ไวรัสโรตา / ไวรัสโรต้า เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของโรคลำไส้อักเสบในทารกและเด็กเล็ก พบบ่อยในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือน – 2 ขวบ ทำให้เกิดอาการอาเจียนและท้องร่วงรุนแรง เสี่ยงต่อการขาดน้ำ ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค คุณพ่อคุณแม่สามารถปกป้องลูกน้อยด้วย วัคซีนโรต้า ตั้งแต่อายุ 2 เดือน
ในประเทศไทยพบว่าเด็กอายุ 1 ขวบ เป็นโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าร้อยละ 60 และเด็กอายุ 2 ขวบ เป็นโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าถึงร้อยละ 80 – 90 ซึ่งโรคนี้พบได้ทุกฤดู โดยเฉพาะฤดูหนาวในประเทศเขตอบอุ่น และเขตร้อน เช่น ประเทศไทย
ไวรัสโรตา เป็นเชื้อที่ติดต่อได้ง่ายมาก ชอบแฝงตัวอยู่ตามของเล่นหรือสิ่งของ เมื่อเด็กจับแล้วนำมือเข้าปากก็ติดเชื้อได้แล้ว ซึ่งเชื้อไวรัสโรต้าค่อนข้างทน และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายวัน ซึ่งหากลูกน้อยนำสิ่งของหรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคเข้าทางปากก็จะทำให้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าไปได้อย่างง่ายดาย
อาการที่บ่งบอกว่าลูกน้อยติดเชื้อ ไวรัสโรต้า
- หลังจากลูกน้อยได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการเริ่มต้นด้วยการมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งไข้อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส และอาเจียนซึ่งอาจมากถึง 7 – 8 ครั้งต่อวัน กรณีที่อาการไม่รุนแรง อาการไข้และอาเจียนมักจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน
- อาการที่พบได้บ่อยคือ อาการปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือถ่ายเป็นฟองหลายๆ หน บางคนอาจมีน้ำมูกไหลและไอร่วมด้วย อาการท้องเสียอาจเป็นนานได้ถึง 7-10 วัน
ไวรัสโรต้า ไม่มียาหรือการรักษาโดยเฉพาะ เพียงดูแลตามอาการก็จะดีขึ้นจนหายไปได้เอง หากอาการรุนแรง จนทำให้กินอาหารไม่ได้ ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง อาจนำไปสู่ภาวะช็อก และเสียชีวิตได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีช่วยเหลือลูกเบื้องต้นก่อนพาลูกไปหาหมอ
- ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ที่เหมาะสำหรับเด็กท้องเสีย อาจจะเป็นชนิดน้ำสำเร็จรูปหรือผงเกลือแร่ละลายน้ำต้มสุกก็ได้
- ให้ลูกจิบหรือดื่มน้ำเกลือแร่ทีละน้อยแต่บ่อยๆ ไม่ควรให้ลูกดื่มครั้งละมากๆ เพราะจะอาเจียนหรือถ่ายเหลวออกมาหมด
- ไม่ควรใช้น้ำอัดลมและน้ำเกลือแร่ชนิดขวดสำหรับนักกีฬาผสมให้ลูกดื่ม เพราะปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่ไม่เหมาะสมกับเด็ก
- ถ้าลูกมีภาวะขาดน้ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง คือ นอนซึม ไม่เล่น ไม่ร่าเริงเหมือนตามปกติ ปากแห้งมาก ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะสีเหลืองเข้ม เบ้าตาโหล ให้รีบพาลูกส่งโรงพยาบาลทันที
วิธีการป้องกันลูกน้อยจากเชื้อไวรัสโรต้าที่สำคัญ คือ
- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกันได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะติดเชื้อไวรัสโรตาก็จะไม่มีอาการหรือมีน้อย เพราะภูมิคุ้มกันในนมแม่ช่วยในการกำจัดเชื้อได้
- ล้างมือให้ลูกน้อยบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
- รักษาสุขอนามัยของสมาชิกในบ้าน และบริเวณที่ลูกชอบเล่น รวมถึงหมั่นล้างของเล่นเสมอๆ
- เตรียมอาหารของลูกน้อยให้สุก สะอาด ถูกสุขลักษณะ โดยการผ่านความร้อน
- การรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า เป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความปลอดภัยสูง สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้