การดูแลและกระตุ้นให้ลูกเกิดความทรงจำต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มจากข้อมูลต่างๆ ที่เข้าสู่สมองของลูกผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 นั่นคือ รับภาพผ่านดวงตา รับเสียงผ่านหู รับกลิ่นผ่านจมูก รับรสผ่านลิ้น รับความรู้สึกต่างๆ ผ่านผิวหนัง และมีระบบรับสัมผัสภายในร่างกายและความรู้สึกของลูกเอง
ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปเก็บตามส่วนต่างๆ ในสมอง โดยลำดับขั้นการเก็บความทรงจำ จะเริ่มบริเวณสมองส่วนกลาง (hippocampus) ซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายพนักงานจัดระบบสายโทรศัพท์ในองค์กรคือ ช่วงแรกๆ จะส่งข้อมูลไปเก็บไว้ที่ความทรงจำระยะสั้น เช่น เมื่อลูกมองเห็นภาพบางอย่างที่น่าสนใจ (ขอย้ำว่าต้องน่าสนใจ ไม่เช่นนั้น สมองจะไม่ไปจัดเก็บไว้เลย) ก็จะเก็บข้อมูลได้สัก 20 วินาที ซึ่งพัฒนาการเรื่องความจำของลูก เมื่อคลอดออกมา จะสัมพันธ์กันกับพัฒนาด้านร่างกายด้วย ดังนี้
มหัศจรรย์พัฒนาการด้าน ความจำ ของทารกตั้งแต่แรกเกิด – 1 ขวบ
แรกเกิด : ลูกอาจจะยังมองไม่เห็น แต่สิ่งที่ลูกจำได้ คือการจดจำเสียงของคุณแม่ และคุณพ่อได้เพราะเคยได้ยินตั้งแต่อยู่ในท้อง
1 เดือน : สามารถจำหน้าคนที่คุ้นเคยได้
2 เดือน : จากความจำที่สะสมมาตลอด 2 เดือน ลูกจะรู้ว่าถ้าทำพฤติกรรมแบบนี้จะได้รับการตอบสนองแบบไหน เช่น ถ้าส่งเสียงร้องไห้ คุณแม่ก็จะมาหา และที่พิเศษคือ สามารถจำเหตุการณ์สำคัญบางอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ได้
5 – 6 เดือน : เริ่มที่จะจำของเล่นชิ้นโปรดได้ และจะพยายามค้นหาเมื่อมองไม่เห็น
7 – 8 เดือน : ตอนนี้ลูกจะเริ่มรู้ว่า ถ้าคุณพ่อหรือคุณแม่ให้ตัวเองนั่งบนเก้าอี้สูง หมายถึงเวลาทานข้าว ถ้าคุณสวมชุดนอนให้ตัวเอง หมายถึงเวลาเข้านอน และในช่วงความจำของลูกในวัยนี้หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงบางอย่าง สิ่งเหล่านั้นจะติดอยู่ในใจของลูกเป็นอาทิตย์เลยทีเดียว
9 เดือน : ให้คุณพ่อคุณแม่ลองแสดงวิธีการเล่นของเล่นชิ้นใหม่ให้ดู หลังจากนั้นสองสามวันคุณอาจจะเห็นลูกกำลังแสดงวิธีเดียวกันกับคุณ
1 ขวบ : เมื่อครบ 12 เดือน ลูกจะเริ่มมีความทรงจำเกี่ยวกับภาษา ดังนั้นลูกจึงมีปฏิกิริยาตอบโต้กับคำง่ายๆ ได้ อย่าง ใช่ หรือไม่ใช่
*หมายเหตุ : พัฒนาด้าน ความจำ เป็นพัฒนาการส่วนใหญ่ที่เด็กๆ ซึ่งเกิดมาครบ 32 และมีพัฒนาด้านร่างกายเป็นไปปกติ ซึ่งพัฒนาการต่างๆ ของเด็กแต่ละคนอาจช้าเร็วไม่เหมือนกัน แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นความผิดปกติเรื่องพัฒนาการของลูกไม่ว่าจะด้านไหน ควรรีบพาลูกน้อยไปหาคุณหมอโดยด่วนนะคะ
อ่านต่อ “เทคนิคพัฒนาความจำและแนวทางในการบำรุงรักษา
ระบบประสาทของลูกน้อย” หน้า 3