ลูกท้องเสียหลายวัน ไม่ใช่เรื่องปกติ อย่าให้ความเชื่อเรื่องเด็กยืดตัวแล้วจะถ่ายท้อง มาทำให้ลูกเสี่ยงอันตรายจากการสูญเสียน้ำในร่างกาย และโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้
ลูกท้องเสียหลายวัน อย่าวางใจความเชื่อ”เด็กยืดตัว”มีจริงหรือ??
พ่อแม่ที่กำลังประสบกับปัญหาลูกน้อยท้องเสียเรื้อรัง ลูกท้องเสียหลายวัน ติดต่อกัน แต่ก็ยังคงเห็นลูกไม่ซึม ไม่งอง แต่อาการท้องเสียก็ไม่ดีขึ้นเสียทีจนเริ่มกังวลใจ ปู่ย่าตายายที่บ้านก็ให้คำแนะนำต่อความเชื่อโบราณที่ว่า “เด็กยืดตัว” เลยถ่ายท้อง ไม่ต้องคิดมาก แล้วมันเป็นเรื่องจริงหรือ พ่อแม่ไม่ต้องกังวล รอเด็กหายได้เองจริงหรือไม่

อันตราย!! ลูกท้องเสียหลายวัน ควรดูแลใกล้ชิด..เด็กยืดตัว ไม่มีจริง
ในเด็กทารกนั้น หากมีอาการท้องเสีย โดยลักษณะถ่ายเป็นน้ำ แต่ยังเป็นสีเหลืองไม่มีกลิ่นเหม็นคาว และกินเฉพาะนมแม่ อาจเป็นเพราะได้รับนมส่วนหน้ามากเกินไป ให้คุณแม่บีบน้ำนมส่วนหน้าทิ้งไปสักช่วงนึงก่อน เพื่อให้ลูกได้กินน้ำนมส่วนหลังให้มากขึ้น
หากพบว่าลูกท้องเสีย ร่วมกับอาการเหล่านี้ อย่าเพิ่งเชื่อกับคำกล่าวโบราณเรื่อง “เด็กยืดตัว” รีบพาไปพบคุณหมอโดยด่วน
- ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือ เป็นมูกเลือด
- ไข้สูง
- มีอาการชัก
- อาเจียนบ่อย
- ท้องอืด
- หายใจหอบลึก ๆ
- ไม่ยอมดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทุกชนิด ไม่ยอมกินข้าว หรือไม่ยอมดื่มนม
- ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่แล้วแต่ยังดูเพลีย
- มีอาการซึมมากขึ้น
- ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำบ่อยมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน
โรคท้องเสียในเด็ก น่ากังวลใจแค่ไหน ??
โรคท้องเสียในเด็ก เป็นภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลว จำนวน 3 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน โดยสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัสและพยาธิ จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป หากถ่ายติดต่อกันหลายครั้งอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และเกลือแร่ในช่วงแรก และภาวะขาดสารอาหารในช่วงหลัง
เชื้อโรคที่ทำให้เด็กท้องเสียมักจะพบว่าเป็นเชื้อไวรัสมากกว่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไวรัสที่พบบ่อยในประเภทนี้คือ : โรต้าไวรัส,โนโรไวรัส,อะดีโนไวรัส

ทำไมจึงกล่าวว่า เด็กยืดตัว ไม่มีจริง??
ผศ.พญ.นิยะดา วิทยาศัย กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า คำว่าท้องเสีย เพราะ “ยืดตัว” ไม่ใช่ความจริง ธรรมชาติของเด็กในขวบปีแรกจะมีพัฒนาการของร่างกาย ได้แก่ นอนหงายเป็นนอนคว่ำ คืบ นั่ง ยืน เดิน เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาการต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะท้องเสียใด ๆ เพราะการท้องเสียมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อโรค ซึ่งอาจติดมาจากอาหารเมื่อรับประทาน หรือการกินนม น้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือแม้กระทั่งมือของเด็กเองที่ชอบนำสิ่งของเข้าปากตัวเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในวัยนี้เป็นวัยกำลังซน และมีพัฒนาการทางร่างกายที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก สามารถคลาน หยิบจับสิ่งของได้ดีขึ้น ทำให้โอกาสในการได้รับเชื้อโรคก็มีมากขึ้นกว่าตอนเป็นทารก
ทำให้คนโบราณสังเกตได้ว่าเด็กในวัยที่กำลังโตนี้ มักพบอาการท้องเสียได้บ่อย ๆ จึงเกิดความเชื่อเรื่อง “เด็กยืดตัว” ขึ้น
ภาวะท้องเสีย ที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อดูอาการ และหาสาเหตุที่เกิดขึ้นให้เจอ และปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลลูกเสียใหม่ เช่น อาจเกิดจากกรณีที่ล้างขวดนมไม่สะอาด หรือมีภาวะแพ้โปรตีนหรือสิ่งแปลกปลอมผ่านนมแม่ คุณแม่ก็อาจจะต้องงดอาหารที่อาจส่งผลให้ลูกแพ้ แต่หากกินนมผง อาจมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนชนิดของนมผง ซึ่งหากคุณแม่ไม่มั่นใจ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์
สัญญาณของภาวะขาดน้ำในเด็ก
ภาวะขาดน้ำ เป็นอีกหนึ่งอาการอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กที่มีอาการท้องเสีย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่เขาไม่สามารถบอกให้เราทราบได้ถึงอาการไม่สบายตัวของตัวเอง ดังนั้นหากลูกน้อยมีไข้ ท้องเสีย อาเจียน หรือมีเหงื่อออกมาก พ่อแม่ควรสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าลูกอาจเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ ที่เป็นภาวะที่เป็นอันตราย ดังนี้
- ปากแห้ง
- ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ อาจสังเกตได้ว่าเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกไม่เกิน 6 ชิ้นต่อวัน
- มีน้ำตาออกมาน้อยหรือไม่มีน้ำตาเลยขณะร้องไห้
- ผิวเย็นและแห้ง
- ฉุนเฉียวง่าย
- ง่วงซึม หรือเวียนศีรษะ
- ตาโหลหรือตาลึก
- ทารกหรือเด็กวัยหัดเดินอาจมีกระหม่อมบุ๋ม
- เล่นน้อยกว่าปกติ
- เด็กที่ขาดน้ำจากอาการท้องเสียอาจมีอุจจาระเหลว
- เด็กที่ขาดน้ำจากการอาเจียนหรือดื่มน้ำน้อยอาจถ่ายอุจจาระน้อยลง

ในกรณีที่มีอาการรุนแรง เด็กอาจจะมีอาการหงุดหงิดมาก ตาโหล รู้สึกง่วงซึมมาก มือเท้าเย็นและเปลี่ยนสีไปจากปกติ ผิวหนังเหี่ยวย่น และปัสสาวะเพียงวันละ 1-2 ครั้งเท่านั้น หากลูกน้อยมีอาการดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
อาการท้องเสียฉับพลันมักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากมีอาการท้องเสียนานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ถือว่าเป็นภาวะอุจจาระร่วงเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และไม่ควรซื้อยาหยุดถ่ายมารับประทาน เพราะการท้องเสีย คือการขับเอาเชื้อโรคออกจากร่างกาย หากมีถ่ายบ่อย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อลดการสูญเสียน้ำ
นอกจากนั้นแล้ว การได้รับวัคซีน เพื่อป้องกันสาเหตุของการเกิดอาการท้องเสีย หรือลำไส้อักเสบ ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะท้องร่วงรุนแรงและอาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้อย่าง ไวรัสโรต้า ก็เป็นสิ่งที่สำคัญและควรป้องกัน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปรับวัคซีนโรต้าให้ครบและตรงตามกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในขณะนี้ วัคซีนไวรัสโรต้าได้ถูกบรรจุให้เป็นวัคซีนสามัญรับฟรีได้ตามสถานอนามัยทุกแห่ง และการหยอดครั้งแรกไม่ควรเกินอายุ 2 เดือน เพื่อให้มีประสิทธิ์ภาพมากที่สุด
การป้องกันโรคท้องเสียในเด็ก
- ส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้ลูกมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
- รับประทานทานอาหารที่ปรุงสุก และสะอาดไม่มีแมลงวันตอม
- หากจะเก็บอาหารควรเก็บไว้ในตู้เย็น และต้องอุ่นให้ร้อนก่อนให้เด็กรับประทานทุกครั้ง
- ผักสดหรือผลไม้ ควรล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนให้เด็กรับประทาน
- กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
- ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
- ผู้ดูแลเด็กควรล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหารและหลังจากการใช้ห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
- สอนเด็กให้รู้จักล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ
- การให้วัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคท้องเสียจากเชื้อโรต้า ซึ่งสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
ทารกถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย ใช่อาการท้องเสียหรือไม่
ในบางครั้งการที่จะดูว่าลูกท้องเสียหรือไม่ อาจเป็นเรื่องที่พ่อแม่มือใหม่ตัดสินได้ลำบาก โดยเฉพาะเด็กนมแม่ จำนวนครั้งของการขับถ่ายไม่สามารถบ่งบอกได้แน่ชัดว่าลูกเกิดอาการท้องเสีย เพราะเด็กนมแม่นั้นมักจะถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว ถ่ายทันทีหลังกินนมเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตที่ลักษณะของอุจจาระประกอบด้วย เช่น ถ้าอุจจาระที่ลูกถ่ายมีกากออกมาด้วยในทุกครั้ง และลูกยังร่าเริงดี เล่นได้ กินนมได้ปกติ น้ำหนักขึ้นดี แม้จะถ่าย 10 ครั้งต่อวันก็ยังถือว่าปกติ แต่หากลักษณะอุจจาระเหลว เป็นน้ำ ไม่มีกากปนเลย หรือมีมูกเลือดปน ลักษณะแบบนี้เป็นอาการบ่งบอกว่าลูกท้องเสีย

เด็กนมแม่
สาเหตุที่เด็กกินนมแม่ จะมีอาการถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย แต่ไม่มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย ยังไม่นับว่าเป็นอาการท้องเสียในเด็ก แต่อาจมีสาเหตุมาจาก นมแม่มีคุณสมบัติที่ย่อยง่าย และสามารถดูดซึมสารอาหารได้เกือบหมด ทำให้อุจจาระของลูก มีกากน้อย และมีน้ำมาก โดยเฉพาะในน้ำนมส่วนหน้าของเต้า ที่มีน้ำ และน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบค่อนข้างมาก จึงสามารถผ่านลงลำไส้ได้รวดเร็ว ทำให้ลำไส้ย่อยและดูดซึมไม่ทัน เป็นผลให้เด็กถ่ายทันทีหลังกินนมแม่
หากคุณพ่อคุณแม่พบปัญหาลูกถ่ายเหลว ถ่ายบ่อยจากการกินนมแม่ แนะนำว่าพยายามให้ลูกดูดนมแม่ให้เกลี้ยงเต้า เพราะน้ำนมส่วนหลังมีไขมันสูง จะใช้เวลาย่อย และดูดซึมนานกว่าส่วนหน้า วิธีการนี้ก็จะสามารถทิ้งช่วงห่างการขับถ่ายออกไปได้ หรือบีบน้ำนมแม่ส่วนหน้าที่มีลักษณะใสทิ้งไปก่อนนำลูกเข้าเต้า ประมาณ 20-30 มิลลิลิตร หรือประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้ลูกไม่อิ่มก่อนที่จะได้รับน้ำนมส่วนหลัง ก็จะช่วยในการลดอาการถ่ายบ่อย ถ่ายเหลวของเด็กนมแม่ไปได้บ้าง
เด็กกินนมผง
เด็กที่กินนมผง และมีอาการถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย อาจเป็นไปได้ว่าลูกมีปัญหาในการย่อยสารอาหารในนมผง เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของลูกยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเอนไซม์ในลำไส้ที่ใช้ย่อยโปรตีน และน้ำตาลแลคโตสยังทำงานไม่เต็มที่
เมื่อลูกกินนมสูตรปกติที่มีโปรตีนเป็นโมเลกุลใหญ่ และมีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนผสม ลำไส้จะย่อยได้ไม่หมด สารอาหารบางส่วนจึงตกค้างในลำไส้จนเกิดเป็นแก๊ส ซึ่งเป็นสาเหตุให้เด็กปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด ร้องกวน รวมทั้งอาการถ่ายทันทีหลังกินนม พ่อแม่สามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อเลือกนมสูตรย่อยง่าย ที่มีโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน และมีสัดส่วนของน้ำตาลแลคโตสต่ำกว่าปกติ ซึ่งสอดคล้องกับระบบการย่อยของลูกที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์

อาการถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว ส่งผลต่อพัฒนาการของลูก!!
อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการปกติ การถ่ายเหลวจะทำให้ลูกได้รับสารอาหารจากนมไม่เต็มที่ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และพัฒนาการของลูกได้ การที่ลูกถ่ายบ่อยไป อาจทำให้ลูกก้นแดง เป็นแผล เกิดผื่นคล้าย ๆ ผื่นผ้าอ้อม รอบ ๆ ก้นและบริเวณขาหนีบ ซึ่งจะทำให้ลูกหงุดหงิด งอแง ร้องกวน ส่งผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ และการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวก็ทำได้น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น
หากเกิดอาการดังกล่าวขึ้น แนะนำให้หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อม ทำความสะอาดหลังการขับถ่ายทุกครั้ง และเช็ดก้นของลูกให้แห้งอยู่เสมอ เพื่อลดความอับชื้นของผิวหนังบริเวณผ้าอ้อม รวมถึงทาครีมเพื่อช่วยปกป้องผิวของลูกจากการขับถ่ายที่บ่อย
ข้อมูลอ้างอิงจาก รพ.นครธน /www.pobpad.com/www.enfababy.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่