ทารกหลังคลอดจนถึง 6 เดือน ควรกินนมแม่ เพื่อให้ได้สารอาหารอย่างครบถ้วน ไม่ต้องเสริมอาหาร อย่าป้อนน้ำ ระวัง! ภาวะน้ำเป็นพิษ ในทารก
ภาวะน้ำเป็นพิษ ในทารก
จากความเชื่อโบราณ หรือคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของผู้หลักผู้ใหญ่ ทำให้พ่อแม่อาจลังเลใจที่จะให้ทารกกินน้ำ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ทารกในวัย 6 เดือน สามารถได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน มีสุขภาพที่แข็งแรง โดยไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำ และการให้ทารกดื่มน้ำยังเพิ่มความเสี่ยงภาวะน้ำเป็นพิษในทารกได้อีกด้วย
6 เดือนแรกของชีวิต น้ำนมจากแม่ก็เพียงพอ
ตั้งแต่แรกเกิดจวบจน 6 เดือน ทารกควรกินนมแม่แต่เพียงอย่างเดียว สิ่งนี้ยืนยันโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟ ทั้งยังสนับสนุนให้ทารกหลัง 6 เดือน กินนมแม่เสริมจากมื้ออาหาร เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงไปจนโต นมแม่เป็นอาหารที่ย่อยง่าย ทั้งยังสร้างขึ้นมาให้เหมาะสมที่สุดกับสภาพร่างกายของทารก นับตั้งแต่แรกเกิด-6 เดือน เป็นช่วงเวลาสำคัญต่อร่างกายและสมองของทารก นมแม่จึงจำเป็นตั้งแต่ชั่วโมงแรกของชีวิต การให้นมยังได้โอบกอด เล่นกับลูก ประสานสายตาสร้างความสัมพันธ์ เพิ่มความผูกพันสร้างสายใยระหว่างแม่กับลูก ส่งผลให้ลูกเจริญเติบโตได้ดี มีพัฒนาการทางด้านร่างกายและอารมณ์ดี
นมแม่เป็นอาหารที่เหมาะสมกับทารกมากที่สุด เพราะมีสารอาหารสำคัญ มีองค์ประกอบด้านโภชนาการ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน ทั้งยังมีเซลล์สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งจากเซลล์จากแม่ รวมถึงแบคทีเรียที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร นมแม่จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อในทารกแรกเกิด ลดอัตราการเสียชีวิต ช่วยพัฒนาระดับสติปัญญาให้เจ้าตัวน้อยฉลาดสมวัย ด้วยคุณประโยชน์มากมายขนาดนี้ จึงเรียก นมแม่ เป็นวัคซีนหยดแรกของชีวิตลูก เพราะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารก สำหรับสารอาหารสำคัญในนมแม่นั้นเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาหลังการคลอด แบ่งเป็น 3 ระยะ
-
Colostrum น้ำนมระยะที่ 1
1-3 วันแรกที่กระบวนการสร้างน้ำนมในร่างกายของแม่สร้างขึ้นมา เรียกว่า ระยะหัวน้ำนมหรือน้ำนมเหลือง เพราะมีสีออกเหลืองจากแคโรทีน ประกอบด้วยโปรตีนที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เกลือแร่ วิตามิน สารอาหารที่จำเป็น ดีต่อการเจริญเติบโตของสมองและการมองเห็นของลูก น้ำนมระยะนี้ยังมีฤทธิ์ช่วยระบายให้ร่างกายทารกขับขี้เทาออกมา
-
Transitional Milk น้ำนมระยะที่ 2
ช่วง 5 วัน ถึง 2 สัปดาห์ น้ำนมจะมีสีขาวขุ่น สารอาหารที่เพิ่มขึ้นเน้นไขมันและน้ำตาล มีปริมาณเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของร่างกายทารก
-
Mature Milk น้ำนมระยะที่ 3
หลังจากนั้นน้ำนมแม่จะมีปริมาณมากขึ้น มีสารอาหารที่สำคัญ ดังนี้
- โปรตีน ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด เพิ่มภูมิต้านทาน และเอนไซม์ที่สามารถทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรียได้
- ไขมัน กรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ DHA (Docosahexaenoic Acid) และ AA (Arachidonic Acid) มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทและการมองเห็น
- น้ำตาลแลคโตส ในนมแม่มีโอลิโกแซคคาไรด์หรือคาร์โบไฮเดรตสายสั้น (Human Milk Oligosaccharides หรือ HMOs) มากกว่า 200 ชนิด HMOs ในน้ำนมแม่ยังมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
- วิตามินและแร่ธาตุ A, B1, B2, B6, B12, C, D, E, K และแร่ธาตุซึ่งได้แก่ เหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน เป็นต้น ซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารก
- ในน้ำนมแม่ยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่ แอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ที่มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบทางเดินลำไส้ เส้นเลือด ระบบประสาท และระบบฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต
จะเห็นได้ว่า น้ำนมแม่อย่างเดียวก็มีสารอาหารครบครัน ไม่จำเป็นต้องเสริมอาหารหรือป้อนน้ำก่อนวัยอันควร ทั้งยังสามารถให้น้ำนมแม่เสริมหลังจากที่ทารกเริ่มรับประทานอาหารได้ เพื่อให้ร่างกายของลูกได้รับสิ่งดี ๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโต แต่ก็ยังมีความเชื่อที่อยากป้อนน้ำให้ทารก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ทารกเกิดอันตราย ทั้งยังทำให้ทารกเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารอีกด้วย
ความเชื่อการป้อนน้ำทารก
กรมอนามัย เคยทำการศึกษาช่วงเวลาและปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมผสมหรืออาหารอื่น พบว่า สิ่งที่พ่อแม่มักป้อนให้ลูกกินในช่วงวัยก่อน 6 เดือน ได้แก่ น้ำเปล่า โดยมีเหตุผลหรือความเชื่อ เรียงตามลำดับดังนี้
- ล้างปากทารกด้วยน้ำเปล่า ภายหลังการกินนม
- เชื่อว่าการให้ทารกกินน้ำเป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นอันตราย
- ทารกตัวเหลือง จึงให้กินน้ำเพื่อขับสารเหลือง
- คิดว่าการให้ทารกกินน้ำจะช่วยเรื่องระบบขับถ่าย
- อยากให้ทารกผิวชุ่มชื้น
- กลัวว่าทารกจะคอแห้ง หิวน้ำ
- กินน้ำป้องกันอาการลิ้นเป็นฝ้า
- เมื่อทารกสะอึกจึงป้อนน้ำ เพราะคิดว่ากินได้เหมือนผู้ใหญ่
- กินน้ำบำรุงสายตา
- กินยาเลยให้กินน้ำตาม
ความเชื่อเหล่านี้เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ซ้ำยังก่อให้เกิดอันตรายกับทารกอีกด้วย โดยมีข่าวมากมายออกมาว่า ความเชื่อเรื่องการให้ทารกดื่มน้ำจะช่วยขจัดสารเหลืองได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงค่ะ
เพจนมแม่แฮปปี้ ได้แชร์โพสต์เรื่องอันตรายของการป้อนน้ำ พร้อมกับให้ความรู้เรื่องตัวเหลืองว่า เกิดจากเม็ดเลือดแดงที่แตกตัว แต่ละคนเหลืองมากน้อยไม่เท่ากัน รวมถึงตับของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงขจัดสารเหลืองออกจากร่างกายได้ช้า การป้อนน้ำไม่ช่วยให้หายเหลือง การแก้ปัญหาตัวเหลือง ไม่ควรเสริมน้ำหรือเสริมนมผง แต่ให้ลูกกินนมแม่บ่อยๆ ดูดจริงจัง ไม่ตอด วันละ 8-10 มื้อ พร้อมบอกอันตรายของการป้อนน้ำว่า ทารกจะมีน้ำหนักน้อยมาก การได้รับน้ำมากเกินไป สามารถทำให้เกลือแร่ในร่างกายเจือจางลง และเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ ชัก สมองบวมและเสียชีวิตได้
ข้อมูลจาก : facebook.com/HappyBreastfeeding
อันตรายจากการป้อนน้ำทารกก่อน 6 เดือน
ทารกเมื่อได้รับน้ำเข้าไปในร่างกายจะทำให้กินนมแม่ได้น้อยลง เพราะกระเพาะทารกยังมีขนาดเล็ก กินได้ไม่มาก เมื่อกินนมแม่ได้น้อย ร่างกายทารกก็ได้รับสารอาหารสำคัญจากน้ำนมแม่น้อยลงไปด้วย อาจรุนแรงถึงขั้นขาดสารอาหาร น้ำยังไปละลายน้ำย่อยทำให้ทารกท้องอืด น้ำยังไปเจือจางสารต้านเชื้อรา และแบคทีเรียตามธรรมชาติที่เคลือบในปากหลังจากกินนมแม่ ส่งผลต่อการต้านเชื้อโรคในลำไส้ ทำให้ติดเชื้ออักเสบได้ง่าย นอกจากนั้น น้ำดื่มที่ไม่สะอาดยังเพิ่มความเสี่ยงอาการท้องร่วงของทารก หรืออาจติดเชื้อได้ ถ้าลูกอิ่มไม่ยอมกินนม น้ำนมแม่ก็จะลดลง ส่งผลต่อการผลิตน้ำนมของแม่ตามไปด้วย
ภาวะน้ำเป็นพิษ (water intoxication)
การให้ทารกดื่มน้ำยังอาจทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษในทารกได้อีกด้วย เพราะระบบย่อยอาหารของทารกยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เพราะอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของทารกยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะไตของทารก ที่ยังกรองของเหลวได้ไม่เต็มที่ น้ำจะไปทำให้โซเดียมในร่างกายทารกเจือจาง ซึ่งโซเดียมนี้เป็นแร่ธาตุสำคัญ การดื่มน้ำจึงก่อให้เกิดความผิดปกติของสารน้ำ ทำให้น้ำเข้าไปคั่งในเซลล์
อาการสำคัญที่ต้องระวังว่าทารกเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ
- ทารกที่กินน้ำเข้าไปอาจดูซึม เหม่อ ไม่เล่นเหมือนเคย
- การหายใจของทารกจะผิดปกติ หอบ ๆ หายใจเหนื่อย
- กล้ามเนื้อทารกจะอ่อนแรง หรือมีลักษณะเกร็ง เป็นตะคริว
- หากน้ำที่ดื่มเข้าไปคั่งในร่างกายมาก ๆ ทารกอาจชัก มีอาการกระตุก
ความรุนแรงของภาวะน้ำเป็นพิษ (water intoxication) ส่งผลให้ทารกสมองบวม ปอดบวม อาจมีอาการโคม่า ถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
ไม่เพียงแต่ทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือนเท่านั้นที่ต้องระวังภาวะน้ำเป็นพิษ หากอายุเกิน 6 เดือน หรือผู้ใหญ่ดื่มน้ำมากเกินไปก็เสี่ยงต่อภาวะน้ำเป็นพิษได้เช่นกัน จึงไม่ควรดื่มน้ำครั้งละมาก ๆ ควรค่อย ๆ จิบน้ำจะดีกว่า
ทารกในวัย 6 เดือนจึงไม่ควรดื่มน้ำ เพราะในน้ำนมแม่มีน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทารกแล้ว เว้นเสียแต่ว่าลูกมีอาการเจ็บป่วยที่แพทย์แนะนำให้ดื่มน้ำ ซึ่งต้องเป็นน้ำต้มสุก และดื่มในปริมาณที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูล : mgronline.com, นมพ่อแบบเฮฟวี่ และ multimedia.anamai.moph.go.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม