให้ครบ ทั้งยังต้องหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแออัด และต้องล้างมือเป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาสัมผัสสิ่งของ ของเล่น หรือเครื่องเล่นสาธารณะ ส่วนทารกหรือเด็กเล็กควรกินนมแม่เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคครูปส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรุนแรงจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าลูกเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา รีบมาพบแพทย์จะดีที่สุด
อ้างอิงข้อมูล : เพจเจ้าตัวเล็ก และ phyathai.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?