2. โลกสวยด้วยน้ำใจ
จะให้อะไร ราคาเท่าไร ไม่สำคัญเท่ากับน้ำใจที่คิดจะให้ พ่อแม่จะช่วยลูกได้มากหากสอนให้ลูกตระหนักว่า แม้เขาจะมีกำลังน้อย มีเงินไม่มาก แต่เขาก็สามารถทำบุญได้เท่าเทียมผู้ใหญ่ หากเขามีน้ำใจ คุณค่าของคนเรามิได้อยู่ที่วัยหรือชื่อเสียงเงินทอง แต่อยู่ที่คุณภาพของใจต่างหาก
ถึงจะไม่มีเงินให้ แต่ถ้ามีน้ำใจเสียแล้ว ก็สามารถให้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเงิน เช่น ด.ญ.เฟอร์ เมื่อพบว่าลูกพี่ลูกน้องวัย ๑๐ ขวบป่วยด้วยโรคมะเร็ง เธออยากจะช่วยมาก จึงวาดการ์ ตูนเพื่อหาเงินไปเป็นค่ารักษาน้อง หนังสือการ์ตูนของเด็กหญิงวัย ๑๒ แม้จะไม่สวยงามเท่ากับของผู้ใหญ่ แต่น้ำใจอันยิ่งใหญ่ของเธอ ชักชวนให้ผู้อ่านพากันบริจาคเงินช่วยน้องของเธอ จนบัดนี้เขาเกือบจะหายเป็นปกติแล้ว
การเสียสละเพื่อส่วนรวม หรือลงมือลงแรงเพื่อช่วยผู้อื่น เป็นบุญอีกอย่างหนึ่ง บุญอย่างนี้เด็ก ๆ สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เก็บเศษแก้วหรือตะปูที่ขวางทาง เก็บขยะในละแวกบ้าน ช่วยเหลืองานของโรงเรียน ถือของให้คนแก่ จูงคนตาบอดข้ามถนน ปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะ นิสัยเช่นนี้ปลูกฝังได้ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักช่วยงานบ้าน แม้จะมีคนใช้ก็ตาม
3. อยู่อย่างไม่เบียดเบียน
การช่วยเหลือผู้อื่นจะเป็นไปได้ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการรู้จักรักษาตนไม่ให้ก่อความเดือดร้อนแก่ใคร หรือเอาเปรียบส่วนรวม เช่น ฆ่าสัตว์ ลักขโมย ฉ้อโกง ล่วงละเมิดของรักของสงวนของผู้อื่น โกหก หรือเข้าหาสิ่งเสพติด บุญประเภทนี้เราเรียกว่าศีล
พ่อแม่ที่สอนลูกไม่ให้ไปเบียดเบียนใคร ไม่ว่าบุคคลหรือส่วนรวม เท่ากับสร้างรั้วป้องกันไม่ให้ความเดือดเนื้อร้อนใจเข้ามาใกล้ตัว ความชะล่าใจเพียงเล็กน้อยอาจนำไปสู่ความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรนิ่งดูดายหากลูกขโมยปากกาของเพื่อน ลอกการบ้าน ทุจริตในห้องสอบ หรือฆ่ามดบี้ไส้เดือน
พฤติกรรมที่ดีนั้นนอกจากจะช่วยให้ไม่ไปเบียดเบียนใครแล้ว ยังช่วยให้เราไม่เบียดเบียนตนเองด้วย คนทำดีย่อมมีความสุข สุขทั้งตนเองและคนรอบตัว
การกินอยู่ให้เป็น รู้จักใช้ของ ก็เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมที่เรียกว่าศีล เช่น กินง่ายอยู่ง่าย เลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ตามใจลิ้นจนเป็นโทษแก่ร่างกาย
ข้อนี้…รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ไม่หมกมุ่นหรือสิ้นเปลือง เช่นใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเป็นเวลา ดูโทรทัศน์เมื่อทำการบ้านหรืองานเสร็จแล้ว เล่นเกมคอมพิวเตอร์พอประมาณ เมื่อกินเป็นใช้เป็นแล้ว ขั้นต่อมาคือสอนให้ลูกจับจ่ายใช้สอยเป็น รู้จักประหยัด ไม่ติดนิสัยช็อปปิ้ง อวดร่ำอวดรวยแข่งกัน หรือหลงติดอบายมุข อาทิ การพนัน การเที่ยวสถานเริงรมย์
4. ทำบุญที่ใจ
คนเราสามารถทำบุญได้ตลอดเวลา ไม่ว่าที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือบนท้องถนน ไม่มีเงินหรือไม่ใช้เงินเลย ก็ทำบุญได้ แม้กระทั่งอยู่เฉย ๆ แต่ทำใจให้ถูกต้อง จนเกิดความรู้สึกดี ๆ ขึ้นมา ก็เป็นบุญ เช่น ยินดีปลาบปลื้มเมื่อเห็นคนอื่นทำความดี ไม่อิจฉา หรือค่อนแคะเขาว่าอยากดัง การสอนให้ลูกชื่นชมคนดีคือการสร้างนิสัยใฝ่ดีขึ้นมาในตัวเด็ก
ขณะเดียวกัน เมื่อทำความดี ก็ไม่หวงความดีไว้คนเดียว ชักชวนหรือเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำความดีด้วย ตลอดจนแผ่บุญกุศลจากความดีนั้นให้แก่คนอื่น ให้เขาได้รับประโยชน์ด้วย นี้ก็เป็นบุญด้วยเช่นกัน
การทำบุญที่ใจอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือตัวถือตนหรือดูถูกผู้อื่น เพราะเห็นว่าเขามีอายุน้อยกว่า เรียนมาน้อยกว่า หรือมีฐานะต่ำกว่า แม้กับคนงานหรือคนรับใช้ในบ้าน ก็ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่กับเขา ข้อนี้รวมถึงการไม่ดูถูกคนที่นับถือศาสนาอื่นด้วย
การทำบุญที่ใจ ทำให้ใจเป็นกุศล และมีความสุข ตรงกันข้าม การอิจฉาคนอื่นที่ทำดีกว่าตน หรือถือตัวถือตน ทำให้จิตใจเร่าร้อนและเครียดง่าย แต่ถ้าอยากให้ลูกมีสุขภาพใจที่สมบูรณ์ พ่อแม่ควรสอนลูกให้รู้จักฝึกจิตฝึกใจให้มีภูมิคุ้มกันความทุกข์ ฉลาดในการจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบใจด้วย
อ่านต่อ >> “วิธีสอนลูกทำบุญ อย่างฉลาด! สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกไปตลอดชีวิต” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่