วันนี้คุณกับลูกน้อยได้ทำสิ่งสำคัญกันหรือยัง หัวเราะด้วยกันยังไงละ ไม่ล้อเล่นนะ เพราะการหัวเราะมีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างสายใยผูกพันแม่ลูกทีเดียว
ศ.ดร.โรเบิร์ต โพรไวน์ อาจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ เมืองบัลติมอร์ และผู้เขียนหนังสือ “Laughter: A Scientific Investigation” บอกว่า “การหัวเราะช่วยเชื่อมสัมพันธ์แม่ลูกให้เหนียวแน่นขึ้นได้ เพราะหัวเราะเป็นวิธีหนึ่งที่ลูกทารก (ซึ่งยังพูดไม่เป็น) จะคุยกับแม่ได้ เป็นการแสดงถึงความไว้วางใจ”
สำหรับวิธีเรียกเสียงหัวเราะจากเด็กเล็กๆ ก็ไม่ยุ่งยากอะไร หลักง่ายๆ คือ ปล่อยตัวตามสบาย (กับลูกน่ะ..ไม่ต้องมีฟอร์มหรอก) และสนุกกับสิ่งที่ทำ คุณก็ทำให้เจ้าตัวเล็กเอิ๊กอ๊าก หรือยิ้มกว้างได้แล้ว
แรกเกิด-3 เดือน
เด็กทารกจะยิ้มจริงๆ (อันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคม) ครั้งแรกอายุประมาณ 6 สัปดาห์ (1 เดือนครึ่ง) เพราะเขาเริ่มเรียนรู้การจดจำ และตอบสนองต่อใบหน้าที่ยิ้มให้เขา ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่อย่าหวงยิ้มกับลูก มีเท่าไรแจกแถมให้ไปเลย
อายุ 3-6 เดือน
เริ่มเข้าเดือนที่ 3-4 ทารกแทบทุกคนจะหัวเราะตอบได้ง่ายๆ เมื่อถูกกระตุ้นอย่างนุ่มนวล เช่น หอมพุง จับอุ้มโยกเบาๆ หรือได้ฟังเสียงซ้ำๆ เช่น เสียงสัตว์เวลาอ่านนิทานให้ฟัง “เหมียว เหมียว” “จิ๊บ จิ๊บ” หรือเพลงที่มีคำร้องซ้ำๆ ก็ทำให้เขาหัวเราะได้ เนื่องจากระบบประสาทของทารกกำลังอยู่ในช่วงกำลังเติบโต เพียงการเล่นเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความอ่อนโยน ลูกจะพึงพอใจ เพียงความรู้สึกเป็นสุขเช่นนี้ก็กระตุ้นให้เขาหัวเราะหรือยิ้มออกแล้ว
อายุ 6-9 เดือน
ช่วงนี้ลูกน้อยจะเริ่มเรียนรู้อารมณ์ตลก สนุก เมื่อสิ่งต่างๆ คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง หรือที่เรียกว่า “อารมณ์ขัน” อันจัดเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่ง เราจึงเห็นลูกหัวเราะเมื่อแม่หรือพ่อทำหน้าตาแปลกๆ เช่น หน้าลิง จมูกหมู ฯลฯ และที่หัวเราะก็เพราะเขาชอบหน้าตากับซาวนด์ประกอบ แถมยังแยกแยะได้ว่านี่ไม่ใช่หน้าปกติของพ่อแม่ด้วย
เกมจ๊ะเอ๋ และของเล่นแบบป๊อป-อัพ ก็เป็นของชอบของทารกวัย 7 เดือนเช่นกัน เพราะเขาเข้าใจแล้วว่า สิ่งของยังมีอยู่แม้ว่าเขาจะไม่เห็นมัน หรือเล่นเกมแบบที่สัมผัสจับตัวเขาก็ได้ เช่นหอมซ้ายทีขวาที หรือเล่นจับตัวได้แล้ว คุณจะรู้สึกว่ายิ่งเรียกเสียงหัวเราะได้ง่ายกว่าเมื่อตอนเขาอายุ 4-5 เดือน นั่นเพราะช่วงนี้เขารู้ล่วงหน้าได้ว่าอะไรเป็นอะไร ทำให้มีอารมณ์ร่วมได้มากกว่านั่นเอง
อายุ 9 เดือน-1 ขวบ
วัยนี้จะชอบอาการตลกบ้าๆ บอๆ มาก (หรือที่เรามักเรียกกันว่า “ออกอาการติงต๊อง” นั่นแหละ) เช่น ทำท่าดูดขวดนมของเขา แลบลิ้นหลอก เดินเป็ด ร้องเสียงจิ้งจก ตุ๊กแก ล้วนเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะลูกได้ทั้งนั้น
ใช่แต่ลูกจะเป็นฝ่ายหัวเราะกับตลกที่พ่อแม่นำเสนอเท่านั้น จริงๆ เขาก็พยายามทำให้คุณหัวเราะด้วย ตอนเล่นจ๊ะเอ๋เขาจะคลานหนีล่อให้คุณเล่นเกมไล่จับหนูสิกับเขาไปด้วย คุณแค่เล่นตอบเขาให้เว่อร์ไว้นิดๆ รับรองว่าคุณกับลูกจะยิ่งหัวเราะประสานเสียงกันสนุกสบายไปเลย
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง