เกิดอะไรขึ้นบ้างกับลูกน้อย หลังคลอด …เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้หญิงอย่างเราจะกลัวการเจ็บท้องคลอดลูก
แต่ทันทีที่ลูกคลอดออกมาสู่โลกกว้างและเราได้เห็นเขาเป็นครั้งแรกก็ทำให้เราปลาบปลื้ม เต็มไปด้วยความรักและความยินดีจนลืมความเจ็บปวดไปทันที และสำหรับบรรดาคุณแม่มือใหม่ก็คงอดตื่นเต้นไม่ได้กับการมีลูกในครั้งแรก เราไปดูกันดีกว่าค่ะ เมื่อเวลานั้นมาถึงคุณแม่และลูกน้อยที่คลอดเสร็จต้องเจอกับอะไรบ้าง
- สิ่งที่รู้ ๆ กันแน่ ๆ หากคุณจะคลอดลูกโดยวิธีธรรมชาติคือการปวดท้องคลอด ความรู้สึกบางคนก็บอกว่าเหมือนปวดท้องประจำเดือนแต่มากกว่าประมาณ 10 เท่า บางคนก็บอกว่ามันเหมือนปวดท้องอยากถ่ายอุจจาระ เมื่อปากมดลูกเปิดเต็มที่ก็ถึงเวลาคลอดลูก ณ จุดนี้ประสบการณ์แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนคลอดลูกง่าย บางคนคลอดลูกยาก แล้วแต่สภาพร่างกายและปัจจัยหลาย ๆ อย่าง
- แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะไว้ใจทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลทั้งคุณแม่และคุณลูกเป็นอย่างดีในห้องคลอด แต่การรู้กระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยหลังคลอดลูกก็จะช่วยให้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
หลังคลอด ลูกออกมาแล้ว
- สิ่งแรกที่คุณหมอทำด้วยความระมัดระวังก็คือ การตัดสายสะดือของทารกที่ลำเลียงอาหารและออกซิเจนจากรกในครรภ์มารดาสู่ลูก แต่คุณหมอจะต้องแน่ใจเสียก่อนว่า ทารกได้รับเลือดจากรกในครรภ์ที่เพียงพอและไม่เสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางและขาดธาตุเหล็ก
- หลังจากการตัดสายสะดือเสร็จสิ้นลง พยาบาลก็จะทำความสะอาดเจ้าตัวน้อยอย่างคร่าว ๆ เพื่อกำจัดเมือกที่ห่อหุ้มตัวทารก
- จากนั้นพยาบาลก็จะดูดน้ำคร่ำในปากและจมูกของทารกเพื่อเป็นการกระตุ้นและช่วยให้ทารกเริ่มหายใจ และคุณแม่ก็จะได้ยินเสียงร้องไห้ครั้งแรกของเจ้าตัวเล็ก
- ขั้นตอนต่อไปคือการตรวจคัดกรองสุขภาพของทารกแรกเกิด เพื่อเช็คอัตราการเต้นของหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบการหายใจ การตอบสนองของกล้ามเนื้อ และความซีดจางของสีผิวเด็ก ขั้นตอนนี้นับว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากหลังคลอดลูก เนื่องจากแพทย์จะตรวจพบความผิดปกติต่าง ๆ และเร่งดำเนินการรักษาต่อไปอย่างทันท่วงที ในโรงพยาบาลบางแห่งแพทย์อาจตรวจความสมบูรณ์ของทารกขณะที่อยู่ในอ้อมกอดของคุณแม่ในห้องทำคลอด แต่โรงพยาบาลบางแห่งก็มีห้องปฏิบัติการเฉพาะสำหรับทารก
- คุณหมอก็จะทำการคลอดรกเสร็จคุณหมอก็จะตรวจสอบแผล การฉีกขาดของช่องคลอด และทำการเย็บแผล ระหว่างนี้คุณพยาบาลก็มักจะนำลูกมาให้คุณแม่ดูหน้า ดูเพศ และอาจให้ลูกดูดนมครั้งแรกเพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนม