ลูกเราเรียนรู้อะไร จากเนอสเซอรี่
ก่อนอื่นเคยสงสัยกันไหมว่า… กิจวัตร หรือ กิจกรรมง่ายๆ ที่เนอสเซอรี่จะช่วยสร้างเสริมสติปัญญาลูกได้อย่างไร? เพราะที่เนิร์สเซอรี่ที่เด็กๆ อยู่นั้นไม่ใช่แค่นั่งต่อบล็อกเล่นกันเพียงอย่างเดียว แต่เด็กๆ ยังได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ อีกตั้งมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- การทักทายประจำวัน ประโยคง่ายๆ อย่าง สวัสดีค่ะ ที่คุณครูพูดทักทายทุกๆ เช้า คือการเริ่มต้นกิจวัตรใหม่ที่เนอสเซอรี่ของเด็กๆ กิจกรรมประจำวันแต่ละส่วนซึ่งคาดการณ์ได้และมีชื่อเรียกชัดเจน ช่วยให้เด็กๆ จำได้ว่าตัวเองทำอะไรไปบ้าง และเดาได้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไปอีก
- กิจกรรมล้อมวง ซึ่งเด็กๆ ต้องให้ความสนใจกับสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม การนั่งฟังเพื่อนๆ เล่าถึงลูกสุนัขที่เลี้ยงไว้ หรือการท่องเที่ยวทางรถไฟเป็นครั้งแรก จะช่วยพัฒนาทักษะด้านการฟัง และพอได้เป็นฝ่ายเล่าเรื่องบ้าง ความจำและทักษะด้านการพูดก็จะพัฒนาขึ้นด้วยเช่นกัน
- การร้องเพลง เด็กๆ มักจดจำข้อมูลที่เขียนเป็นบทเพลงได้ดีกว่าการสอนด้วยคำพูด และไม่เพียงแต่จะได้หัดร้องเพลงกับเพื่อนๆ เท่านั้น ลูกยังได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ จากเนื้อร้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ แปรงฟัน หรือแม้แต่ส่วนประกอบหลักๆ ของรถยนต์
- ช่วงอาหารว่าง ซึ่งมีความหมายมาก เพราะการพูดคุยกับเพื่อนใหม่ๆ ระหว่างมื้อ จะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องคำและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
จากกิจกรรมข้างต้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกทักษะหลายๆอย่างนี้ให้กับลูกน้อยมาก่อนตั้งแต่อยู่ที่บ้านแล้ว ซึ่งเกณฑ์ที่จะช่วยคุณแม่ดูความพร้อมของลูก กับลักษณะเด็กที่เนอสเซอรี่ต้องการ คือ
1. ลูกนั่งกระโถนเป็นหรือยัง?
เพราะบางเนอสเซอรี่ หรือบางโรงเรียนไม่ได้มีแผนกเด็กเล็กที่พร้อมจะสอนเด็กนั่งกระโถน ควรฝึกลูกนั่งกระโถนให้เป็นก่อนพาเข้าเนอสเซอรี่ อย่างน้อยเขาต้องบอกผู้ใหญ่ได้เมื่อรู้สึกปวดหนักหรือเบา ลูกแยกจากแม่ได้ไหม ถ้าคุณต้องทำงานแล้วปล่อยให้ลูกอยู่บ้านกับญาติหรือพี่เลี้ยงจนชิน ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าคุณอยู่กับลูกตลอดทั้งวันตั้งแต่เขาเกิด ให้ลองออกไปทำธุระ ปล่อยให้ลูกอยู่ห่างตัวเสียบ้าง เป็นการฝึกเขาให้ห่างแม่ ในช่วงสัปดาห์แรกๆ เนอสเซอรี่มักจะอนุญาตให้คุณพาลูกกลับก่อนเวลาปกติได้ จนกว่าลูกจะชิน ถ้าไม่อยากให้ลูกร้องโยเยตอนไปเรียนก็หัดแยกลูกห่างตัวเสียบ้าง
2. ลูกสอนได้หรือเปล่า?
เนอสเซอรี่จะไม่ได้เน้นการสอนเหมือนโรงเรียนอนุบาล แต่เด็กก็ต้องเรียนรู้ที่จะทำตามกฎบางอย่างด้วยเหมือนกัน เช่น มีเวลาเล่นที่จำกัด ต้องแขวนกระเป๋าให้ถูกที่ ถ้ากลัวว่ามันจะยากเกินไปสำหรับลูก ลองเริ่มสอนให้เขารู้จักรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ในเรื่องง่ายๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันที่บ้านก่อน เช่น สอนให้ลูกวางรองเท้าให้เป็นระเบียบก่อนเข้าบ้าน หรือกินข้าวแล้วเอาจานไปเก็บที่อ่างก็ได้
3. ลูกเข้ากับเด็กคนอื่นได้ไหม?
ถ้าลูกคุ้นกับการอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ รู้จักมีน้ำใจ แบ่งปันให้กับผู้อื่น และไม่เห็นแก่ตัว นี่เป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกพร้อมแล้ว แต่ถ้ายังไม่เป็นเช่นนั้น ล องปล่อยให้เขาเล่นในสนามเด็กเล่นดูสิ นั่นเป็นการฝึกฝนให้เด็กๆ เรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกันได้ดีเชียวละ
4. ลูกยอมรับตารางกิจกรรมได้ไหม?
กิจกรรมต่างๆ ที่เนอสเซอรี่จัดไว้จะมีหลายอย่างต่อๆ กัน ลองสังเกตดูว่าลูกมีปฏิกิริยาอย่างไรเวลาต้องหยุดสิ่งที่ทำอยู่เพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อ เช่น ลูกรู้สึกโกรธหัวเสียหรือเปล่า เวลาที่บอกให้เลิกเล่นตุ๊กตาแล้วไปเข้านอน ลองฝึกให้ลูกรู้จักการยอมรับกิจกรรมที่ต้องเปลี่ยนไปทีละน้อยๆ อาทิบอกลูกไว้เลยว่าหลังจากเล่นตุ๊กตาแล้วต้องเข้านอนนะ
ลองดูว่าส่วนใหญ่แล้วลูกเราทำได้หรือไม่ (ทำไม่ได้ทั้งหมดที่ว่ามาก็ไม่เป็นไร) หากกังวลว่าลูกยังไม่พร้อม จะดีกว่าถ้าเลื่อนให้ลูกไปเรียนเทอมหน้าหรือปีหน้า แทนที่จะบังคับให้เขาไปเรียนอย่างไม่มีความสุขและเป็นภาระของโรงเรียนในภายหลัง
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- สิ่งที่ต้องสอนลูกก่อนวัย 3 ขวบ เพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าโรงเรียน
- เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ
- คัมภีร์รับมือ 10 วิธี ทำให้ลูกอยากไปโรงเรียน ได้ผล 100%
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids