กรดไหลย้อนในเด็กทารก มีด้วยหรือ?? อาการเป็นอย่างไร ถ้าเป็นขั้นรุนแรงลูกจะทรมานขนาดไหน.. แล้วพ่อแม่จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกทารกมีภาวะกรดไหลย้อนได้อย่างไร ไปดูกันค่ะ
ทำไมทารกถึงเป็น “กรดไหลย้อน” ได้?
ทารกแรกเกิดราว 25 เปอร์เซ็นต์มีภาวะกรดไหลย้อน อาการมีตั้งแต่เล็กน้อย คือแหวะนมบ่อย แต่ไม่มีความเจ็บปวด ไปจนถึงอาการรุนแรงคือ ปวดท้องและตื่นบ่อย และภาวะกรดไหลย้อนก็มักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกเป็นโคลิก
ตามปกติแล้ว หลังจากที่อาหารเคลื่อนผ่านเข้าไปในกระเพาะกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างจะหดตัว คือจะทำหน้าที่เหมือนวาล์วทางเดียว ซึ่งจะปิดและป้องกันไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะถูกขย้อนหรือไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร แต่ในทารกบางคน การพัฒนากล้ามเนื้อดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ อาหาร (ที่ผ่านการย่อยเป็นบางส่วน) และกรดในกระเพาะจึงไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เยื่อบุหลอดอาหารเกิดการระคายเคืองจนมีอาการแสบร้อนกลางอก
ถ้าทารกมีภาวะกรดไหลย้อนและอาการรุนแรง แพทย์ก็อาจจะสั่งยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะให้ แต่พอถึงวัย 6-9 เดือน อาการมักจะเริ่มดีขึ้นเอง เพราะเป็นวัยที่เขาอยู่ในท่าที่ลำตัวตั้งตรงมากขึ้น ซึ่งเป็นท่าที่ช่วยลดการขย้อนได้