ถึงจะยังสร้างความคุ้นเคยกับลูกได้ไม่ถึงปี แต่ทารกน้อยในวัยเกือบ 9 เดือนก็คงมีปฏิกริยา การแสดงออกทางอารมณ์ และพฤติกรรมต่างๆ ตามพื้นอารมณ์ของเขาแล้ว
ฉะนั้นถึงไม่ตั้งใจจะเปรียบเทียบ แต่คุณและสมาชิกในครอบครัวก็น่าจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ลูกน้อยของคุณเป็นเด็กที่มีพื้นอารมณ์ต่างไปจากเด็กลูกของคนข้างบ้านหรือเด็กคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเด็กวัยเดียวกัน
จุดสังเกตนิสัยเจ้าตัวเล็ก
มีงานวิจัยเกี่ยวกับลักษณะนิสัยตามพื้นอารมณ์ของทารกที่น่าสนใจ และเป็นงานที่จุดประกายให้เกิดงานวิจัยต่อๆ มา ที่ศึกษาเกี่ยวกับนิสัยของทารก เพราะเป็นการเก็บข้อมูลของทารกจำนวน 141 คนต่อเนื่องนานเป็นสิบๆ ปี โดยเริ่มต้นเก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1950 นักวิจัยได้สัมภาษณ์พ่อแม่หลังทารกลืมตาดูโลกได้ไม่นาน เป็นคำถามเกี่ยวกับปฏิกิริยาของลูกน้อยเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น อาบน้ำครั้งแรก ผ้าอ้อมที่เปียกฉี่ เมื่อกินอาหารตามวัยคำแรก เป็นต้น
จากนั้นก็ยังติดตามสอบถามเช่นนี้ไปอีกเป็นสิบๆ ปี และเมื่อเด็กๆ กลุ่มนี้เติบโตขึ้น นักวิจัยก็ได้สัมภาษณ์ครูและทดสอบเด็กๆ เพิ่มเติมด้วย
ผลสรุปจากงานวิจัยต่างๆ ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับนิสัยของทารก ชี้ให้เห็นว่าทารกจะมีลักษณะนิสัยตามพื้นอารมณ์อยู่ 9 แบบ โดยดูจาก…
• ระดับการเคลื่อนไหว : ทารกมีการเคลื่อนไหวร่างกายมาก ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายในระดับปานกลาง
• ความเป็นเวลา : ร่างกายของทารกทำหน้าที่หลักๆ แบบเป็นเวลาหรือไม่เป็นเวลา
• พุ่งเข้าใส่หรือรีรอ : ทารกดูจะสนุกกับเหตุการณ์ใหม่ๆ หรือดูจะเป็นเด็กปรับตัวช้า
• ความสามารถในการปรับตัว : ความแปลกใหม่ของเหตุการณ์หรือผู้คนจางหายไปเร็วแค่ไหน
• ระดับความรุนแรงของปฏิกิริยา : ตอนหิว ทารกร้องไห้รุนแรงแค่ไหน
• ลักษณะของพื้นอารมณ์ : โดยรวมแล้วทารกดูจะมีพื้นอารมณ์ในทางบวกหรือทางลบ เป็นเด็กเลี้ยงง่าย เลี้ยงยาก กลางๆ หรือเป็นเด็กที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว
• ความวอกแวก : กิจกรรมใหม่ทำให้กิจกรรมที่กำลังทำอยู่หยุดชะงักได้ง่ายแค่ไหน
• ความมุ่งมั่น : ทารกมุ่งมั่นกับกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ได้นานแค่ไหน
• ระดับความไวต่อสิ่งเร้า : สิ่งเร้าที่ใช้ (แสงสว่าง เสียงหรือกิจกรรม) ต้องชัดเจนแค่ไหน ทารกถึงจะตอบสนอง
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง