ดูแลสุขภาพอนามัยส่งเสริม พัฒนาการลูก
1.อาหารกับการเจริญเติบโต
เด็กในช่วงวัยแรกเกิด – 5 ปี การเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง จะรวดเร็วกว่าวัยอื่นๆ ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ควรเน้นการรับประทานอาหารที่มีคุณค่า และมีปริมาณ
เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะนมแม่ควรให้ตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากเป็นอาหารที่ดีที่สุดของทารก มีไขมันที่ช่วยในการพัฒนาเซลล์สมอง เป็นวัคซีนสำเร็จรูปที่ได้จากคุณแม่ ทําให้ลูกน้อยไม่ป่วยบ่อย มีระดับสติปัญญามากกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ และการพูดคุยกับลูกน้อยในขณะให้นมจะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า ช่วยส่งเสริมพัฒนาการและความมั่นคงทางอารมณ์ของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี
2.ดูแลสุขภาพปาก และฟัน
การดูแลฟันควรเริ่มตั้งแต่แรกเกิด ไม่จําเป็นต้องรอจนกระทั่งฟันนํ้านมซี่แรกขึ้น คุณพ่อ คุณแม่มีหน้าที่ในการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพปากและฟัน ทั้งในด้านการรักษาความสะอาด และการสอนให้ลูกน้อยเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดสาเหตุของฟันผุได้ง่าย ดังนั้น ควรพาลูกน้อยไปพบทันตแพทย์ครั้งแรกเมื่อฟันซี่แรกเริ่มขึ้นตอนอายุประมาณ 6 เดือน คุณพ่อ คุณแม่จะได้รับคําแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากของลูกน้อย ทั้งการทําความสะอาดช่องปากหลังรับประทานอาหาร หรือดื่มนม การพบทันตแพทย์อย่างสมํ่าเสมอ จะทำให้ลูกน้อยมีสุขภาพช่องปากที่ดี มีรอยยิ้มสดใส
3.การฉีดวัคซีนลูกน้อย
การฉีดวัคซีนลูกน้อยนั้น จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยของคุณพ่อ คุณแม่ให้มีสุขภาพที่ดี และไม่มีการติดเชื้อโรคได้ง่าย คุณพ่อ คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปรับวัคซีนตามกำหนดทุกครั้ง ตามสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อให้ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนตามกำหนด
อ่านต่อ วัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี ที่พ่อแม่ต้องรู้
4.การเล่น ออกกำลังกาย และพักผ่อน
การเล่น เป็นวิธีการเรียนรู้อย่างหนึ่งโดยธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ลูกน้อยเล่นอย่างอิสระทั้งทางกาย ความคิด และสังคม ลูกน้อยจะมีความสุขเมื่อได้เล่น โดยธรรมชาติแล้วเด็กต้องการเล่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเรียนรู้ตามธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจะช่วยส่งเสริม พัฒนาการลูก ตามวัย ทําให้ลูกน้อยเป็นคนช่างสังเกต รู้จักคิดเชื่อมโยงเหตุผล การเล่นช่วยให้ลูกน้อยพัฒนาไปสู่วิธีการดำเนินชีวิตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นำไปสู่การรู้จักรับผิดชอบต่อตนเอง เรียนรู้ระเบียบวินัย รู้จักควบคุมอารมณ์ ถ่ายทอดจินตนาการ
5.การสร้างความผูกพัน ภูมิคุ้มกันทางจิตใจ
ช่วงระยะตั้งแต่ที่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงอายุ 5 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดของการสร้างรากฐานชีวิตจิตใจของมนุษย์ นอกจากร่างกายและสมองจะเจริญเติบโตสูงสุดในช่วงนี้ ลูกน้อยยังมีความรู้สึก รับรู้สัมผัสทั้งรูป รส กลิ่น เสียง กายสัมผัส และยังเลียนแบบอย่าง ตั้งแต่แรกเกิด เด็กเล็กๆ เรียนรู้จากประสบการณ์การเลี้ยงดู และภาวะแวดล้อมได้เร็ว และฝังลึกในจิตใจ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อ คุณแม่ ก่อให้เกิดจุดเริ่มต้นของความผูกพัน ซึ่งสามารถสร้างความรัก ความผูกพันผ่านทางการให้อาหาร การสัมผัสโอบกอด การสื่อสารพูดคุย การมอง และการเล่านิทาน เล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ให้แก่ลูกน้อย ทําให้ลูกน้อยเกิดความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ และพัฒนาทักษะทางสังคม