ฝึกลูกให้คิด เปิดโอกาสให้ลองผิดลองถูก สอนลูกให้คิดเป็น เพื่อให้ลูกเติบโตอย่างฉลาด เอาตัวรอดในยุค 5G
สอนลูกให้คิดเป็น สิ่งที่ต้องฝึกตั้งแต่ยังเล็ก
เพราะเด็กในวันนี้ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า การฝึกให้ลูกหัดคิด หัดทำ กล้าลองผิดลองถูก จึงเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญอย่างยิ่งในการเอาตัวรอดยุค 5G แต่วิธีที่พ่อแม่เลี้ยงลูกอยู่นั้น จะช่วยให้ลูกเอาตัวรอดได้หรือไม่?
ในงาน Amarin Baby & Kids presents Mom Expert’s Day พลังแม่สร้างลูกฉลาดรอบด้าน วันที่ 31 ตุลาคม ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น หรือหมอโอ๋ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้มาให้ความกระจ่างในหัวข้อ ทักษะชีวิตยุคใหม่ ติดอาวุธ 4 ฉลาด ช่วยลูกเอาตัวรอดยุค 5G ได้กล่าวว่า เด็กจะมีทักษะที่ติดตัวมา ทั้งจากกรรมพันธุ์ พัฒนาการตั้งแต่ในครรภ์ และการเลี้ยงดูตั้งแต่เกิดมา โดยพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด หากสังเกตจะเห็นว่า เด็กมีทักษะไหนเด่น ด้านไหนที่ต้องช่วยเหลือเพิ่มเติม
ด้วยความแตกต่างของเด็กแต่ละราย เด็กบางคนเข้าสังคมเก่ง เด็กบางคนกลัวโลกภายนอก คุณหมอโอ๋ อธิบายว่า สิ่งที่สำคัญมากคือการเข้าใจธรรมชาติของเด็ก แต่พ่อแม่มักจะมีมาตรฐานของเด็กที่เป็นเด็กดี เด็กน่ารัก เด็กที่ยิ้มแย้มกล้าแสดงออก ซึ่งเด็กแต่ละคนก็มีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน บางคนเงียบ ๆ ไม่ชอบเข้าสังคม ก็สามารถพัฒนาศักยภาพได้ดี อาจเติบโตไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ชอบค้นคว้าทดลอง ซึ่งตัวพ่อแม่เองที่มีภาพของเด็กที่น่ารักในจินตนาการ จึงคิดว่าลูกมีปัญหาตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรเข้าใจคือ
เข้าใจธรรมชาติของเด็ก เด็ก 40-50 เปอร์เซนต์ เป็นเด็กที่ยิ้มง่าย ร่าเริงแจ่มใส แต่ก็มีเด็กบางคนที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว เช่น วิ่งมาสนามเด็กเล่นก็อาจจะขอดูลาดเลาก่อนว่าเข้าไปดีไหม เด็กที่เลี้ยงยากหรือปรับตัวยากก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กกลุ่มนี้จะโตไปไม่ประสบความสำเร็จ เป็นปัญหา มันอยู่ที่การช่วยเหลือของครอบครัวและต้องอาศัยเวลา ยิ่งผลักเด็กออกไป เด็กจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและถอยออกมา
ความกล้าหาญในความมั่นใจ การเข้าสังคมของเด็ก ไม่ใช่สิ่งที่เห็นจากภายนอก แต่เกิดจากข้างใน เด็กรู้สึกว่าโลกน่าเข้าไปเรียนรู้ น่าเข้าไปทดลอง เชื่อมั่นว่าโลกปลอดภัย สิ่งเหล่านี้จากการเลี้ยงดูในวัยตั้งต้นชีวิต ช่วงขวบปีแรกที่เด็กจะรู้สึกว่าโลกปลอดภัยหรือไม่ เวลาหิวมีนมให้กิน เวลาอยากให้มีใครมากอดก็มีคนอุ้ม เวลาผ้าอ้อมเปียกมีคนมาเปลี่ยนให้ทันที ศาสตร์ทางจิตวิทยาจะบอกว่า เป็นเรื่องของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับโลก เด็กจะรู้สึกมั่นใจในการปฏิสัมพันธ์กับใครก็มาจากข้างในการมีเซล์ฟที่ดี มาจากความรู้สึกที่ว่าตัวเองมีความหมาย
“บ้านเราจะบอกว่า อย่าอุ้มเดี๋ยวติดมือ ทำให้เด็กเติบโตมาด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัย โลกมันน่ากังวล โลกมันน่ากลัว หากลูกรู้สึกว่าเป็นที่รัก เป็นคนที่มีศักยภาพ เด็กจะรู้สึกว่าปลอดภัย”

พ่อแม่ต้องจัดการความคาดหวังของตัวเอง
ภาพในหัวที่มองว่าเด็กที่ดีต้องเป็นอย่างไร ทำให้พ่อแม่คาดหวังว่าลูกต้องเป็นดั่งภาพนั้น แต่คุณหมอโอ๋ย้ำว่า ธรรมชาติของเด็ก พ่อแม่เลือกให้ไม่ได้ เช่นเดียวกับพ่อบางคนที่ชอบอยู่คนเดียว เด็กทุกคนไม่ต้องร่าเริง มีเด็กที่อยู่กับตัวเอง แล้วมีความฉลาด สุขุม ลุ่มลึก และพร้อมกันนั้น พ่อแม่ต้องเตรียมพร้อมให้ลูกฝึกการช่วยเหลือตัวเอง ก่อนช่วยเหลือลูก ให้ถามตัวเองทุกครั้งว่า ลูกทำได้หรือเปล่า พ่อแม่คิดว่าการเข้าไปช่วยเป็นการแสดงความรัก แต่กลับทำให้ลูกรู้สึกว่า ลูกยังทำไม่ได้ ลูกยังไม่เก่งพอ ให้คอยสังเกตและแนะนำเพื่อให้ลูกช่วยเหลือตัวเองเก่งขึ้น
หยุดคิดก่อนจะลงมือช่วย การไม่ช่วยคือการช่วยที่มีค่า ลูกจะมาขอบคุณทีหลัง เพราะลูกจะเก่งขึ้น อย่าสอนเยอะให้ตั้งคำถามเยอะ ๆ คนที่สั่งคือคนที่ได้คิด แต่คนที่ทำตามคำสั่งไม่ได้คิด ให้ตั้งคำถามเยอะ ๆ เช่น เวลาน้ำหก ถามลูกว่า ทำอย่างไรดีน้ำหก เอาผ้าอะไรเช็ด แค่คำถามเดียวฝึกวิธีคิดไปเยอะ ฝึกวิธีคิดได้ไกลมาก โดยใช้สมองส่วน EF สมองส่วนที่ฝึกการคิดวิเคราะห์ มองเหตุมองผล เรียนรู้จากการผิดพลาด พัฒนาจากการที่พ่อแม่คิดให้น้อย ๆ ให้ลูกแก้ปัญหา เมื่อลูกคิดจะทำให้ฉลาดขึ้น

“วัยนี้ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ เล่นเยอะ ๆ การเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็ก ๆ การเล่นกับลูกเป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ การแชร์ความสุข แชร์ความคิดเห็น”
ฉลาดเข้าสังคม (SQ) สอนลูกให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
เมื่อลูกเข้าโรงเรียน พ่อแม่อาจกังวลว่าลูกจะแกล้งเพื่อนหรือไม่ คุณหมอโอ๋ แนะนำว่า ต้องมองว่าเด็กแกล้งเพื่อนเกิดจากอะไร เช่น เด็กสมาธิสั้นยับยั้งตัวเองได้น้อย เด็กบางคนมีปัญหาการเข้าสังคม คิดว่าการแหย่เป็นเรื่องสนุก สาเหตุที่เด็กชอบแกล้งคนอื่น เพราะเราอยู่ในสังคมที่เรียนรู้ว่า การแกล้งคือการแหย่เล่น เด็กถูกผู้ใหญ่แกล้งเยอะมาก เอาของไปซ่อน แย่งของเล่น เด็กก็ซึมซับว่า การเล่นคือการเข้าไปแหย่ พ่อแม่บางคนเล่นกับลูกไม่เป็น เข้าไปแหย่ลูก สิ่งนี้เราต้องระวัง เพราะเด็กซึมซับจากสภาพแวดล้อม
นอกจากนี้ เด็กที่ชอบแกล้งคนอื่นบ่อย ๆ มาจากเซลฟ์ที่ไม่ค่อยดี เด็กไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองดีพอ หรือมีคุณค่า การรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอจะแสวงหาอำนาจ คือการเข้าไปแกล้งคนอื่น ข่มคนอื่น ใช้กำลังกับคนอื่น มาจากการเลี้ยงดูที่ทำให้รู้สึกว่าไม่มีคุณค่า เช่น เด็กได้รับแรงกดดันถูกพ่อแม่กดขี่ ไม่มีอำนาจที่บ้าน จึงต้องไปหาอำนาจใหม่ ๆ ในชีวิต จึงใช้อำนาจในความสัมพันธ์กับเพื่อน
“การแกล้งคนอื่นตั้งแต่เล็ก ๆ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องมองว่าเป็นปัญหา มีการวิจัยว่าเด็ก 8 ขวบ ที่ติดตามไปจนอายุ 26 ปี พบว่าเด็กที่แกล้งคนอื่นในวัยเล็กหรือมีประวัติแกล้งคนอื่น พัฒนาไปเป็นการก่ออาชญากรรมได้สูงถึง 7 เท่า อย่าละเลยว่าลูกแค่แกล้งเพื่อนเล่น ๆ การแกล้งเพื่อนนั้นแสดงให้เห็นว่า เด็กไม่มีความเข้าอกเข้าใจคนอื่น”
ฉลาดคิดเป็น (TQ) แยกแยะถูกผิด
ส่วนการแยกแยะถูกผิดให้เป็นนั้น สามารถสอนได้ตั้งแต่เล็ก คุณหมอโอ๋ บอกว่า พ่อแม่เป็นตัวอย่างก่อน ผู้ใหญ่เองแชร์ Fake News ตลอด หากไม่ได้แสดงให้เด็กเห็นว่า ผู้ใหญ่คิดวิเคราะห์ก่อนจะเชื่อ เด็กก็จะรู้สึกว่า รับมาเชื่อและแชร์ไป จึงต้องฝึกที่ตัวผู้ใหญ่ก่อน ถ้าฟังมาแล้วก็ชวนลูกคุยว่า เรื่องนี้น่าสนใจมันจริงไหม จะหาข้อมูลได้อย่างไร บางอย่างที่ลูกบอกแล้วเราตั้งคำถามว่าใช่หรือไม่ ชวนลูกหาคำตอบในข้อมูลอื่น ทุกวันนี้ข้อมูลไม่ได้หายาก ลองชวนลูกคิดหรือบางครั้งที่ลูกบอก ตั้งคำถามว่าใช่หรือเปล่า ชวนลูกหาคำตอบในข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ หรือฝึกข้อมูลให้ลูกคิดว่า ใครเป็นคนสร้าง ข้อมูลชุดแบบนี้ วัตถุประสงค์ต้องการบอกอะไร บางครั้งแฝงสิ่งอื่นที่ต้องการบอกออกมา ไม่บอกตรงไปตรงมา
“ตัวผู้ใหญ่เองต้องสงสัยความไม่รู้ของตัวเองเสมอ ผู้ใหญ่ชอบคิดว่าตัวเองรู้แล้ว เชื่อว่าตัวเองรู้มากกว่า แล้วทำให้ไม่ตรวจสอบสิ่งที่เราเชื่อ ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ชวนลูกคิด ตั้งคำถาม และชวนลูกคุยด้วยชุดข้อมูลที่แตกต่าง”
ฉลาดเผชิญปัญหา (AQ) ต้องปล่อยให้ลูกเจออุปสรรคบ้าง
ความฉลาดที่สำคัญอีกอย่างคือ ฉลาดเผชิญปัญหา (AQ) คุณหมอโอ๋ แนะนำว่า ให้พ่อแม่ปล่อยให้ลูกเผชิญปัญหาเสียบ้าง เช่น ลูกวิ่งก็รีบบอกว่า อย่าวิ่งลูก เดี๋ยวล้ม โอกาสที่ลูกล้มจะน้อยแค่ 0.5% แต่การที่ลูกจะหยุดพัฒนาเพราะคำพูดของแม่นี่ 95% ต้องฝึกให้ลูกมีพื้นที่การเรียนรู้ ออกนอกพื้นที่ปลอดภัย ต้องยอมให้ลูกสามารถเสี่ยงภัย ฝึกที่จะเผชิญปัญหา เจอข้อผิดพลาดได้ ลูกจะลองผิดลองถูกได้ อย่าคอยปกป้องว่าจะอันตราย พ่อแม่ยุคใหม่อยู่กับข่าว พออ่านแล้วใจสั่น เมื่อมีข่าวคนเป็นไข้เลือดออกแล้วตาย ก็กลัวไปหมด ไม่ให้ลูกออกไปจากบ้านกลัวยุงกัด สิ่งนี้อาจทำให้สบายใจว่า ลูกปลอดภัย แต่สิ่งที่ลูกเติบโตคือสังคม สภาพแวดล้อมที่ไม่ได้ทำให้เข้มแข็งหรือแข็งแกร่ง การเรียนรู้จะไม่เกิดเมื่อเด็กอยู่แต่ในพื้นที่ปลอดภัย บางอย่างต้องยอมให้เค้ามีความเสี่ยงบางอย่าง
คุณหมอโอ๋ทิ้งท้ายด้วยว่า งานเลี้ยงลูกไม่ใช่พัฒนาเด็กคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาตัวพ่อแม่ด้วยอย่างมาก ก่อนที่อยากให้ลูกเป็นอย่างไร กลับมาดูที่ตัวเราว่าเราเป็นอย่างนั้นแล้วหรือยัง ลูกจะไม่ได้เป็นสิ่งที่เราสอน แต่ลูกจะเป็นสิ่งที่เราเป็น
เด็กเรียนรู้ผ่านการมองเห็นได้ดีกว่าการได้ยิน หากต้องการให้ลูกโตไปเป็นแบบไหน พ่อแม่ก็ต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกเสียก่อน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
ความฉลาดสร้างได้ ตั้งแต่ในครรภ์ วิธีปั้นลูก 3 ฉลาด พื้นฐานสู่ความสำเร็จ
วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก ไม่ดุ ไม่ตี ปูพื้นฐานชีวิตลูกให้ดีใน 3 ปีแรก
ลูกถูกทำร้าย ใจลูกสำคัญ พ่อแม่ควรทำเรื่องนี้..ก่อนสายเกินแก้!!