ทำอย่างไรดี? ลูกอาละวาด เอาแต่ใจ โมโหร้าย ตีพ่อแม่ เมื่อมีใครมาขัดใจ พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้ลูกเป็นเด็กก้าวร้าวเมื่อโตขึ้นหรือไม่? รับมืออย่างไรให้ได้ผลดี?
10 วิธีสร้างวินัยเชิงบวก : เมื่อ ลูกอาละวาด เอาแต่ใจ
บางครั้ง “ลูก” ก็ถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบความอดทนของพ่อแม่ เมื่อเจ้าตัวเล็กที่แสนจะน่ารัก อยู่ ๆ ก็ร้องกริ๊ดเสียงดัง กระทืบเท้า อาละวาด เมื่อถูกขัดใจ พฤติกรรมเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพราะผลกรรมของพ่อแม่ที่เคยดื้อในตอนเด็ก ๆ กับพ่อแม่ของตัวเองหรอกนะคะ และที่ลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะลูกผิดปกติ หรือโตมาจากการเลี้ยงดูที่ผิดค่ะ ก่อนอื่นเราจึงต้องทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้ ลูกอาละวาด เอาแต่ใจ กันก่อน เพราะเมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้ถึงสาเหตุและไปแก้ที่ต้นเหตุ พร้อมทั้งสร้างวินัยเชิงบวกให้กับลูก คุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถเปลี่ยนเด็กที่โมโหร้ายให้เป็นเด็กที่รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้น
ทำความเข้าใจกับ “เหตุผล” ของลูก
การที่เด็กวัย 2 ขวบมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น โมโหร้าย ตี ทำร้าย กัด พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ไม่แบ่งปัน ไม่ทำตามกฎกติกา พฤติกรรมเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพราะลูกอยากจะทำตัวไม่ดีให้พ่อแม่ดุหรอกนะคะ พฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลของลูกซ่อนอยู่ ดังนี้
- ลูกยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ สาเหตุหลักที่ลูกอาละวาด โมโหร้ายนั้น เป็นเพราะว่า สมองของเด็กวัยนี้ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ จึงยังไม่รู้ถึงวิธีการรับมือเมื่อมีอารมณ์โกรธ และยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้เหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้น เมื่อลูกโกรธ และลูกต้องการระบายอารมณ์โกรธ สิ่งที่ทำได้คือการอาละวาดให้หายโมโหนั่นเอง
- ลูกอยู่ในวัยที่กำลังเรียนรู้ถึงกฎเกณฑ์และกติกา เด็กวัยนี้กำลังอยู่ในวัยที่ลองผิดลองถูก ในบางครั้งลูกก็อาจจะอยากที่จะแหกกฎเกณฑ์ที่พ่อแม่รวมถึงคนรอบข้างตั้งไว้ดูบ้าง เพื่อดูว่าพ่อแม่จะมีปฏิกิริยาอย่างไร และผลของการแหกกฎเกณฑ์ครั้งนี้เป็นอย่างไร
- เด็กกำลังเรียนรู้ภาษา เด็กวัย 2 ขวบจะยังไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดได้ 100% ดังนั้นการที่พ่อแม่คาดหวังให้ลูกจะสามารถเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่กำลังพูดกำลังสอนได้เหมือนผู้ใหญ่เลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
- พ่อแม่คาดหวังมากไปหรือเปล่า? ลองคิดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยสองขวบ ที่ตั้งแต่เกิดมา พ่อแม่คอยดูแลเอาใจใส่เขาทุกอย่าง เช่น วิ่งไปหาทันทีเมื่อลูกร้องไห้ เพื่อดูว่าลูกหิวนมหรือไม่ ต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือไม่ พ่อแม่ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกรู้สึกสบายขึ้น เพราะลูกยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่เมื่อลูกอายุสองขวบ เริ่มที่จะสื่อสารสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น สามารถทำอะไรเองได้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเดินไปหยิบสิ่งที่ต้องการ การกินอาหารได้เอง ลูกจะเริ่มรู้ว่าพ่อแม่ไม่ได้ทำอะไรให้เขาทุกอย่างอีกต่อไป เมื่อพ่อแม่ไม่ทำสิ่งต่าง ๆ ให้ลูกเหมือนตอนเป็นทารก แถมยังต้องการให้ลูกทำตามที่พ่อแม่ต้องการ ตามกฎกติกาต่าง ๆ เด็กวัยสองขวบจึงอาจไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงเริ่มต่อต้านด้วยการร้องอาละวาด
