แม้อาการชักในทารกไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่สำหรับพ่อแม่มือใหม่หลายท่าน เพียงแค่ได้ยินคำว่า “ชัก” ก็คงตกอกตกใจกันบ้างใช่ไหมคะ เราจะมาเจาะลึกอาการ “ชัก” ในเบบี๋ กับ พญ. พิชญา ไพศาล กุมารแพทย์ด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ว่าอาการชักแบบไหนที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง และเมื่อลูกมีอาการชัก ควรทำอย่างไร มาเริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ
สาเหตุของอาการชักในทารกคือ?
- พยาธิสภาพในสมองเฉียบพลันจากสาเหตุต่างๆ เช่น การติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมอง เลือดออกในสมอง สมองขาดเลือด เนื้องอก หรือได้รับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
- พยาธิสภาพในสมองที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น การพัฒนาการของเนื้อสมองผิดปกติ ทั้งจากพันธุกรรมหรือจากภาวะผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์
- มีภาวะเสียสมดุลของน้ำตาลหรือเกลือแร่บางชนิดในเลือด
- โรคลมชัก ที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม
- ภาวะชักจากไข้สูง ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กทารกอายุ 6 เดือนถึงเด็กอายุ 5 ปี
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโรคลมชักส่วนหนึ่งที่ตรวจแล้วไม่พบสาเหตุอีกด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาวะชักจากไข้สูงจะพบได้บ่อยและไม่อันตราย ถ้าลูกมีไข้แล้วชักก็ควรพาไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุเสมอ
อันตรายจากอาการชักมีอะไรบ้าง?
อาการชักส่วนใหญ่มักหยุดได้เองภายในเวลาไม่กี่นาที จึงมักไม่ทำให้เกิดอันตรายโดยตรง แต่ผลกระทบจากการชักพบว่าอาจเกิดจาก
- การบาดเจ็บขณะชัก เช่น ชักแล้วล้มศีรษะฟาดพื้น ชักขณะทำกิจกรรม เช่น ว่ายน้ำ
- การบาดเจ็บจากการช่วยเหลือไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาของแข็งเช่น ช้อน หรือนิ้วไปงัดปากลูกเพื่อไม่ให้กัดลิ้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะอาจไปกระตุ้นให้เกิดการสำลักแล้วหยุดหายใจได้ หรืออาจทำให้ฟันหักไปอุดหลอดลมเสียชีวิตได้ การอุ้มลูกขึ้นมาเขย่าๆ หรือการกดปั๊มหัวใจ ก็อาจทำให้กระตุ้นการสำลักได้เช่นกัน
- การชักซ้ำๆ หรือภาวะชักต่อเนื่องที่นานเกิน 30 นาที จะส่งผลต่อการทำงานของร่างกายทุกระบบ อันนี้เป็นภาวะที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน
อาการชักในเบบี๋เป็นอย่างไร?
การชักในทารกที่พบบ่อย คือ การเกร็งหรือเกร็งและกระตุกทั่วตัว หมดสติ เรียกไม่รู้สึกตัว ตาเหลือก ซึ่งส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่เห็นก็มักจะบอกได้ว่าเป็นอาการชัก แต่ในเด็กทารกจะมีอาการชักบางลักษณะที่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้และปล่อยผ่านไป แต่หากเป็นบ่อยๆ จะส่งผลต่อการมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติได้ด้วย ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นอาการเหล่านี้ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เช่น
- ชักสะดุ้ง ชักผวา เกิดในระยะเวลาสั้นๆ ดูคล้ายอาการสะดุ้งเวลาตกใจ เกิดซ้ำหลายๆ ครั้ง
- ชักเหม่อ เช่น กำลังเล่นอยู่ จู่ๆ ลูกก็นิ่งไป ไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองเป็นระยะเวลาสั้นๆ
- ชักตัวอ่อน อาจจะทรุดลงทันที หรือมีคอตกแขนตกทันที
- การกระตุกหรือเกร็งแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมา โดยไม่ได้เป็นทั้งตัว
เมื่อลูกเบบี๋ชัก พ่อแม่ช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง?
อาการชักส่วนใหญ่หยุดเองได้ในเวลาไม่กี่นาที สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ช่วยได้คือ ระมัดระวังไม่ให้เกิดอันตรายจากการชัก จัดท่าลูกในท่านอนตะแคงเพื่อลดการสำลัก และไม่เอาอะไรใส่ปากลูกเด็ดขาด ถ้าหยุดชักแล้วอาการปกติดี ก็ค่อยพาลูกไปพบแพทย์ แต่ให้ระวังการชักที่นานเกิน 5 นาทีมักไม่หยุดเอง กรณีนี้ต้องพาไปโรงพยาบาลทันที
อาการชักจากไข้สูงเกิดจากอะไร? ทำให้พัฒนาการช้าจริงหรือ?
สาเหตุไม่แน่ชัด อาจเกิดจากเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอย่างรวดเร็วส่งผลต่อการส่งสัญญาณประสาท ปัจจุบันก็พบว่าเกี่ยวข้องการความผิดปกติทางพันธุกรรมร่วมด้วย ซึ่งอาการชักจากไข้สูงนั้นจากการศึกษาพบว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อระดับสติปัญญา ความสามารถในการเรียนรู้ และพฤติกรรมของเด็ก และมักเกิดกับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปีเท่านั้น จึงไม่ต้องเป็นกังวลมากค่ะ เพราะเมื่อเด็กอายุเกิน 5 ปี เขาจะหายได้เอง
แต่หากลูกมีประวัติชักจากไข้ซ้ำหลายๆ ครั้ง และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคลมชัก หมอจะทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เนื่องจากอาจมีโอกาสเป็นโรคลมชักได้มากกว่าคนทั่วไป