ทารกท้องอืด ลูกท้องอืดแบบไหน อาการแบบใดจึงเป็นอันตรายต้องระวัง ท้องอืดในเด็กทารกเรื่องเล็ก ๆ ที่ควรระวัง มาดูวิธีรับมือ และป้องกันจากแนวทางคุณหมอกันดีกว่า
ทารกท้องอืด ลูกท้องอืด แบบไหนอันตราย..พร้อมวิธีรับมือ!!
อาการท้องอืดในเด็กทารก เป็นสิ่งที่พ่อแม่อาจสังเกตได้ยาก เพราะลูกทำได้แค่เพียงร้องไห้งอแง ไม่สามารถบอกถึงความไม่สบายเนื้อสบายตัวของตัวเองเป็นคำพูดให้แก่พ่อแม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราต้องคอยสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อลูกร้องไห้งอแงผิดปกติว่า ลูกน้อยอาจงอแงจากอาการท้องอืดก็เป็นได้
การที่พ่อแม่สามารถสังเกตอาการจนรู้ได้ว่าสาเหตุการงอแงของทารกนั้นมาจากสาเหตุใดได้ ก็สามารถแก้ปัญหา และรับมือกับอาการเจ็บป่วยของลูกได้ตรงจุด และทันท่วงที แม้ว่าอาการท้องอืดนั้นอาจเป็นอาการเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อ ทารกท้องอืด บ่อย ๆ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารที่รุนแรงได้
สัญญาณบ่งบอกว่าลูกน้อยท้องอืด
ทารกท้องอืด อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งเขายังไม่สามารถแสดง หรือสื่อสารบอกพ่อแม่ได้ ดังนั้นจึงควรสังเกตอาการต่อไปนี้ที่สามารถบ่งบอกว่าลูกท้องอืด ดังนี้
- ร้องไห้ งอแงผิดปกติ
- ยกขาขึ้นสูงเอนไปทางหน้าท้อง
- ดิ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะหลังดื่มนม
- กำมือแน่น
- ใบหน้าแดง เบ่ง
อย่างไรก็ตาม ทารกมักรู้สึกสบายตัวขึ้น และหยุดร้องไห้หลังผายลม หรือเรอออกมา แต่หากยังร้องไห้ไม่หยุดทั้งที่ผายลมออกมาแล้ว อาจแสดงว่าสัญญาณผิดปกติดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น กรดไหลย้อน ท้องผูก โคลิค เป็นต้น
6 สัญญาณเตือนปัญหาระบบย่อยอาหารในเด็ก
แม้ว่าอาการท้องอืดนั้น จะไม่เป็นอันตรายต่อทารก และสามารถหายได้ด้วยการดูแล แต่ในบางกรณี การมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของความผิดปกติทางระบบย่อยอาหารที่รุนแรง หากสงสัยว่าลูกน้อยท้องอืดร่วมกับมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
- อาเจียน
ในเด็กอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น เมารถ อาหารเป็นพิษ(ในเด็กวัยที่เริ่มรับประทานอาหารเสริม) มีไข้ ไอมากเกินไป หรือรับประทานอาหารมากเกิน ตื่นเต้น หรือกังวล เป็นต้น อาการเหล่านี้ก็อาจส่งผลให้เด็กอาเจียนได้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกอาเจียนบ่อยครั้ง อาเจียนปนเลือดหรือน้ำดี ไม่สามารถดื่มน้ำได้ พบสัญญาณของภาวะขาดน้ำอย่างปัสสาวะน้อยลง ริมฝีปากแห้ง ไม่มีเรี่ยวแรง หรือดูรู้สึกไม่สบาย นี่อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพราะอาจเกิดจากโรครุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักสบ ไส้ติ่งอักเสบ หรือลำไส้อุดตัน เป็นต้น
เคล็ดลับดูแลลูกน้อย : หากลูกไม่อาเจียนซ้ำหลังจากผ่านไปแล้ว 8 ชั่วโมง ควรให้เด็กดื่มนมแม่หรือนมผงตามปกติ ส่วนเด็กวัยหัดเดิน ควรรับประทานอาหารอ่อน งดอาหารรสจัด ของทอด หรือของมัน และให้ลูกดื่มน้ำให้มากขึ้น
- ปวดท้อง
ในเด็กทารกจะสังเกตได้จากการยกขาขึ้นสูงเอนไปทางท้อง เบ่งหน้าแดง อาการปวดท้องอาจเกิดได้จากปัญหาสุขภาพมากมาย แต่หากลูกมีอาการรุนแรง หรือปวดท้องนานกว่า 1 วัน ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุจะดีที่สุด
เคล็ดลับดูแลลูกน้อย : ให้ลูกอาบน้ำอุ่น หรือประคบหน้าท้องด้วยถุงน้ำร้อน ช่วยบรรเทาอาการลงได้
- ท้องผูก อุจจาระมีเลือดปน ถ่ายไม่ออก ถ่ายยาก
คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากพฤติกรรมการขับถ่ายของลูก โดยเด็กที่มีอาการท้องผูกมักจะถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่งผลให้อุจจาระแข็งเป็นก้อน ถ่ายยาก และรู้สึกเจ็บหรือมีเลือดปนขณะขับถ่าย เป็นอาการบ่งบอกถึงสัญญาณเตือนเกี่ยวกับปัญหาระบบย่อยของลูกได้
เคล็ดลับดูแลลูกน้อย : ดื่มน้ำบ่อย ๆ ร่วมกับการดื่มนม รวมทั้งไม่ให้ลูกดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากเกินไป โดยเด็กเล็กไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 120 มิลลิลิตรต่อวัน ขณะที่เด็กโตไม่ควรเกิน 180 มิลลิลิตรต่อวัน
- ท้องเสีย
มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย อาหารเป็นพิษ ภูมิแพ้อาหาร ปัญหาลำไส้ หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายของเด็กขาดน้ำหรือดูดซึมสารอาหารผิดปกติ ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นอาการเฉียบพลัน หรือเรื้อรังก็ได้
เคล็ดลับดูแลลูกน้อย : สามารถดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่ตามคำแนะนำของแพทย์ อาจนำน้ำเกลือแร่เด็กมาดัดแปลงทำเป็นไอศกรีม เพื่อให้รับประทานง่ายขึ้นได้
- ร้องไห้ไม่หยุดเป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
เมื่อลูกน้อยไม่สบายตัว ไม่สบายท้อง ก็จะแสดงอาการให้พ่อแม่ได้รับรู้ด้วยการร้องไห้ แต่หากลูกร้องไห้ไม่หยุดเป็นเวลานาน เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่าปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับลูกยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือรักษา ก่อนที่จะลงความเห็นกันเองว่าลูกเป็นโคลิค ควรพาไปพบแพทย์ตรวจให้ละเอียด และจะได้รักษาได้ตรงจุดอีกด้วย
เคล็ดลับดูแลลูกน้อย : อุ้มทารกพร้อมโยกเบา ๆ อาจช่วยให้สงบลงได้ คุณแม่อาจลองอุ้มนั่งบนเก้าอี้โยกไปมา แกว่งไปมาเบา ๆ ขณะเดิน หรือแม้แต่วางลงในเปลแล้วแกว่งไปมา เพื่อให้ลูกได้สงบลงบาง ก่อนถึงเวลาพาไปพบแพทย์
- มีไข้ โดยเฉพาะทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือนที่มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
เด็กมีอายุต่ำกว่า 3 เดือน และมีอุณหภูมิที่วัดจากทางทวารหนัก 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งถือเป็นภาวะเร่งด่วน เพราะการมีไข้แม้เพียงเล็กน้อยในช่วงวัยนี้อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เคล็ดลับดูแลลูกน้อย : หากเด็กมีไข้จนชัก ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายและพบได้ในเด็กช่วงอายุ 6 เดือนถึง 6 ปี โดยอาจไม่แสดงอาการชักออกมาอย่างชัดเจน แต่ดูคล้ายเด็กกำลังจะหมดสติ ควรจัดท่าให้เด็กนอนตะแคง ห้ามให้กัดช้อนหรืออุปกรณ์ใด ๆ และรีบโทรเรียกหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หรือพาเด็กไปพบแพทย์ทันทีหากเด็กชักเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม เด็กหลายคนอาจจะอธิบายความผิดปกติหรืออาการที่ตนเองรู้สึกได้ไม่ถูก แต่หากผู้ปกครองรู้สึกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ก็สามารถพาลูกไปพบแแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดได้ แม้ว่าเด็กจะมีอาการของระบบย่อยอาหารไม่ชัดเจน อาการยังไม่รุนแรง มีอาการเฉียบพลันหรือเรื้อรังก็ตาม แต่เพื่อความสบายใจ และเหตุผลที่ว่ารู้ก่อนรักษาเร็ว โอกาสหายสูงจึงเป็นหน้าที่พ่อแม่ที่ต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยอยู่เสมอ
กันไว้ดีกว่าแก้กับปัญหา…ลูกท้องอืด!!
แม้ว่าอาการท้องอืดจะเป็นอาการเบื้องต้นที่ไว้ใช้สังเกตการผิดปกติของระบบย่อยอาหารของทารก แต่ก็มิได้หมายความว่า เด็กส่วนใหญ่ที่เกิดปัญหาท้องอืดจะเกิดปัญหาโรครุนแรงตามมาเสมอไป ดังนั้นจึงไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไปนัก อย่างไรก็ตามอาการท้องอืดก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัว และร้องไห้งอแงที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง และอาการดังกล่าวสามารถป้องกันได้
มองหาสาเหตุทารกท้องอืด
หากลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่มีอาการท้องอืดบ่อย ๆ นั่นอาจเป็นเพราะว่า มีพฤติกรรมหนึ่งพฤติกรรมใดที่ทำให้เกิดการสะสมแก๊สขึ้นมามากในกระเพราะอาหาร ดังนั้นจึงควรสังเกตดูว่าเรามีพฤติกรรมการเลี้ยงลูกแบบนี้หรือไม่ เพื่อหยุดต้นตอของการเกิดอาการท้องอืด
- ลูกดื่มนมช้าเกินไป อาจเกิดจากลักษณะของจุกขวดนม หรือหัวนมของมารดา เช่น หัวนมบอด อาจทำให้น้ำนมไหลออกมาน้อยหรือไหลช้า ส่งผลให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปมากขึ้นในระหว่างดูดนม
- ลูกดื่มนมเร็วเกินไป หากน้ำนมจากเต้าของมารดา หรือจุกขวดนมไหลออกมามากเกินไป ลูกน้อยจะต้องกลืนน้ำนมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารได้มากเช่นกัน
- ดื่มนมที่มีฟองอากาศ สำหรับทารกที่ดื่มนมผง ในระหว่างขั้นตอนผสมนมผงกับน้ำอาจมีฟองอากาศเกิดขึ้น ทารกอาจท้องอืดได้หากกลืนฟองอากาศมากเกินไป ดังนั้น หลังผสมนมเสร็จแล้วควรทิ้งไว้สัก 2-3 นาที เพื่อให้ฟองอากาศแตกตัวก่อนให้ลูกน้อยดื่ม
- ร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปจำนวนมาก คุณแม่จึงควรคอยปลอบให้ทารกหยุดร้องโดยเร็ว
- กระบวนการย่อยอาหาร ระบบย่อยอาหารของทารกในช่วง 3 เดือนแรกยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ การเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารเมื่อดื่มนมแม่จึงเป็นเรื่องปกติ อาการของทารกจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองเมื่อมีอายุมากขึ้น ส่วนทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไปที่เริ่มรับประทานอาหารชนิดอื่นนอกจากนมแม่ได้แล้ว ในช่วงแรกระบบย่อยอาหารอาจยังไม่คุ้นชินกับอาหารชนิดใหม่ ๆ ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารบางประเภทอาจทำให้ลูกน้อยมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ เช่น พืชตระกูลถั่ว บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี รำข้าว ข้าวโอ๊ตบด ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เป็นต้น บางรายเกิดแก๊สสะสมเนื่องจากมีอาการแพ้โปรตีนจากอาหารบางชนิด โดยเฉพาะนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น โยเกิร์ต ชีส รวมถึงโปรตีนในนมผงและน้ำนมแม่ นอกจากนี้ อาหารที่คุณแม่รับประทานก็อาจไหลผ่านน้ำนมและส่งผลให้ทารกมีอาการท้องอืดได้ แม้เด็กไม่ได้รับประทานเองโดยตรง
ป้องกันอาการทารกท้องอืดอย่างไร?
วิธีป้องกันอาการท้องอืดของทารกทำได้โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร และพยายามไม่ให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปจำนวนมาก
- ป้อนนมให้ทารกในปริมาณที่พอเหมาะ
- จัดท่าทางของทารกให้เหมาะสมขณะป้อนนม โดยยกศีรษะให้อยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย
- ขณะป้อนนมควรยกขวดนมขึ้นเพื่อป้องกันอากาศไหลผ่านช่องว่างบริเวณจุกนม รวมทั้งปรับขนาดรูบนจุกนมไม่ให้ใหญ่หรือเล็กเกินไป หรือใช้ขวดนมที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปน้อยที่สุด
- สำหรับลูกที่กินนมแม่ หากพบว่านมแม่ไหลมากหรือเร็วเกินไป ซึ่งนั่นมักจะเกิดในช่วงต้นของน้ำนม แม่อาจทำการบีบน้ำนมส่วนต้นออกสักเล็กน้อย เพื่อให้ส่วนที่ไหลเร็ว และแรงผ่านไปก่อนให้ลูกดูดนม
- แม่ที่น้ำนมน้อย หัวนมบอด อาจใช้เครื่องปั๊มน้ำนมเข้าช่วยได้
- ทารกที่หย่านมแม่แล้ว พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกน้อยรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะมาก เช่น รำข้าว ข้าวโอ๊ต กะหล่ำปลี ถั่วต่าง ๆ อาหารที่ทำจากนม เป็นต้น ส่วนคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านี้เช่นกัน เพราะอาจส่งแก๊สผ่านปริมาณน้ำนมไปสู่ลูกน้อยได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.pobpad.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
อุทาหรณ์! ลูก ลำไส้อักเสบเรื้อรัง เพียงเพราะแม่อยากให้ลูกอ้วน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่