การเคาะปอดเพื่อระบายเสมหะในเด็กเล็ก
การเคาะปอดเป็นเทคนิคการรักษาอย่างหนึ่ง โดยเป็นการเคาะบริเวณทรวงอก เพื่อทำให้เกิดการสั่นสะเทือนไปยังปอด ช่วยร่อนระบายเสมหะที่ติดอยู่ตามเนื้อปอดและหลอดลม ให้หลุดออกและระบายออกไปได้ง่ายขึ้นโดยการไอ หรือ กรณีที่ไม่สามารถไอขับเสมหะออกมาได้ สามารถใช้ลูกยางแดงหรือเครื่องดูดเสมหะดูดเสมหะออกมาได้ เช่นกัน
หลักการการเคาะปอดเพื่อระบายเสมหะให้ลูกน้อย
- การจัดท่า เพื่ออาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้เสมหะไหลออกจากหลอดลมเล็กส่วนปลายเข้าสู่หลอดลมใหญ่ตรงกลาง เมื่อเด็กไอเสมหะจะถูกขับออกมาได้มากขึ้น
- การเคาะใช้อุ้งมือ (ดังรูป) ไม่ควรใช้ฝ่ามือ ควรทำมือให้เป็นลักษณะคุ้ม นิ้วชิดกัน ที่เรียกว่า cupped hand เคาะบริเวณทรวงอกส่วนที่ต้องการระบายเสมหะ
- ใช้ผ้ารองบนส่วนที่จะเคาะ
- การเคาะแต่ละท่าควรใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมา1-3 นาที หรือนานกว่านั้นถ้ายังมีเสียงเสมหะมากอยู่
- ขณะเคาะหากเด็กไอ ควรใช้การสั่นสะเทือนช่วย โดยใช้มือวางราบ พร้อมทั้งเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขนและหัวไหล่ทำให้มือสั่น ในระหว่างที่กำลังไอหรือช่วงที่เด็กหายใจออก
- ฝึกการไอให้มีประสิทธิภาพ (ทำได้เฉพาะเด็กที่ รู้เรื่อง สามารถเข้าใจและทำตามคำอธิบายได้) ฝึกได้โดยให้เด็กหายใจเข้าเต็มที่ช้า ๆ กลั้นไว้สักครู่ และไอออกมาโดยเร็วและแรง
- ควรทำการระบายเสมหะก่อนมื้อนมหรืออาหาร หรือขณะท้องว่าง หรืออย่างน้อย 2 ชั่วโมง หลังอาหาร เพื่อป้องกันการสำลักและอาเจียน
การจัดท่าเคาะปอด
ท่าที่ 1 ปอดกลีบซ้ายบนส่วนยอด จัดให้เด็กอยู่ในท่านั่งเอนตัวมาข้างหลังประมาณ 30°เคาะบริเวณด้านบน เหนือทรวงอกด้านซ้าย ระหว่างกระดูกไหปลาร้าและกระดูกสะบัก
ท่าที่ 2 ปอดกลีบซ้ายบนด้านหลัง จัดท่าให้เด็กนั่งคร่อมตัวมาทางด้านหน้าเล็กน้อย (30°) บนแขนของผู้ให้การบำบัด เคาะบริเวณด้านหลังตอนบนเหนือกระดูกสะบัก ระหว่างกระดูกต้นคอและหัวไหล่
ท่าที่ 3 ปอดกลีบซ้ายบนด้านหน้า จัดท่านอนหงายราบ เคาะบริเวณเหนือราวนมต่ำจากกระดูกไหปลาร้าเล็กน้อย