โรคระบาดต่าง ๆ ในทุกวันนี้ มีแต่ทำให้พ่อแม่ต้องกังวล ไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่ทรมานเมื่อลูกต้องเจ็บป่วย อยากให้ลูกมี สุขภาพดี ไม่ป่วยบ่อย ต้องทำตาม 7 วิธีนี้
7 วิธีเลี้ยงทารกให้มี สุขภาพดี-ไม่ป่วยบ่อย-ภูมิต้านทานสูง
โรคระบาดในทุกวันนี้ มีแต่โรคที่น่ากลัวและร้ายแรง ที่แม้แต่ผู้ใหญ่ที่มี สุขภาพดี แข็งแรง ยังสามารถป่วยหนักได้ แล้วทารกแรกเกิดที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่มากพอล่ะ? การเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยของผู้ใหญ่หรือเด็กโต กลับสามารถทำให้ทารกมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้ รู้หรือไม่ว่า ลูกน้อยจะแข็งแรงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่แรกเกิด ทีมแม่ ABK จึงมีวิธีเลี้ยงทารกให้มี สุขภาพดี ไม่ป่วยบ่อย มีภูมิต้านทานสูงมาฝากค่ะ
อยากให้ลูกสุขภาพดี มีภูมิต้านทานสูง ไม่ป่วยบ่อย ต้องเลี้ยงด้วย 7 วิธีนี้
-
พ่อแม่ต้องงดดื่มเหล้า-สูบบุหรี่
ขึ้นชื่อว่าเป็นสารเสพติด ไม่ว่าจะเป็นเหล้าหรือบุหรี่ ล้วนแล้วแต่ส่งผลเสียให้กับตัวเอง และส่งผลเสียยิ่งกว่าให้กับคนรอบข้าง สำหรับแม่ท้องนั้น การดื่มเหล้าและการสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่ต้องห้ามอยู่แล้ว จากบทความ ผลกระทบของการเสพสารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์ จาก ผศ.พญ.สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงศ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวไว้ว่า
“สารนิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ในควันบุหรี่ และทาร์จะมีผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาทอะเซติลโคลีน (acetylcholine) โดปามีน (dopamine) และนอร์อีพิเนฟริน (nor epinephrine) ส่งผลให้มีการขัดขวางการพัฒนาของเซลล์ประสาทของทารก มีการหดตัวของหลอดเลือดดำมดลูก ทำให้เลือดผ่านรกลดลง ทารกจึงได้รับอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ มีผลให้น้ำหนักแรกเกิดน้อย ขาดสารอาหารในระยะตั้งครรภ์และเพิ่มอัตราการตายในวัยทารก นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรม เช่น เชาวน์ปัญญาบกพร่อง มีปัญหาการเรียน ซุกซนมากผิดปกติ สมาธิสั้น พฤติกรรมก้าวร้าว ตลอดจนมีปัญหาด้านการเข้าสังคม”
และเมื่อคลอดแล้ว อย่าคิดว่าจะสามารถกลับมาสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าได้ เพราะ การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตในทารกขณะนอนหลับ (SIDS) นอกจากนี้ ควันบุหรี่มือสอง ที่ติดอยู่ตามเนื้อตัว เสื้อผ้าไม่ว่าจะเป็นของพ่อหรือแม่ เมื่อเข้ามาอุ้ม มากอดหอมลูก ลูกจะได้รับสูดดมกลิ่นควันบุหรี่เข้าไปในระบบทางเดินหายใจและปอดด้วย ซึ่งเมื่อสะสมมากๆ เข้าย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกได้โดยตรง ซึ่งผลที่จะตามมาทั้งระยะสั้นและระยะยาว คือการเจ็บป่วยด้วยโรคหวัด ภูมิแพ้ และมะเร็งปอด รวมถึงอีกหลาย ๆ โรคด้วยเช่นกัน และสำหรับแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่ให้นมบุตร แอลกอฮอล์ที่มารดาได้รับจะผ่านไปสู่น้ำนมได้ดี โดยระดับแอลกอฮอล์ในน้ำนมใกล้เคียงกับในกระแสเลือดมารดา ซึ่งหากมารดาดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากกว่า 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน (หนึ่งดื่มมาตรฐานเท่ากับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 10 กรัม ซึ่งเท่ากับ เหล้า 40 ดีกรีประมาณ 1.5 ออนซ์ เบียร์ 5% ประมาณ 12 ออนซ์ หรือไวน์ 8-12% ประมาณ 5 ออนซ์) อาจส่งผลต่อทารกทำให้ระบบประสาทสั่งงานกล้ามเนื้อช้า นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังลดการหลั่งน้ำนมโดยการกดการทำงานของออกซิโตซินด้วย นี่ยังไม่รวมถึง ผลเสียของการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ของพ่อแม่ต่อลูกที่อยู่ในวัยรุ่นอีกนะคะ ดังนั้น เมื่อรู้ว่าจะมีอีก 1 ชีวิตมาอยู่ร่วมกับเราแล้ว เลิกทั้งเหล้าและบุหรี่ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกกันดีกว่าค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่เล่า! ลูกติดเชื้อแบคทีเรีย เพราะสัมผัสจากคนกินเหล้า-สูบบุหรี่
ควันบุหรี่มือสอง สร้างโรคทำลายสุขภาพลูก
2. “นมแม่” สุดยอดภูมิต้านทานต่อลูกให้ลูกน้อย
องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟ แนะนำว่าลูกควรได้กินนมแม่อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลูกด้วยองค์ประกอบด้านโภชนาการ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สารต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามินและยังมีเซลล์สิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งจากเซลล์จากแม่ รวมถึงแบคทีเรียที่ดีต่อระบบทางเดินอาหารของลูกด้วย เด็กทารกที่เกิดใหม่ยังมีภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ น้ำนมแม่เปรียบเสมือนวัคซีนหยดแรกสำหรับเด็ก เพราะมีภูมิคุ้มกันโรคจำนวนมากที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย การได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ทารกเติบโตได้สมบูรณ์แข็งแรง
ความสำคัญของนมแม่ที่ช่วยให้ลูกสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการเจ็บป่วย ด้วยการสร้างแอนติบอดี (Antibody) มาต่อต้านอาการเจ็บป่วยทั่วไปอย่างไข้หวัด การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไปจนถึงการป้องกันการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (RSV) โรคงูสวัด ภูมิต้านทานเหล่านี้มาจากแม่ที่เคยเป็นโรคเหล่านี้มาก่อนและมีภูมิต้านทานโรคแล้ว ด้วยการส่งผ่านไปยังลูกน้อยทางน้ำนมแม่ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถช่วยป้องกันโรคที่จะเกิดกับลูกได้ 100% แต่ก็ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคเหล่านี้กับลูกได้ นอกจากนี้นมแม่ยังสามารถช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กได้ รวมไปถึงโรคร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไหลตายในเด็กทารก (SIDS) เป็นต้น
3. เสริมภูมิคุ้มกันของลูกน้อยด้วยโภชนาการที่ดี
โภชนาการเป็นสิ่งสำคัญในเด็ก หากมีสิ่งใดมาทำให้การเจริญเติบโตต้องชะงักไป จะเป็นผลเสียต่อเด็กเป็นอย่างยิ่ง อาจทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพด้อยไปได้ เด็กจึงควรได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย การให้อาหารเด็กอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่ครบทั้ง 5 หมู่ จะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก มีระดับสติปัญญาไม่ดีเท่าที่ควร และเจ็บป่วยบ่อย เด็กควรได้กินอาหารหลักครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละชนิดควรกินให้หลากหลายชนิด วันละ 3 มื้อ และดื่มนมเป็นอาหารเสริม ทารกแรกเกิด – 6 เดือน ควรได้รับนมแม่อย่างเพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ โดย ทั่ว ๆ ไปแล้วความต้องการสารอาหารของทารกต่อหน่วยน้ำหนักกิโลกรัม จะมากกว่าในวัยอื่นๆ เพราะระยะนี้ร่างกายมีการเจริญเติบโตรวดเร็วมาก หลัง 6 เดือน น้ำนมแม่ยังมีคุณภาพดี แต่ปริมาณไม่พอต่อการเติบโตของลูก จึงจำเป็นต้องให้อาหารทารกอย่างเพียงพอ ควบคู่กับการกินนมแม่เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร สำหรับเด็กที่อยู่ในวัยที่ต้องทานอาหารเสริม เด็กวัยนี้จะต้องการพลังงาน 100 กิโลแคลอรี่/กก. หรือประมาณ 800 กิโลแคลอรี่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกอาหารที่มีโภชนาการที่ดีให้ลูกน้อย โดยอาหารแต่ละมื้อ ควรมีสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของลูก (อ่านต่อ อาหารเสริมทารก เริ่มด้วยอาหารแบบไหน? ทานอย่างไร?)
4. ใครว่าเบบี๋ไม่ต้องออกกำลังกาย?
แน่นอนว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อร่างกายของทุกคน แม้แต่กับเด็กทารกก็ตาม การออกกำลังกายสำหรับเด็กวัยทารกนั้น ไม่จำเป็นต้องออกกำลังเหมือนกับผู้ใหญ่ การหยิบจับสิ่งต่าง ๆ การชันคอ นั่ง ตั้งไข่ คลาน เดิน ก็เป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง นอกจากการออกกำลังกายจะส่งผลดีต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายแล้ว ยังมีผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสมองได้อีกด้วย เด็กที่ออกกำลังกายเป็นประจำ จะทำให้เป็นเด็กอารมณ์ดี มีความสุข
5. รักสะอาดไว้ก่อน!
คอยพยายามรักษาสุขอนามัยในบ้านให้มีมาตรฐานสูง ระวังการเกิดโอกาสที่จะทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เข้าใกล้ลูกให้ได้มากที่สุด เช่น การหมั่นล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่ และใช้กระดาษสะอาดในการเช็ดมือ ทั้งก่อนและหลังการรับประทานอาหาร หลังการสั่งน้ำมูก หรือการเล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือออกไปเล่นนอกบ้าน สอนลูกให้ไม่เอามือเข้าปาก หรืออมสิ่งของต่างๆ ที่ไม่สะอาด เมื่อออกไปธุระข้างนอกบ้าน ก็ควรจะเอาผ้าหรือกระดาษเช็ดมือชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง (disposable) หรือใช้แอลกอฮอล์เจลสำหรับทำความสะอาดมือ เพื่อลดการสัมผัสเชื้อ เป็นต้น การปลูกฝังนิสัยการรักษาสุขอนามัยให้ลูกตั้งแต่ลูกยังเล็ก จะช่วยลดโอกาสการติดโรคจากผู้อื่นเมื่อลูกโตขึ้นอีกด้วย
6. วัคซีนสิ่งสำคัญ!!
อาวุธที่สำคัญอย่างหนึ่งของการต่อสู้กับเชื้อโรคที่ร่างกายใช้ คือ ภูมิต้านทาน แต่ภูมิต้านทานต่างๆ ของลูกนั้นไม่ใช่อยู่ๆ จะมีขึ้นมาได้เอง แต่จะต้องเกิดจากการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และร่างกายพยายามสู้กับเชื้อโรคนั้นๆ ถ้าร่างกายแพ้ ก็จะเจ็บป่วยหนัก ต้องการช่วยเหลือโดยการรักษาด้วยยาต่างๆ เช่น ยาปฎิชีวนะ ฯลฯ แต่เชื้อโรคในทุกวันนี้ มีแต่โรคที่ทำให้เกิดอาการร้ายแรงทั้งนั้น การจะให้ลูกรับเชื้อโรคร้ายแรงเข้าสู่ร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ก็ดูจะเป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไป ดังนั้นจึงควรให้ลูกได้รับวัคซีนพื้นฐานให้ครบตามที่กำหนด (อ่านต่อ ตารางวัคซีน 2563 จาก กระทรวงสาธารณสุข ต้องได้รับวัคซีนตัวไหน กี่ครั้ง อย่างไรบ้าง)
7. พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับคือการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของลูกน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดอย่างหนึ่ง โดยปกติร่างกายคนเราต้องการการนอนหลับพักผ่อน เพื่อทำการซ่อมบำรุงร่างกายและทำให้การทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายได้เตรียมตัวสะสมพลังในช่วงนอน เพื่อจะออกมารับมือกับสิ่งต่างๆ ต่อไปในแต่ละวัน มาที่คำถามว่า ทารกที่มักจะตื่นบ่อยเพื่อมาทานนมนั้น จะทำให้ลูกได้พักผ่อนอย่างเพียงพอหรือไม่ (อ่านต่อ ตารางการนอนของทารก นอน/ตื่นกี่ครั้ง นอนนานแค่ไหน? ได้ที่นี่)
ใครว่า สุขภาพดี ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดู? การเลี้ยงดูเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานดี ไม่ป่วยบ่อยได้
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
วัคซีนพื้นฐานสำหรับลูกน้อยในขวบปีแรก เป็นสิ่งจำเป็นและไม่ควรเลื่อนฉีด
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.news24.com, กรมอนามัย, wongkarnpat.com, guruobgyn.com, คลังความรู้เสริมสุขภาพเด็ก