อัจฉริยะสร้างได้ เริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา - Amarin Baby & Kids

อัจฉริยะสร้างได้ เริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา

Alternative Textaccount_circle
event

มีหนังสือจากประเทศญี่ปุ่นชื่อว่า “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” เข้ามาจุดประกายความคิดคุณพ่อคุณแม่ถึงการส่งเสริมความฉลาดของลูกน้อยว่า จะรอให้ครูอนุบาลเป็นผู้มีบทบาทนั้นคงไม่เพียงพอและอาจไม่ทันการณ์

 
แล้วเราควรเริ่มส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกได้ตั้งแต่เมื่อไรโดยเฉพาะด้านสมองและสติปัญญา

 
ปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการสมองประกอบด้วยพันธุกรรม อาหารและสิ่งแวดล้อม

 
ในประเด็นของสิ่งแวดล้อม คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มใส่ใจตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ ไม่ต้องรอให้ครบกำหนดคลอดหรือรอให้อวัยวะระบบต่างๆ พัฒนาพร้อมจึงเริ่มกระตุ้นหรอกครับ

 
ทารกในครรภ์สามารถรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวการที่คุณแม่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อารมณ์ดี และสื่อสารกับลูกอย่างถูกวิธี จะช่วยกระตุ้นให้เซลล์สมองของทารกพัฒนาขนาดและจำนวนเซลล์ได้ดีขึ้น รวมทั้งทำให้มีเส้นใยประสาทและจุดเชื่อมโยงขึ้นมากมาย ทารกที่มีจุดเชื่อมโยงมากจะมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้มากและไวกว่าทารกที่มีจุดเชื่อมโยงและเส้นใยประสาทน้อยกว่าอย่างชัดเจน ทำให้พัฒนาเรื่องเชาวน์ปัญญาและอารมณ์ที่ดีกว่าด้วยครับ

 

 

 
แนวทางการส่งเสริมพัฒนาการทารกในครรภ์ระบบการได้ยิน

 
คุณพ่อคุณแม่สามารถสื่อสารกับลูกน้อยได้ทันทีที่สูตินรีแพทย์บอกว่ามีชีวิตน้อยๆ เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งชีวิตแล้วในครรภ์ เพราะเวลาที่ทราบว่าตั้งครรภ์จะเป็นเวลาที่เซลล์และอวัยวะระบบต่างๆ เริ่มแบ่งตัวพัฒนาอย่างรวดเร็วตั้งแต่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ ดังนั้นนี่คือจุดเริ่มของช่วงทองในการกระตุ้นดังกล่าว

 
การได้ยินเสียงของพ่อและแม่สื่อสารด้วยความรักจะทำให้ลูกตื่นเต้น รอวันพบหน้าพ่อแม่ เด็กจะค่อยๆ คุ้นและอบอุ่นทุกครั้งที่มีการสื่อสารกัน นอกจากนี้การที่คุณแม่อารมณ์ดี ร่างกายก็จะหลั่งสารแห่งความสุขที่มีชื่อว่าเอนดอร์ฟิน (ไม่เกี่ยวอะไรกับชื่อวงดนตรีนะครับ) คุณแม่อาจใช้อุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า Infant Phoneโดยพับกระดาษแข็งเป็นรูปกรวย แล้วพูดผ่านปลายช่องด้านหนึ่งอีกด้านวางไว้บนหน้าท้อง ก็จะช่วยขยายเสียงที่คุยกับลูกให้ดังขึ้นได้ครับ อาจเป็นการอ่านนิทานให้ฟัง ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศเด็กจะสามารถจดจำ มีความคุ้นเคยเวลาที่ลูกคลอดออกมา เมื่อหัดพูดจะมีพัฒนาการด้านภาษาทั้งไทยและเทศได้ดีและเร็วกว่าเด็กที่คุณแม่ไม่เคยอ่านนิทานให้ฟัง (ตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์มารดา)

 

 

 
การใช้เสียงดนตรี

 
มีผลการวิจัยจากต่างประเทศยืนยันถึงเรื่องของโมซาร์ทเอฟเฟ็คท์ว่า การที่ทารกได้ยินเสียงเพลงบรรเลงคลาสสิก พอโตขึ้น การใช้กล้ามเนื้อ การพูด การอ่าน การตอบสนองด้านภาษาและดนตรีจะดีกว่าเด็กทั่วไป โดยเฉพาะเพลง The Sonata for twopianos in D major K448

 
ดนตรีช่วยให้เด็กผ่อนคลาย หลับอยู่ในครรภ์อย่างมีความสุขทั้งเสริมสร้างอารมณ์สุนทรีย์ สมาธิ ทำให้เด็กสงบ กระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวกับความคิด วิเคราะห์ และมิติสัมพันธ์ ดนตรีคลาสสิกจึงมีผลต่อทารกในครรภ์มากกว่าที่เราคิดเสียอีกครับ

 
แนวทางปฏิบัติง่ายๆ ก็คือ เปิดเพลงบรรเลงเย็นๆ วันละ 1 – 2 ครั้งคราวละ 10 – 15 นาทีก็เพียงพอ เลือกเวลาที่สงบ เช่น ก่อนนอนบรรยากาศเงียบๆ ผ่อนคลายทั้งแม่และลูก เป็นต้นครับ

 

 

 
ระบบการเคลื่อนไหว

 
ทารกจะมีการเคลื่อนไหวและได้รับการสัมผัสตลอดเวลาที่อยู่ในครรภ์ โดยเฉพาะเวลาที่คุณแม่ขยับตัวหรือลูบหน้าท้องนั้น ผิวทารกจะสัมผัสผนังด้านในมดลูก และทุกสัมผัสที่เกิดขึ้นก็จะพัฒนาเส้นใยประสาทของสมองส่วนรับรู้ความรู้สึก เพิ่มประสิทธิภาพและความไวในการรับรู้ของทารก

 
แนวทางปฏิบัติ

 
1. วางมือบนท้องด้านหนึ่ง จากนั้นวางอีกมือลงบนท้องอีกด้าน กดเบาๆ และสัมผัสถึงการตอบสนองของทารก ทำเช่นนี้หลายๆ ครั้ง ทารกจะเรียนรู้แล้วขยับมือเท้า ตอบสนองกับแม่

 
2. ตีท้องเบาๆ เป็นจังหวะ แล้วสัมผัสถึงปฏิกิริยาของทารก

 
3. ตีท้องเบาๆ 2 ครั้ง จากนั้นตีเบาๆ 3 ครั้ง ทารกจะเตะกลับ 2และ 3 ครั้งในตำแหน่งที่คุณตีหน้าท้อง

 

 

 
ระบบการมองเห็น

 
ทารกจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ โดยทารกจะกะพริบตาเพื่อตอบสนองต่อแสงไฟที่กระตุ้น ทำให้เซลล์สมองและประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็นมีพัฒนาการดีขึ้น อย่างไรก็ดีมีข้อควรระวังว่าการส่องไฟไม่จำเป็นต้องเล็งไปที่นัยน์ตาเด็ก

 
นอกจากที่กล่าวมานี้ ปัจจุบันยังค้นพบอีกว่า การฝึกสมองซีกซ้ายของคุณแม่จะมีผลดีต่อทารกในครรภ์

 
วิธีการก็คือ ให้คุณแม่อยู่ในอิริยาบถที่ผ่อนคลาย หลับตา เปิดเพลงเบาๆ จะเป็นเพลงสำหรับฝึกสมาธิก็ได้ หายใจเข้าทางจมูกเป่าออกทางปากช้าๆ จนรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ให้เริ่มจินตนาการว่าบนศีรษะมีลูกบอลสีทองอร่าม แล้วลูกบอลก็ค่อยๆ เคลื่อนผ่านลงไปที่ร่างทารก ให้จินตนาการว่าเป็นพลังโอบอุ้มให้ทารกแข็งแรงพอทำเสร็จจะรู้สึกได้ถึงความสดชื่น ปลอดโปร่ง

 
ลองนำเทคนิคง่ายๆ เหล่านี้ไปใช้ดูนะครับ ที่สำคัญก็คือ อย่าเครียด เพราะร่างกายจะหลั่งสารที่เป็นพิษทำลายเนื้อสมองทารกได้ครับ

 

 

บทความโดย: นายแพทย์อนันต์ โลหะพัฒนบำรุง กุมารแพทย์
ที่มาภาพ : Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up