เท้าปุก รักษาได้หรือไม่?
ในปัจจุบันโรคนี้ สามารถรักษาให้หายจนปกติหรือเกือบปกติได้โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดใหญ่เลยละค่ะ ขอเพียงแต่ได้รับการรักษากับแพทย์ที่ได้ฝึกฝนการรักษาด้วยวิธีพอนเซตี้เท่านั้น เรียกได้ว่าการรักษาด้วยการผ่าตัดที่เคยเป็นที่นิยมในอดีตนั้นได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้วละค่ะ
เด็กที่เป็นเท้าปุก ควรได้รับการรักษาภายใน 2-3 อาทิตย์แรกหลังคลอด อาศัยความได้เปรียบในขณะที่เนื้อเยื่อของ เอ็นข้อ เอ็นกระดูก เอ็นกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อหุ้มข้อ ยังพอมีความยืดหยุ่นอยู่ ด้วยการดัดที่ถูกต้องทุก ๆ อาทิตย์ ซึ่งเนื้อเยื่อเหล่านี้จะค่อย ๆ ยืดออก ภายหลังการดัดแต่ละครั้ง เท้าจะได้รับการเข้าเฝือกจากปลายเท้าจนถึงโคนขาในท่าที่เข่างอ 90 องศา เพื่อบังคับเท้าให้อยู่ในท่าที่ดัดได้ ดังนั้น เท้าจะค่อย ๆ ถูกดัดให้เป็นปกติในที่สุด
และต่อให้เด็กกลับจะมามีเท้าปกติแล้วก็ตาม ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสกลับมาเป็นใหม่นะคะ ดังนั้น หลังสิ้นสุดการเข้าเฝือก จะต้องใส่กายอุปกรณ์เท้า (Abduction foot orthosis) (รูป 6) ทั้งวันทั้งคืน 2-3 เดือน และใส่เฉพาะกลางคืนหรือเวลานอนอีก 4 ปี ก็จะหายเป็นปกติหรือเกือบปกติ สามารถดำเนินชีวิตและเล่นกีฬาได้เหมือนเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ปกติทั่ว ๆ ไปเลยละค่ะ
มาถึงตอนนี้แล้วสำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่กำลังประสบกับปัญหานี้อยู่ ไม่ต้องกังวลไปนะคะ โรคเท้าปุก รักษาหายได้หากรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ที่สำคัญต้องมีวินัยในการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์กันด้วยนะคะ ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ
เครดิต: หาหมอ และ นาวาอากาศเอก นายแพทย์อำนวย จิระสิริกุล กองออร์โธปิดิกส์ รพ. ภูมิพลอดุลยเดช พอ.บนอ., พ.ญ.ปาริชาต เทียบรัตน์ ศัลยแพทย์โรคกระดูกและข้อ (เฉพาะทางโรคกระดูกในเด็ก) โรงพยาบาลเวชธานี, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาศัลศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ มหาวิทยาลัยแห่งไอโอว่า เมืองไอโอว่าซิตี้
อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่