รู้ได้อย่างไรว่าลูกกินอิ่ม ใช้สูตรคำนวณปริมาณกินนมช่วยสิ - Amarin Baby & Kids
รู้ได้อย่างไรว่าลูกกินอิ่ม

รู้ได้อย่างไรว่าลูกกินอิ่ม ใช้สูตรคำนวณปริมาณกินนมช่วยสิ

Alternative Textaccount_circle
event
รู้ได้อย่างไรว่าลูกกินอิ่ม
รู้ได้อย่างไรว่าลูกกินอิ่ม

สังเกตตรงไหน รู้ได้อย่างไรว่าลูกกินอิ่ม ลูกอิ่มแน่ หรือแค่หลับกันนะ แม่จ๋ามาไขข้อข้องใจ ลองใช้สูตรคำนวณปริมาณการกินนมของเด็กแรกเกิด-1ปี กันดูดีไหม

รู้ได้อย่างไรว่าลูกกินอิ่ม ?ใช้สูตรคำนวณปริมาณการกินนมช่วยสิ!!

ปัญหาสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่เริ่มความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือแม้แต่การเลี้ยงลูกด้วยนมผงนั้น ปัญหาหนึ่ง คือ การไม่แน่ใจว่าลูกน้อยได้รับน้ำนมเพียงพอแล้วหรือยัง เนื่องจากคุณแม่ไม่สามารถรู้ได้ถึงปริมาณน้ำนมของเราที่ผลิตออกมา เวลาลูกน้อยดูดจากเต้า หรือความไม่แน่ใจว่าควรชงนมปริมาณเท่าไหร่กันแน่ ตามสัดส่วนข้างกล่องนมดูจะมากไปหรือเปล่า ยิ่งโดยเฉพาะบางบ้านที่ลูกเลี้ยงง่าย ชอบหลับเวลาให้นม หรือในทางกลับกันที่ลูกน้อยร้องไห้บ่อย ทำให้สงสัยว่าเป็นเพราะลูกยังกินไม่อิ่มหรือเปล่านะ ให้กินนมบ่อยเกินไปจะดีไหม จะเป็น Overfeeding หรือเปล่า

รู้ได้อย่างไรว่าลูกกินอิ่ม
รู้ได้อย่างไรว่าลูกกินอิ่ม

วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK ร่วมไขข้อข้องใจให้แก่คุณแม่ทั้งหลาย จะได้สบายใจในการเลี้ยงป้อนนมลูก ด้วยเช็กลิสต์ง่าย ๆ ไว้คอยสังเกตลูกว่าได้รับน้ำนมเพียงพอ ไม่น้อยไปหรือมากเกินไป เพราะคุณแม่ทุกคนก็คงอยากให้ลูกน้อยเติบโตสมวัยกันอย่างแน่นอน

บ้านนี้นอนเยอะ กินน้อย ???

อย่าพึ่งด่วนสรุปว่า การที่วัน ๆ ลูกน้อยของคุณแม่เอาแต่นอน ไม่ค่อยตื่นขึ้นมาทานนม หรือว่าดูดนมได้ไม่นานก็หลับต่ออีกแล้ว แบบนี้ลูกจะได้รับสารอาหารครบ ได้รับปริมาณน้ำนมตามเกณฑ์หรือไม่นั้น คุณแม่คงต้องสังเกตจากส่วนอื่นเป็นองค์ประกอบด้วย ดังนี้

เช็กดูว่า…ลูกได้นมแม่เพียงพอแล้วหรือยัง?

  • น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ 30 กรัม/วัน
  • ปัสสาวะชุ่มผ้าอ้อม สีเหลืองใส วันละ 6-8 ครั้ง
  • อุจจาระสีเหลืองวันละ 2-3 ครั้ง เด็กที่กินนมแม่ อาจบ่อยได้ถึง 8-10 ครั้งต่อวันตามจำนวนมื้อนมที่กิน
  • ดูอารมณ์ดี ไม่ร้องโยเย
  • นอนหลับนาน 2-3 ชั่วโมง
  • ได้ยินเสียงกลืนนมของลูกขณะให้นมลูก
  • ดูดนมช้าลง นั่นเป็นอาการที่แสดงว่าลูกเริ่มอิ่ม

หากลูกน้อยมีอาการเหล่านี้ ก็เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า ลูกได้รับปริมาณน้ำนมเพียงพอต่อร่างกายแล้ว แม้ว่าในบางครั้งคุณแม่อาจจะเห็นว่าทำไมลูกถึงใช้เวลาทานนมน้อยกว่าเด็กคนอื่น นั่นเพราะเด็กแต่ละคนความต้องการนมไม่เท่ากัน ปริมาณการให้นมกับลูกน้อย ขึ้นอยู่กับ น้ำหนัก พฤติกรรมการเคลื่อนไหว การเผาผลาญและการดูดซึมของร่างกายก็มีส่วนกำหนดปริมาณน้ำนมโดยอัตโนมัติ

หลับสบาย อาการแสดงว่าลูกกินนมเพียงพอ
หลับสบาย อาการแสดงว่าลูกกินนมเพียงพอ

ทราบหรือไม่ว่าลูกสามารถดูดนมแม่ในแต่ละข้างหมดเต้าภายใน 5-7 นาทีเลยทีเดียว จากนั้นลูกจะเริ่มผ่อนจังหวะการดูดนมช้าลง ซึ่งน้ำนมที่ลูกดูดทั้ง 2 เต้านั้น รวม ๆ แล้วก็จะมีปริมาณที่พอเพียงสำหรับลูก จะสังเกตได้ว่าเมื่อลูกดูดนมทั้ง 2 ข้างจนหมด เขาจะแสดงท่าทีพอใจและอารมณ์ดีขึ้น ดูมีความสุขหลังจากกินนม หลังจากนั้นก็ดูดนมช้าลง นั่นแปลว่าเขาอิ่มแล้ว ดังนั้นคุณแม่จึงไม่ควรกังวลว่าลูกจะดูดนมแม่ได้น้อย หรือลูกจะไม่อิ่ม

บ้านนี้ร้องบ่อย ร้องแล้วป้อนนมเลยดีไหม??

เด็กทุกคนมีพฤติกรรม และอุปนิสัยแตกต่างกันไป พฤติกรรมการกินก็เช่นกัน เมื่อครั้งลูกยังเล็กไม่สามารถพูดจาสื่อสารกับคุณแม่ได้ มีเพียงแค่การร้องไห้แสดงออกถึงความไม่สบายตัว หรือต้องการสิ่งใด ๆ แบบนี้คุณแม่จึงอาจเข้าใจไปได้ว่าที่ลูกร้องไห้เพราะหิว จึงคอยป้อนนมทุกครั้งเวลาลูกร้องไห้ พอลูกกินนมเข้าไปปริมาณมากท้องของลูกก็โป่งตึง ท้องโต ไม่สุขสบาย อึดอัดท้อง ลูกอาจร้องไห้ไปด้วย ถ้าร้องไห้หนักอาจทำให้อาเจียนออกมา แหวะออกมา พฤติกรรมดังกล่าวเรียกว่า Over feeding

เช็กดูว่า…ลูกมีอาการ Over feeding หรือไม่?

  • บิดตัว เอี้ยวตัว เหยียดแขนเหยียดขา ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าด
  • มีเสียงครืดคราดในคอ คล้ายมีเสมหะในคอ เสียงดังกล่าวเกิดจากนมที่ดื่มเข้าไปล้นขึ้นมาที่คอหอยแล้ว ทำให้ลูกมีท่าทางคล้ายจะอาเจียน แต่ไม่อาเจียนออกมา
  • ท้องโป่งตึง  ตลอดเวลา ท้องไม่ยุบ
  • ร้องกวน ร้องบ่อย ไม่สุขสบาย ลูกอาจจะเงียบช่วงแรกเวลากินนม แต่เมื่อดูดไปไม่นาน ก็กลับมาร้องไห้อีกครั้ง
  • สำรอกนม ทางปาก และจมูก

3 วิธีดูแลลูกห่างไกล Over feeding

  1. ให้ลูกกินจนอิ่ม ในปริมาณที่เหมาะสมตามน้ำหนักตัว โดยสามารถคำนวณได้จากสูตรปริมาณการกินนม หากลูกร้องขอเพิ่มอีก  ให้เบี่ยงเบนความสนใจลูก เล่นกับลูก อุ้มเดิน ดูดจุกหลอก
  2. หากลูกร้องมาก ต้องพยายามปลอบให้ลูกหยุดร้อง เพราะหากลูกร้องไห้หนักขึ้น อากาศจะเข้าไปในกระเพาะอาหารทำให้ลูกท้องอืดมากขึ้น แน่นอึดอัดมากขึ้น ทรมานมากขึ้น
  3. เด็กที่แหวะนมหรืออาเจียน แนะนำให้คุณแม่อุ้มสักระยะ 30 นาทีอย่าให้นอนราบในทันที เพราะการอาเจียนบ่อยทำให้กรดจากกระเพาะอาหารย้อนออกมาทำให้หลอดอาหารเป็นแผลได้
รู้ได้อย่างไรว่าลูกอิ่ม จึงป้อนทุกครั้งที่ร้องไห้
รู้ได้อย่างไรว่าลูกอิ่ม จึงป้อนทุกครั้งที่ร้องไห้

คุณแม่ที่ลูกมีพฤติกรรมร้องหิวตลอด ไม่ควรใจอ่อนเ พราะการที่ลูกเรามีนิสัยกินแบบ Over feeding นั้น ส่วนหนึ่งมาจากตัวเราเอง เนื่องจากแม่ทนเห็นลูกร้องไม่ได้ สงสาร จึงตอบสนองลูกด้วยการให้กิน ลูกก็จดจำโดยอัตโนมัติว่า เมื่อเขาร้องแล้วจะได้กินนมเสมอ โดยในบางครั้งลูกอาจไม่ได้หิว แต่เพียงแค่ติดเต้าต้องการได้ดูดหัวนม หรือจุกนมเท่านั้น เพราะมันทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย ลูกจึงเรียกร้องขอดูดตลอดเวลา ทำให้ลูกมีพฤติกรรมกินจุ โดยเฉพาะ เด็กที่กินนมผง กินมากกระเพาะขยายตัว กินน้อย ๆ ไม่เป็น สุดท้ายอาจนำไปสู่โรคอ้วนในอนาคตได้

สูตรคำนวณปริมาณการกินนมของเด็กทารกแรกเกิด – 1 ปี

คุณแม่ที่ปั๊มนม ทำสต๊อก หรือชงนมผงให้ลูกกินจากขวด และต้องการทราบปริมาณที่แน่ชัดว่าควรให้ลูกกินนมวันละเท่าไหร่ จะสามารถคำนวณหาปริมาณนมที่ลูกควรกินในแต่ละวันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปริมาณการกินนมขึ้นอยู่กับการเผาผลาญพลังงานในร่างกายของเด็กแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน อาจจะกินมากหรือน้อยแตกต่างกันได้บ้าง

สูตรการคำนวณปริมาณน้ำนมลูกที่ควรได้รับ ตั้งแต่แรกเกิด – 1 เดือน  

ปริมาณน้ำนมที่ควรได้รับในหนึ่งวัน = น้ำหนักลูก(กิโลกรัม )× 150 (ซีซี) ÷ 30

ข้อแนะนำ : ควรแบ่งมื้อนมออกเป็น 6-8 มื้อต่อวัน

ตัวอย่างการคำนวณ : เด็กแรกเกิดหนัก 3 กก. เมื่อครบเดือนควรหนัก 3.6 กก. แต่คำนวณง่ายๆ โดยปัดเป็น 4 กก. คูณ 150 เท่ากับ 600 หาร 30 คือ 20 ออนซ์ (+/- ได้ไม่เกิน 4 ออนซ์) และควรเเบ่งมื้อนมเป็น 6-8 มื้อ/วัน

สูตรการคำนวณปริมาณน้ำนมลูกที่ควรได้รับ ตั้งแต่อายุ 1- 6 เดือน  

ปริมาณน้ำนมที่ควรได้รับในหนึ่งวัน = น้ำหนักลูก(กิโลกรัม )× 120(ซีซี) ÷ 30

ข้อแนะนำ : ควรแบ่งมื้อนมออกเป็น 6-8 มื้อต่อวัน

ตัวอย่างการคำนวณ : เด็กอายุ 2 เดือน หนัก 5 กก. คูณ 120 ได้ 600 หาร 30 เท่ากับ 20 ออนซ์ (+/- ได้ไม่เกิน 4 ออนซ์) โดยแบ่งมื้อนมออกเป็น 6-8 มื้อ / วัน

สูตรการคำนวณปริมาณน้ำนมลูกที่ควรได้รับ ตั้งแต่อายุ 6- 12 เดือน 

ปริมาณน้ำนมที่ควรได้รับในหนึ่งวัน = น้ำหนักลูก(กิโลกรัม )× 110(ซีซี) ÷ 30

ข้อแนะนำ : เด็ก9-11เดือน ควรแบ่งมื้อนมเป็น 4-5 มื้อต่อวันและอาหารเสริม 2 มื้อ

เด็ก 12 เดือน ควรแบ่งมื้อนมเป็น 4-5 มื้อต่อวันและอาหารเสริม 3 มื้อ

ตัวอย่างการคำนวณ : เด็กอายุ 6 เดือน หนัก 6.5 กก. คูณ 110 เท่ากับ 715 หาร 30 ปัดเป็นเท่ากับ 24 ออนซ์

(** 30 ซีซี เท่ากับ 1 ออนซ์)

สูตรคำนวณปริมาณการกินนม ตอบคำถามแม่ รู้ได้อย่างไรว่าลูกกินอิ่ม ได้ดี
สูตรคำนวณปริมาณการกินนม ตอบคำถามแม่ รู้ได้อย่างไรว่าลูกกินอิ่ม ได้ดี

สูตรการคำนวณปริมาณน้ำนมที่ลูกควรได้รับแต่ละช่วงวัยนั้น ช่วยให้เราสามารถป้อนนมลูกได้ตามปริมาณที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน เพราะความต้องการของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งจะดีกว่าการที่ยึดตามปริมาณที่แนะนำข้างกล่องนมผง ที่เป็นการกล่าวโดยรวม ทำให้บางครั้งอาจจะมีปริมาณมากเกินความต้องการของเด็ก สำหรับแม่ฟลูไทม์ ที่มีเวลาอยู่กับลูกตลอดเวลาไม่ต้องกังวลใจในเรื่องปริมาณน้ำนมที่ลูกต้องการว่าไม่สามารถวัดตวงเป็นปริมาณที่แน่นอนได้ แล้วแบบนี้จะ รู้ได้อย่างไรว่าลูกกินอิ่ม ? ก็คงต้องขอยกคำกล่าวของคุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ที่กรุณาให้ความรู้ไว้ในเพจว่า “ถ้าคุณแม่ท่านใดเป็นคุณแม่ฟลูไทม์ ลูกได้ดูดเต้าตลอด ไม่จำเป็นต้องปั๊มนมทำสต๊อก ก็มีน้ำนมให้ลูกกินได้ตลอดค่ะ” เพราะลูกสามารถกระตุ้นน้ำนมคุณแม่ได้ตลอดเวลา ไม่มีช่วงขาด ทำให้โดยมากปริมาณน้ำนมที่ร่างกายคุณแม่ผลิตมาก็จะเป็นสัดส่วนที่พอเหมาะกับลูกของเราอยู่แล้ว ตามแรงกระตุ้น แต่หากยังไม่สบายใจก็ลองเช็กลิสตามข้อด้านบนดู หรือดูจากตารางน้ำหนักตามเกณฑ์ของเด็กแต่ละช่วงวัยเพื่อความแน่ใจอีกทางก็ได้เช่นกัน

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

วิธีป้อนขวด ให้นมลูกอย่างถูกวิธี ป้องกันลูกสำลัก ลดความเสี่ยงลูกฟันผุ

เตือนแม่มือใหม่ “ป้อนนมลูกผิดวิธีผิดท่า” เสี่ยง! ลูกสำลักนม เสียชีวิต

ลูกกินเยอะ อย่าดีใจ ป้อนไม่ยั้ง เสี่ยงปอดติดเชื้อ กระเพาะพัง

เตือนป้อนน้ำส้ม น้ำผลไม้สําหรับทารก ก่อนอายุ 6 เดือน เสี่ยงลูกสำลักเสียชีวิตได้!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up