เห็นแล้วเริ่มอยากลองทำบ้างจัง แต่พ่อกับแม่มักเคยชินกับการป้อนอาหารให้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก แล้วลูกจะมีโอกาสได้ลองกินเองเมื่อไรหนอ สเตฟานี่ พาวเวอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กของสถาบันพัฒนาการเด็กซีโร ทู ทรีในวอชิงตัน ดี.ซี. บอกว่าทักษะการกินเป็นพัฒนาการที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป การเริ่มมองผู้ใหญ่กินอาหาร เป็นสัญญาณแสดงว่าลูกเล็กเริ่มจะถึงเวลาลองหม่ำด้วยตัวเองแล้ว
แทนการตักอาหารป้อนให้ลูกด้วยความคุ้นเคย มาช่วยฝึกความพร้อมให้ในขณะที่เขากำลังอยากลองกินเองน่าจะดีนะ ตั้งต้นโดยการสังเกตว่าลูกนั่ง เก้าอี้สูง (สำหรับนั่งโต๊ะกินข้าว) ได้ดีคือทรงตัวได้โดยไม่ต้องใช้แขนช่วยหรือให้คนช่วยจับ (ราวอายุ 7 – 8 เดือน)จากนั้นก็เริ่มกันเลย โดย
– ฝานกล้วย หรือผลไม้เป็นชิ้นบางๆ มะกะโรนีต้ม ฟักทอง ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว และสารพัดผักต้ม แล้วหั่นเป็นท่อนขนาดเหมาะมือเล็กๆ ของลูก ใส่ชามอาหารให้เขาสนุกกับการจับดู ดม
– เข้าใจให้ชัดว่านี่เป็นเวลาเล่นกับอาหาร
– สูดหายใจเข้าออกลึก 5 รอบ มีความสุขและยิ้ม (ให้) ได้กับความเลอะเทอะตามเนื้อตัวลูก (เช่น มือ ปากแก้ม หู จมูก หรือแม้แต่หัว) และตามอาณาบริเวณโดยรอบที่นั่งกินอาหารของลูก
– ถ้าลูก (เล่น) กินได้อย่างนี้ พออายุ9 เดือนจนถึง 1 ขวบ เขาจะใช้นิ้วมือได้คล่อง หยิบจับอาหารชิ้นเล็กเข้าปากเองได้ พอดีกับการเริ่มใช้ลิ้น เหงือกและฟันบดเคี้ยวอาหารได้อีก ต่อไปก็ได้เวลายื่นช้อนเด็กให้เขาได้ซ้อมมือ (เคาะ ตี) ตักอาหารแบบเฉียดๆ ไปก่อน
ส่วนจะให้ตักกินเองได้เป็นเรื่องเป็นราว (และเลอะน้อยลงอีกนิดหน่อย) ขอให้ลูกถึง 2 ขวบก่อนแล้วกันนะแม่นะการให้ลูกได้หยิบอาหารเข้าปากเองเป็นเรื่องสำคัญนะแม่
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง