ทารกจะเริ่มมีการสร้างน้ำตาในช่วง 2 สัปดาห์แรกของชีวิต หากเกิดภาวะอุดตันของระบบท่อระบายน้ำตา จะพบว่าลูก ตาแฉะ อาจมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้!!
ตาแฉะ ทารกตาแฉะ ขี้ตาเป็นหนอง ปล่อยไว้อาจเป็นโรคนี้!!
สำหรับทารกแรกเกิด ดวงตาเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงทารกกับโลกรอบ ๆ ตัว ความสามารถในการมองเห็นที่ดีคือจุดเริ่มต้นนำไปสู่พัฒนาการที่ดีในด้านต่าง ๆ เช่น ทำให้การประสานงานของมือและตามีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของลูก และนำไปสู่การพัฒนาทางด้านกายภาพอื่น ๆ ทั้งการ นั่ง คว่ำ คลาน หรือ การเดิน
การเรียนรู้ทางการมองเห็นเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% เมื่อเทียบกับการเรียนรู้จากทางอื่น เช่น จากการได้ยิน การได้กลิ่น การรับรู้รส และการสัมผัส ดังนั้น เด็กที่มีปัญหาในการมองเห็น จะส่งผลให้การเรียนรู้ถูกจำกัด พัฒนาการไม่ดีเท่าที่ควร และจะเป็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ในอนาคต เช่น ขาดความมั่นใจ เป็นเด็กที่มีปมด้อย และมีปัญหาได้
อ่านต่อ : การมองเห็นของทารก พัฒนาการที่พ่อเเม่ควรรู้
พัฒนาการของระบบการมองเห็นจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ได้นั้น ส่วนประกอบของดวงตาจะต้องสมบูรณ์ทั้งรูปร่างและการทำงาน และจอตาของทารกต้องถูกกระตุ้นด้วยภาพที่คมชัด แต่หากเกิด ภาวะอุดตันของระบบท่อระบายน้ำตา พ่อแม่จะพบว่าลูกมีอาการตาแฉะในตาข้างที่อุดตัน และในบางรายอาจมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน ทำให้มีขี้ตาเป็นมูกปนหนองได้ ดังนั้น พ่อแม่ไม่ควรชะล่าใจ หากสังเกตเห็นความผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบพาลูกไปพบจักษุแพทย์ทันที
อ่านต่อ : น้องลีออง ลูกเสก โลโซ ป่วย “ท่อน้ำตาอุดตันในทารก”
ภาวะท่อน้ำตาอุดตัน คืออะไร?
โดยทั่วไปน้ำตาของคนเราจะถูกสร้างจากต่อมน้ำตาอย่างต่อเนื่องและกระจายตัวปกคลุมผิวดวงตาชั้นนอก จากนั้นจะระบายออกที่รูระบายน้ำตาที่บริเวณหัวตา ซึ่งมีทั้งด้านบนและด้านล่าง จากนั้นจะไหลไปตามท่อระบายน้ำตาไปที่จมูก และไหลลงคอตามลำดับ แต่หากมีการอุดตันของระบบท่อระบายน้ำตาก็จะส่งผลให้มีน้ำตาเอ่อล้นที่บริเวณดวงตาได้
ท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก เกิดจากสาเหตุอะไร?
ในเด็กทารกที่ท่อน้ำตาอุดตัน ส่วนใหญ่มักเกิดจากลิ้นเปิดปิดในท่อน้ำตาไม่เปิด โดยมีพังผืดบาง ๆ มาขวางอยู่ จึงทำให้น้ำตาเอ่อเข้าไปในลูกตาและเอ่อออกมาบริเวณดวงตาของเด็กในที่สุด (ปกติแล้วพังผืดนี้จะทะลุออกเองได้ในช่วงครบกำหนดคลอดหรือหลังจากนั้นไม่กี่เดือน) โดยธรรมชาติแล้ว ภาวะนี้ในเด็กส่วนใหญ่มักจะมีอาการดีขึ้นเอง แต่ในกรณีที่เป็นแล้วไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง อาการที่เป็นอยู่ก็ไม่สามารถหายได้เอง เมื่อน้ำตาที่ขังอยู่ในตานาน ๆ มีเชื้อโรคเข้ามาเจริญเติบโตก็จะเกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาจลุกลามต่อไปและเข้าไปในเยื่อบุตาและกระจกตา ทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบและกระจกตาอักเสบได้ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการมีเยื่อเมือกและเซลล์ที่อยู่ในน้ำคร่ำขณะอยู่ในครรภ์มารดา เข้าไปอุดตันอยู่ภายในท่อน้ำตา หรือเกิดจากเยื่อตาขาวอักเสบเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียในขณะคลอดทำให้มีขี้ตาลงไปอุดได้ด้วย
ทำความรู้จักกับทางเดินท่อน้ำตา
น้ำตาของคนเราจะมีการหลั่งออกมาจากต่อมน้ำตาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ส่วนบริเวณหัวตาจะมีรูเปิดท่อระบายน้ำตาอยู่ 2 รู ที่ขอบของเปลือกตาบนและล่าง ซึ่งท่อระบายน้ำตานี้จะทำหน้าที่เป็นรูระบายน้ำ ท่อน้ำตาเล็ก ๆ ทั้ง 2 รูนี้จะรวมกันเป็นท่อเดียวและเชื่อมต่อกับถุงน้ำตา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นถังพักน้ำ และจากถุงน้ำตาจะมีท่อระบายน้ำตา ซึ่งเป็นท่อยาวที่ผ่านลงมาทางกระดูกโหนกแก้มและมาเปิดที่ภายในจมูก และไหลผ่านลงคอตามลำดับ (ใช้อธิบายว่าทำไมหลังจากหยอดยาหยอดตาบางชนิดไปสักพักหนึ่ง จะรู้สึกขมในลำคอ) ซึ่งท่อตรงส่วนนี้เองเป็นตำแหน่งที่พบการอุดตันได้บ่อยที่สุด และรักษาให้กลับคืนสภาพได้ยากที่สุด
ท่อน้ำตาอุดตันในทารก..สังเกตได้อย่างไร?
โดยทั่วไป ทารกจะเริ่มมีการสร้างน้ำตาในช่วง 2 สัปดาห์แรกของชีวิตขึ้นไป หากพบว่ามีการอุดตันของระบบท่อระบายน้ำตา พ่อแม่จะสังเกตได้ว่า ลูกมีอาการ ตาแฉะ ในตาข้างที่อุดตัน และในบางรายอาจมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน ทำให้มีขี้ตาเป็นมูกปนหนองได้
หากปล่อยทิ้งไว้ การอุดตันจะส่งผลอันตรายอย่างไรบ้าง?
ส่วนมากไม่เป็นอันตราย การอุดตันทำให้น้ำตา เมือก และเชื้อโรคขังอยู่ในท่อน้ำตา เมื่อเกิดอาการน้ำตาไหลจนรำคาญ บางรายอาจเกิดการอักเสบเป็นหนองได้
การรักษาท่อน้ำตาอุดตันในทารก
เด็กแรกเกิดสามารถหายได้เองถึงร้อยละ 90 โดยไม่จำเป็นต้องรักษา ส่วนรายที่ไม่หายเอง การรักษาให้ได้ผลโดยการนวดบนท่อน้ำตาเพื่อให้เยื่อที่ปิดอยู่ที่ปลายท่อทะลุออกไป
ขั้นตอนการนวดบริเวณหัวตา
- ล้างมือให้สะอาดก่อนนวด
- การนวดนั้นใช้นิ้วที่ถนัดกดลงที่บริเวณหัวตา ทิศทางเข้าหาสันจมูกและลงมาด้านล่าง
- นวดรอบละ 10 ถึง 20 ครั้ง วันละ 2 ถึง 3 รอบ
- ต้องนวดด้วยแรงที่พอเหมาะ
- ช่วงเวลาที่นวดได้ผลดี คือเวลาที่เด็กทานนม ซึ่งแรงดันที่นวดจะไปดันให้แผ่นเนื้อเยื่อที่ปิดอยู่ทะลุออก
- กว่า 90% มักตอบสนองดีต่อการนวดและการใช้ยาหยอดปฏิชีวนะควบคู่กัน
การนวดบนท่อน้ำตาจะได้ผลดีมากในขวบปีแรกหากนวดได้ถูกวิธี หลังขวบปีแรกได้ผลน้อยลง และมักต้องรักษาด้วยการแยงท่อน้ำตา ซึ่งต้องดมยาสลบ จึงควรรอให้เด็กโตพอจนปลอดภัยก่อนจึงจะเริ่มดมยาได้ ซึ่งวิธีนี้ต้องให้วิสัญญีแพทย์เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง ถ้าแยงท่อน้ำตาแล้วไม่หาย วิธีต่อไปคือ การผ่าตัดทำทางระบายน้ำตาใหม่
สำหรับการผ่าตัดท่อน้ำตานั้นมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดผ่านจากผิวหนังบริเวณหัวตาตามแนวฐานของจมูก โดยจะมีรอยแผลโดยประมาณ 1 เซนติเมตร อีกวิธีที่นิยมกันในปัจจุบันคือ การผ่าตัดผ่านทางรูจมูก ส่วนวิธีล่าสุดที่ทำกันคือ การใช้เลเซอร์ผ่าตัดผ่านทางท่อน้ำตา ซึ่งก็ให้ผลดี
การดูแลลูกน้อยหลังการแยงเปิดท่อน้ำตา
- หยอดยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
- บางรายอาจต้องมีการนวดหัวตาต่อสักระยะเพื่อป้องกันมิให้อุดตันซ้ำ
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการแยงเปิดท่อน้ำตา
- อาจมีเลือดออก
- กรณีที่แทงไม่สำเร็จ ต้องรักษาโดยพยายามใส่ท่อระบายช่วย
ข้อดีของการเปิดท่อน้ำตา
- เด็กหายจากอาการตาแฉะ
- ป้องกันขอบตาอักเสบเรื้อรัง
แม้ท่อน้ำตาอุดตันในเด็กจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ และโรคนี้ก็ไม่ได้เป็นโรคที่รุนแรงอะไร คุณพ่อคุณแม่จึงอย่าเป็นกังวลมากนัก ซึ่งเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลด้วยตัวเองได้ เพียงแต่สิ่งสำคัญคือ ถ้าพบว่าเจ้าตัวเล็กมีน้ำตาเอ่อคลอในดวงตาก็ควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับคำแนะนำในการปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยเฉพาะวิธีการนวดบริเวณหัวตา ควรได้รับคำแนะนำจากจักษุแพทย์ก่อนทุกครั้ง ไม่ควรนวดบริเวณหัวตาเอง เพราะอาจทำได้ไม่ถูกวิธีได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ลูกมีขี้ตามาก จักษุแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
แต่นอกจากท่อน้ำตาอุดตันแล้ว ก็ยังมีโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เด็กมีอาการน้ำตาเอ่อล้นได้ เช่น เยื่อบุตาขาวอักเสบ สิ่งแปลกปลอมตาค้างในตา และต้อหินในวัยเด็ก ดังนั้น หากลูกมีอาการข้างต้น ควรได้รับการตรวจอย่างละเอียด และรักษาโดยจักษุแพทย์อย่างต่อเนื่องนะคะ ด้วยความเป็นห่วงจาก ทีมแม่ ABK
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แม่เตือนแม่! ระวัง ลูกเป็นหวัด มีน้ำมูก ตาบวม เสี่ยงเป็นไซนัสอักเสบลงตา
สุดยอด!แม่สังเกตจนรู้ ลูกไม่ได้เป็น ตากุ้งยิง แท้จริงคือชีสต์
เบบี๋ขี้ร้อน ใส่ชุดบาง เปิดพัดลมให้ตลอด เสี่ยง “ปอดบวม “ไหม?
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท, medthai.com, รศ. นพ. ทวีกิจ นิ่มวรพันธุ์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่