การที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบถึงเหตุผลของลูก และดุด่าว่ากล่าวเพื่อไม่ให้ทำอีก จึงไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม เพราะเมื่อลูกไม่ได้รับการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ก็จะทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อไปอีกเรื่อย ๆ ดังนั้น เมื่อรู้ถึงสาเหตุที่ลูกอาละวาดแล้ว ทีมแม่ ABK ก็มีวิธีรับมือและสร้างวินัยเชิงบวกให้กับเด็กอาละวาด เอาแต่ใจ มาฝากค่ะ
10 วิธีรับมือ ลูกอาละวาด เอาแต่ใจ
แทนที่จะคิดว่าจะลงโทษลูกอย่างไรดีเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ลองเปลี่ยนมาเป็นจะป้องกัน แนะนำ และสอนลูกถึงพฤติกรรมที่เหมาะสมแทนจะดีกว่านะคะ คุณพ่อคุณแม่ลองนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้กับลูก ๆ กันได้เลยค่ะ
- ใช้เวลาคุณภาพร่วมกับลูก
ให้คุณพ่อคุณแม่ลองกำหนดช่วงเวลาอย่างน้อย 20 นาทีในแต่ละวัน ที่จะมีเวลาคุณภาพร่วมกันกับลูก โดยในช่วงเวลานั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องไม่จับมือถือ ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่คิดถึงเรื่องงานหรือเรื่องอื่น ๆ เลย ให้ใช้ช่วงเวลานั้นกับลูกเพียงอย่างเดียว ลองฟังในสิ่งที่ลูกพูดหรือคิด เล่นกับลูกโดยให้ลูกเป็นผู้นำ สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องทั่วไป และไม่น่าจะเกี่ยวกับการที่ลูกอาละวาด แต่รู้ไหมคะ ว่าการที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจฟังลูก และเรียนรู้นิสัยของลูกผ่านการใช้เวลาคุณภาพนี้ จะทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของลูกมากขึ้น เมื่อเข้าใจลูกมากขึ้น ก็จะเข้าใจถึงเหตุผลที่ลูกอาละวาดได้ดีขึ้
2.คาดเดาถึงปัญหา (ที่กำลังจะเกิด)
ให้คุณพ่อคุณแม่ลองคาดเดาสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ลูกจะต้องอาละวาดแน่ ๆ และให้หาทางแก้ปัญหาเหล่านั้นก่อนที่จะเกิดขึ้น เช่น เมื่อพาลูกไปเล่นที่บ้านเพื่อน แน่นอนว่าลูกจะรู้สึกไม่พอใจหรือโมโหเมื่อถึงเวลาที่จะต้องกลับบ้าน ดังนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่ทำความตกลงกับลูกก่อนที่จะพาไปเล่นว่าเมื่อถึงเวลากลับจะต้องทำตัวอย่างไร และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องกลับบ้านจริง ๆ แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกกลับทันทีเลย ลองบอกลูกว่าอีก 5 นาทีจะกลับบ้านแล้ว เพื่อให้ลูกเตรียมใจก่อนถึงเวลาจริง เป็นต้น
3. ใจเย็น ๆ
การตอบกลับต่อพฤติกรรมที่รุนแรงด้วยความรุนแรง ไม่ได้ทำให้ลูกอารมณ์เย็นขึ้น ในบางครั้งที่ลูกหยุดอาละวาด ไม่ได้เป็นเพราะลูกเข้าใจถึงเหตุผลที่พ่อแม่ต้องการที่จะสอน แต่เป็นเพราะลูกกลัวค่ะ ดังนั้นเมื่อลูกร้อนมา คุณพ่อคุณแม่ต้องเย็นกลับ เพื่อให้ลูกได้อารมณ์เย็นลง และรับฟังคุณพ่อคุณแม่ได้ดีขึ้น
4. กอดช่วยได้
เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ชอบตี กัด หรือทำร้ายคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตีกลับ หรือลงโทษกลับ แต่จะปล่อยให้ลูกทำร้ายก็ไม่ได้ ดังนั้น การหยุดไม่ให้ลูกทำร้ายที่ดีที่สุดคือการกอดค่ะ กอดเพื่อให้ลูกหยุดทำร้ายร่างกาย กอดให้ลูกรับรู้ถึงความรักของพ่อแม่ ในระหว่างที่กอด ให้คุณพ่อคุณแม่พูดว่า อย่าตีแม่ แม่เจ็บนะ แม่รู้สึกไม่ดีเลยที่ถูกลูกตี เป็นต้น เพื่อให้ลูกได้รับรู้ว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นไม่เหมาะสม และทำให้พ่อแม่เสียใจ
5. สนับสนุนพฤติกรรมเชิงบวก
เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ควรชื่นชมลูกว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี ลูกเก่งมากที่ทำได้ เมื่อลูกได้รับรู้ถึงการสนับสนุนสิ่งที่ตนเองทำ รับรู้ว่าหากทำแบบนี้แล้วจะได้รับการชื่นชม ลูกก็จะอยากทำแบบเดิมอีกเพื่อให้ได้รับคำชมนั่นเอง
6. ฟังลูกพูด
การที่ลูกร้องไห้ อาละวาด นั้นมีเหตุผล แม้ว่าเหตุผลเหล่านั้นจะไม่มีเหตุผลในสายตาคุณพ่อคุณแม่ก็ตาม แต่เหตุผลนั้นมันยิ่งใหญ่มากสำหรับลูกนะคะ ดังนั้น การตั้งใจฟังถึงเหตุผลที่ลูกร้องไห้ จะช่วยทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่เอาใจใส่ เข้าใจ และพร้อมที่จะสนับสนุนเขา เขาก็จะพร้อมที่จะรับฟังวิธีแก้ไขกับปัญหาที่เขาเจอ
7. ให้ทางเลือกกับลูก
แทนที่จะบอกว่า อย่าทำนะ ห้ามเล่นนะ ห้ามวิ่งนะ ลองเปลี่ยนมาเป็น ถ้าลูกวิ่งตรงนี้ซึ่งเป็นหินที่ขรุขระ เมื่อล้มจะเจ็บตัวได้ เปลี่ยนมาวิ่งบนสนามหญ้าจะดีกว่า เพราะเมื่อล้มก็จะได้ไม่เจ็บมากแทน เพราะเมื่อเด็กโดนห้าม มักจะมีความรู้สึกว่าอยากจะทำ ดังนั้นลองเสนอทางเลือกให้ลูกได้เลือก ลูกก็จะรู้สึกว่าตนเองเลือกเอง ไม่ได้โดนบังคับให้หยุดทำ
8. ให้ในสิ่งที่ลูกต้องการไปเลย
ข้อนี้ดูเหมือนจะขัดต่อวิธีการรับมือใช่ไหมล่ะคะ แต่คุณพ่อคุณแม่อ่านไม่ผิดหรอกค่ะ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเด็กในวัยนี้ ไม่สามารถที่จะทำตามเหตุผลได้เหมือนผู้ใหญ่ เด็กในวัยนี้ยังใช้อารมณ์เป็นหลัก ดังนั้น บางทีการยอมให้ในสิ่งที่ลูกต้องการ ซึ่งสิ่งนั้นต้องไม่ใช่สิ่งที่ใหญ่โตอะไร และก็ไม่ควรยอมให้ไปทั้งหมด ควรจะมีข้อแม้ หรือควรจะมีการต่อรองกับลูกว่าให้ได้ แต่ไม่สามารถให้ได้ทั้งหมดที่ลูกต้องการ เช่น ลูกอยากกินขนมก่อนนอน หากคุณพ่อคุณแม่ยังดึงดันไม่ให้ลูกทาน แต่เมื่อลูกอยู่ในอารมณ์ที่อยากทานจริง ๆ ลูกก็จะอาละวาดอยู่อย่างนั้น ลองยอมให้ลูกทาน แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไปแปรงฟันอีกครั้งก่อนนอน เป็นต้น
9. ผลัดกันเล่น แทนการแบ่งปัน
เมื่อลูกเป็นเด็กที่ไม่ชอบแบ่งปัน อาจไม่ใช่เพราะลูกหวงของก็ได้นะคะ แต่อาจเป็นเพราะลูกก็ยังอยากเล่นของเล่นชิ้นนั้นอยู่ หรืออาจเป็นเพราะลูกคิดว่าเมื่อแบ่งให้เพื่อนเล่นแล้ว กว่าจะได้เล่นอีกทีคงจะอีกนานก็ได้ ดังนั้น แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะบังคับให้ลูกแบ่งปัน ลองเปลี่ยนเป็นให้ลูกผลัดกันเล่นกับเพื่อนแทน วิธีนี้จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่ายังสามารถเล่นของเล่นชิ้นนั้นได้อยู่ ลูกก็จะยอมให้เพื่อนเล่นด้วย
10. เล่นบทบาทสมมุติ
คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่าการเล่นบทบาทสมมุติเกี่ยวอะไรกับวิธีรับมือ ลูกอาละวาด เอาแต่ใจ อยากบอกว่าวิธีนี้เป็นวิธีสอนลูกให้เข้าใจได้ดีกว่าการพูดเพียงอย่างเดียว เพราะการเล่น เป็นสิ่งที่เด็กชอบ การสอนลูกผ่านการเล่นบทบาทสมมุติ จะช่วยให้ลูกเห็นภาพ และเข้าใจถึงสถานการณ์ได้ง่ายกว่าค่ะ
การสอนลูก ไม่มีกฎเกณฑ์ใดที่ตายตัว ไม่มีผิดไม่มีถูก มีแต่เหมาะหรือไม่เหมาะกับแต่ละบ้าน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับวิธีการรับมือลูกอาละวาด เอาแต่ใจ จาก 10 ข้อนี้ ให้เหมาะสมกับลูกของตนเองได้เลยค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
สิ่งที่ควรสอนลูก 10+1 ข้อ พ่อแม่ห้ามพลาด! เพื่อลูกมีความสุขไปตลอดชีวิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thebump.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่