อย่ากลัว ลูกติดอุ้ม !! หมอเด็กเผยเหตุผลดี ๆ ที่แม่ควรอุ้มลูก - Amarin Baby & Kids
ลูกติดอุ้ม

อย่ากลัว ลูกติดอุ้ม !! หมอเด็กเผยเหตุผลดี ๆ ที่แม่ควรอุ้มลูก

event
ลูกติดอุ้ม
ลูกติดอุ้ม

บ้านไหนกลัว ลูกติดอุ้ม ต้องอ่าน!! หมอเด็กเผย สาเหตุที่ทำไมทารกจึงเรียกร้องอ้อมกอดของแม่ ซึ่งแม่ไม่ควรผลักไส และ อุ้มลูกมากๆ จะทำให้ต้องอุ้มตลอดชีวิตจริงหรือ?

หมอเด็กเผยเหตุผลดี..อย่ากลัว ลูกติดอุ้ม

เชื่อว่ามีคุณแม่มือใหม่หลายคน ยังกล้า ๆ กลัว ๆ ว่าจะอุ้มลูกทุกครั้งที่ร้องดีหรือเปล่า เพราะบางบ้านอาจมีผู้ใหญ่คอยติติงมาว่าอุ้มแล้วจะทำให้ลูกมีอาการติดมือ ลูกติดอุ้ม และอาจจะทำให้ต้องอุ้มไปจนโต สำหรับเรื่องนี้ ทีมแม่ ABK มีคำตอบดีๆ จาก ป้าหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ มาฝาก

ทำไมลูกชอบร้องไห้ และชอบให้อุ้ม

เพราะธรรมชาติกำหนดมา เนื่องจากทารกคน ทารกเสือ ทารกลิง ทารกสุนัข เมื่อแรกเกิดยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่ มิฉะนั้นจะไม่มีชีวิตอยู่รอด ซึ่งถ้าเกิดออกมาแล้ว..ไม่มีสัญชาตญาณการร้องไห้ พ่อแม่ก็จะไม่รู้ว่า ลูกต้องการอะไรบ้าง อาจปล่อยให้ลูกนอนไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าต้องให้ลูกกินนมบ่อยขนาดไหน หรืออาจทิ้งลูกไปทำอย่างอื่น หายไปเป็นวันๆ ลูกก็จะอดกินนมและขาดคนคอยดูแลป้องกันอันตรายอยู่ใกล้ๆ

แต่ธรรมชาติได้เตรียมความพร้อมมาแล้ว โดยการให้ลูกเคยชินกับการเคลื่อนไหวตลอดเวลาตั้งแต่อยู่ในท้องโดยการลอยไปลอยมาในน้ำคร่ำ การอยู่ในที่อุ่นๆในมดลูก การได้ยินเสียงหัวใจคุณแม่ เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว หากสิ่งเหล่านี้หายไป เช่น ถูกวางไว้เฉยๆ ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่ได้รับความอบอุ่น ไม่ได้รับการกอดสัมผัส ลูกก็จะรู้สึกเคว้งคว้าง และรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงต้องร้องไห้เพื่อขอความช่วยเหลือ

เมื่อลูกถูกอุ้มขึ้นมาแนบอก ได้ยินเสียงหัวใจแม่ ได้รับความอบอุ่นแนบอก มีการเดินไปมาเคลื่อนไหวเหมือนตอนที่อยู่ในน้ำคร่ำ ได้กลิ่นน้ำนมคุณแม่ซึ่งเป็นกลิ่นเดียวกับกลิ่นของน้ำคร่ำ อาการร้องไห้งอแงก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ลูกติดอุ้ม

ทำไมทารก 1-3 เดือน ร้องไห้หาแม่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตามในช่วง 3 เดือนแรกของทารกจึงเป็นช่วงปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่ยังไม่คุ้นเคย จึงมีความต้องการเหมือนอยากกลับไปอยู่ใกล้ชิดกับแม่ตลอดเวลา เหมือน ลูกติดอุ้ม อยากถูกอุ้ม และถูกสัมผัส เมื่อถูกวางบนเตียงเพียงลำพังจึงรู้สึกตัว ร้องไห้ทันที ทั้งๆที่ไม่ได้รู้สึกหิวแต่อย่างใด แต่ก็มีคุณแม่บางคนและคนรอบข้างไม่เข้าใจ จึงพยายามหานมผงให้ลูกกินเพิ่ม

สิ่งที่ควรทำคือการให้ลูกได้อยู่กับแม่บ่อยๆ หรือ ให้คนเลี้ยงช่วยกันอุ้มและเดินเล่นไปมา คล้ายการเคลื่อนไหวเวลาที่อยู่ในท้อง นอกจากจะเป็นการสร้างความผูกพันแล้ว ยังทำให้ทารกปรับตัวได้เร็วขึ้น ไม่ต้องกลัว ลูกติดอุ้ม

รวมไปถึงการเอาเข้าเต้าบ่อยๆตามความต้องการของลูก ไม่ต้องดูนาฬิกา ไม่ต้องจับเวลา และไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมลูกไม่นอนเอง ไม่เหมือนเด็กที่กินนมผงซึ่งนอนเองได้แถมหลับยาวด้วย อันนั้นเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติค่ะ ส่วนการประเมินว่าลูกได้นมเหมาะสมหรือไม่ ให้ดูปริมาณอึฉี่ของลูก ถ้าเห็นว่ากินเยอะไปแล้วจน overfeeding ให้ใช้วิธีการอุ้มทดแทนการกินพร่ำเพรื่อค่ะ

สัญชาตญาณเหล่านี้เป็นไปเพื่อการอยู่รอด และเมื่อลูกโตขึ้น พัฒนาความสามารถในการพึ่งพาตัวเองได้แล้ว เมื่อนั้น ลูกก็จะผละจากคุณพ่อคุณแม่เพื่อยืนบนลำแข้งของตัวเองได้เองในที่สุด พ่อแม่จึงไม่ควรผละลูกออกจากอกก่อนเวลาอันควรนะคะ

ลูกติดอุ้ม
แม่ไม่ต้องกลัว ลูกติดอุ้ม

อุ้มลูกมากๆ ลูกติดอุ้ม จะทำยังไง

สำหรับเรื่องนี้ป้าหมอได้บอกเพิ่มเติมว่า คุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าการอุ้มมากเกินไปจะทำให้เป็นเด็กติดการอุ้ม ที่จริงแล้ว การอุ้มเยอะๆ จะทำให้เด็กฉลาดได้ด้วย เพราะเด็กฝาแฝดหลายคู่ ที่มีคนหนึ่งเลี้ยงง่าย จะถูกวางให้นอนเองเยอะกว่าอีกคนหนึ่งซึ่งเลี้ยงยากกว่า จึงถูกอุ้มเยอะกว่า เมื่อเติบโตขึ้น เด็กคนที่ถูกอุ้มเยอะกว่าในช่วง 3 เดือนแรกของชีวิต เรียนหนังสือเก่งกว่า มีพัฒนาการที่ดีกว่า

ตรงกับงานวิจัยที่พบว่า .. เด็กที่ถูกอุ้มเยอะๆใน 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกต้องการมากที่สุด เมื่อโตขึ้นมาจะเป็นเด็กที่อารมณ์ดี เลี้ยงง่าย มีความสุข มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดี และ เป็นเด็กที่ปรับตัวได้เก่งค่ะ

รวมไปถึงอีกผลงานวิจัยยังบอกว่าเด็ก 6 เดือนแรก เป็นวัยที่สื่อสารความต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ได้โดยการร้องไห้เท่านั้น หากได้รับการตอบสนองจากผู้เลี้ยงดู ไม่ว่าจะเป็นการเดินเข้าไปหา การอุ้ม การสัมผัส การพูดคุยปลอบให้หายกลัว และได้รับความช่วยเหลือตรงกับความต้องการของเด็ก จะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดูได้เป็นอย่างดี เกิดความไว้ใจ (trust) ว่ามีคนคอยดูแล และการร้องไห้จะน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเติบโตขึ้นมา จะเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย เป็นเด็กอารมณ์ดี มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่เรียกร้องความสนใจจนมากเกินไป

ตรงข้ามกับเด็กที่ขาดคนสนองตอบความต้องการอย่างเพียงพอในวัยทารก เช่น เด็กกำพร้าที่มีผู้ดูแลน้อยกว่าเด็กที่มีจำนวนมาก ร้องเป็นชั่วโมงแล้วยังไม่มีคนมาให้นม ช่วยเช็ดทำความสะอาด หรือปลอบให้หายกลัว เรียกว่าร้องจนสิ้นหวัง หยุดร้องไห้ไปเองเลย จะโตขึ้นมาอย่างคนขาดรัก เรียกร้องมากเพราะได้รับการเติมมาไม่เต็มพอ

การอุ้มในวัยนี้ไม่ได้เป็นการตามใจเด็กจนเสียนิสัย (spoil) แบบเดียวกับกรณีที่เด็กโตแล้วพูดเข้าใจแล้วซึ่งใช้วิธีร้องไห้เพื่อให้ได้สิ่งที่ตรงการ ดังนั้นการร้องไห้ในวัยนี้ ให้อุ้มได้ค่ะ

ทั้งนี้หากเป็นการร้องไห้ด้วยสาเหตุอื่น เช่น ปวดท้อง หิวนม แพมเพอร์สเลอะเทอะ ปวดฟันที่กำลังจะขึ้น หรือเด็กบางคนอาจจะฝันร้ายในเวลากลางคืน แล้วร้องไห้โดยที่ไม่ลืมตา เป็นต้น หากแก้ที่สาเหตุแล้ว เด็กอาจจะไม่ได้เรียกร้องให้คุณแม่ต้องอุ้มตลอดเวลาก็ได้ ทั้งนี้ให้หมั่นสังเกตบ่อย ๆ เราจะรับทราบได้เองว่าลูกร้องแบบมีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่


ขอบคุณข้อมูลจากเพจ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ www.facebook.com/SuthiRaXeuxPhirocnKicwww.paolohospital.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความอื่นๆ น่าสนใจ คลิกที่ภาพด้านล่าง ⇓

ตรวจร่างกายหลังคลอด สำคัญมาก! ทั้งแม่และลูกอย่าลืมไปตามนัด

ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก ฉันเป็นแม่ที่แย่หรือเปล่า? 

วิทยาศาสตร์เผย แม่อุ้มลูก ข้างซ้ายเพราะอะไร

 

หมอเตือน! ทัศนคติของพ่อแม่ ในการเลี้ยงลูกที่ควรระวัง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up