อันตรายจากแป้งฝุ่น แป้งเด็ก เผยภัยเงียบจากแป้งฝุ่น เมื่อ Johnson&Johnson เลิกผลิตแป้งจากแร่ทัลก์ จบปัญหาฟ้องร้องแป้งเสี่ยงมะเร็ง ยกเลิกขายทั่วโลกปีหน้า!
อันตรายจากแป้งฝุ่น แป้งเด็ก จอห์นสันประกาศเลิกขาย!!
เมื่อบริษัทผลิตแป้งเด็กชื่อดัง ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเด็กมาอย่างยาวนาน อย่าง จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson &Johnson)ประกาศเลิกขายแป้งแล้วทั่วโลก ในปีหน้า!!
จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพและของใช้ในชีวิตประจำวัน ได้ประกาศว่าจะเลิกขายแป้งเด็กที่ทำจากแร่ทัลก์ทั่วโลกในปี 2023 หลังจากมีคดีความรวมถึงแรงกดดันจากผู้ถือหุ้น ทำให้บริษัทเปลี่ยนมาใช้แป้งข้าวโพดแทนแร่ดังกล่าว
สาเหตุสำคัญที่ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ยกเลิกแป้งเด็กที่ทำจากแร่ทัลก์ เนื่องจากมีคดีความเกี่ยวกับผลของการใช้แป้งเด็กที่มีส่วนผสมจากแร่ดังกล่าว แม้ว่าบริษัทจะอ้างวิจัยอิสระว่าแป้งเด็กของบริษัทนั้นมีความปลอดภัยก็ตาม
คดีความที่ยาวเป็นหางว่าวมากถึง 38,000 คดีนี้ส่งผลทำให้ยอดขายของแป้งเด็กนั้นลดลงจนต้องระงับการขายแป้งเด็กที่ผลิตจากแร่ทัลก์ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา โดยบริษัทให้เหตุผลว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนไป และมีการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับแป้งเด็กตัวที่ผลิตจากแร่ทัลก์ดังกล่าว
เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้บริษัทแพ้คดีและต้องจ่ายค่าชดใช้ เช่น ในปี 2018 ทาง Johnson & Johnson ต้องจ่ายค่าเสียหายไปมากถึง 21.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับ Joanne Anderson หญิงวัย 68 ปี ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งซึ่งเชื่อมโยงกับการสัมผัสแร่ทัลก์โดยตรง
นอกจากนี้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทยังโดนแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นบริษัทให้เลิกผลิตแป้งเด็กที่ทำจากแร่ทัลก์อีกด้วย
หลังจากนี้บริษัทกล่าวว่าจะขายแต่แป้งเด็กที่ผลิตจากแป้งข้าวโพดเป็นหลักทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันแป้งเด็กรูปแบบใหม่นั้นมีการจำหน่ายไปแล้วในหลายประเทศ นอกจากนี้ยังยืนยันว่าแป้งเด็กของบริษัทมีความปลอดภัยต่อการใช้งาน
ที่มา : www.bbc.com/positioningmag.com
แป้งทัลก์ แป้งอันตรายจริงหรือ??
แป้งทัลคัม หรือแป้งทัลก์ อันตรายจากแป้งฝุ่น ไม่ได้มีแต่ในแป้งเด็ก!!
แป้งทัลก์ หรือแป้งทัลคัม ทำมาจากทัลก์ เป็นแร่ธาตุที่มีธาตุองค์ประกอบหลักคือ แมกนีเซียม ซิลิคอน และออกซิเจน มีความสามารถในการดูดซับความชื้น และลดแรงเสียดสีได้ดี เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาผิวแห้ง และช่วยป้องกันผดผื่นคันได้ จึงนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมกันอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น แป้งฝุ่นโรยตัวทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หรือแป้งทาหน้า และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย
สารก่อมะเร็งในแร่ทัลก์
แอสเบสตอส (Asbestos) สารก่อมะเร็งที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และ U.S.Environmental Protection Agency จัดให้เป็นสารก่อมะเร็งที่ไม่สามารถจัดจำพวกได้
แร่ทัลก์เกิดจากการนำหินทัลก์ มาโม่ให้ละเอียด อบให้แห้งและฆ่าเชื้อ แม้จะมีการแยกสิ่งแปลกปลอมออก แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้บริสุทธิ์ได้ จึงยังมีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออยู่บางอย่าง ที่อาจจะมีคุณสมบัติคล้ายแอสเบสตอส (Asbestos) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และ U.S. Environmental Protection Agency จัดให้เป็น Unclassifiable Carcinogen (สารก่อมะเร็งที่ไม่สามารถจัดจำพวกได้)
ทัลก์จัดเป็นสารอนินทรีย์ จึงไม่ถูกย่อยสลายตามธรรมชาติ ดังนั้น ถ้าโรยแป้งฝุ่นในปริมาณมาก ผงแป้งจะลอยฟุ้งกระจายในอากาศ หากสูดดมเข้าไปเป็นเวลานาน จะเกิดการสะสมเป็นก้อนในปอดทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการโรยแป้งไปที่ตัวโดยตรง แต่ควรเทใส่มือในปริมาณน้อยๆ และลูบไล้ที่มือก่อนทาบางๆ บนตัว ส่วนสตรีไม่ควรโรยแป้งบริเวณจุดซ่อนเร้น
ซึ่งในปี ค.ศ. 1970 คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (The U.S. Food and Drug Administration) ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีแป้งทัลก์ผสมอยู่ ไม่พบการปนเปื้อนของแอสเบสตอส (Asbestos)
การตรวจสอบแป้งทัลก์ในประเทศไทย
ในส่วนของประเทศไทย อย.ขอชี้แจงว่า ทัลก์หรือทัลคัม (Talc หรือ Talcum powder) เป็นส่วนผสมหลักในผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นโรยตัว ทัลก์พบได้ในแร่ธาตุตามธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 2 เกรด ได้แก่ เกรดที่ใช้ในอุตสาหกรรม และเกรดที่ใช้ในยา อาหารและเครื่องสำอาง ต้องใช้ทัลก์ที่มีความบริสุทธิ์สูง เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด และต้องไม่มีการปนเปื้อนของแร่ใยหินหรือแอสเบสตอส (Asbestos) ซึ่งเป็นสารที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
อย.เผยว่า สำหรับกรณีการปนเปื้อนของแร่ใยหินหรือแอสเบสตอส (Asbestos)ในทัลก์ อย.มีการติดตามเฝ้าระวังมาโดยตลอด โดยในปี พ.ศ.2552-2553 ได้ส่งตรวจวิเคราะห์หาแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นโรยตัวที่มีส่วนผสมของทัลก์จำนวน 40 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหินแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ถึง 2558 อย.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นโรยตัวที่มีส่วนผสมของทัลก์ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ โดยส่งตัวอย่างแป้งฝุ่นโรยตัว จำนวน 73 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบแร่ใยหินปนเปื้อนแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่น่าวิตกกังวลกับข่าวดังกล่าว
ข้อแนะนำให้การใช้ แป้งเด็ก
- ควรอ่านฉลากหรือคำแนะนำในผลิตภัณฑ์ให้ละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูกและปาก
- ไม่ควรสูดดมแป้ง
- สตรีไม่ควรโรยแป้งบริเวณอวัยวะเพศ
ที่มา : อยู่กับยา
อ่านต่อ>> ภาวะผงทัลคัมเป็นพิษ และวิธีการใช้แป้งฝุ่นให้ปลอดภัยต่อลูกน้อย คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่