ตุ่มขาวในปากทารก ทำไมถึงเป็นเรื่องปกติ แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะหาย ร่วมไขข้อข้องใจได้ที่นี่
โบราณว่า “ตุ่มขาวในปากลูกเกิดจากเชื้อรา อยากให้หายต้องเอาผ้าอ้อมเปื้อนฉี่เช็ดออก!” หรือผู้เฒ่าผู้แก่บอก “เจอตุ่มขาวในปากลูก ต้องบ่ง” เรื่องนี้จะเป็นจริงหรือไม่นั้น วันนี้เราจะไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเจ้าตุ่มข่าว ๆ ที่อยู่ในปากของทารกน้อยกันค่ะ แต่ก่อนที่จะไปดูนั้น เรามาดูกันก่อนว่า เจ้าตุ่มขาว ๆ ที่ว่านี้เขามีชื่อเรียกกันว่าอย่างไร
“หล่ะ” คืออีกหนึ่งชื่อเรียกที่คนโบราณเขาเรียกกัน แต่สำหรับวงการแพทย์นั้น เราเรียกเจ้าตุ่มขาว ๆ นี้ว่า “Epithelial pearl” นั่นเองค่ะ
คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ได้พูดถึงเรื่องราวของ ตุ่มขาวในปากของลูก ผ่านเฟซบุ๊คของคุณหมอเอาไว้ดังนี้ค่ะ
#ตุ่มขาวที่เพดานปาก และ เหงือก คือ ภาวะปกติ ไม่ต้องรักษานะคะ
ตุ่มขาวในปาก อาจเป็นที่เหงือก หรือ กลางเพดานปากของทารก คนเฒ่าคนแก่เรียก ตุ่มขาวที่เพดานปากนี้ว่า “หล่ะ” มีลักษณะเป็นเม็ดสีขาวหรือเหลือง ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 มิลลิเมตร ทางการแพทย์เรียกว่า Epithelial pearl หรือ Epstein pearl เพราะว่ามีสีเหมือนไข่มุก อาจพบตุ่มขาวแบบนี้ในตำแหน่งอื่น เช่น ใบหน้า หัวนม และ ปลายอวัยวะเพศชาย
สาเหตุเกิดจาก เซลเยื่อบุบริเวณนั้นมากระจุกรวมตัวกัน พบได้ 80% ของทารกแรกเกิด ตุ่มนี้ไม่ทำให้ทารกเจ็บ และ ไม่เป็นปัญหาในการดูดนมแต่อย่างใด จะหลุดไปเองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เพราะถูกเสียดสีเวลาดูดนม ไม่ต้องรักษาแต่อย่างใด อย่าไปบ่ง หรือ ใช้ของแข็งที่ไม่สะอาดไปขูดให้แตก หรือ พาไปกวาดคอ เพราะจะทำให้ติดเชื้อจากความสกปรก
เครดิตเนื้อหาและภาพ : เฟซบุ๊คคุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
นอกจากนี้ด้าน นายแพทย์เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์ จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ได้อธิบายถึงเรื่องราวเกี่ยวกับตุ่มขาวในปากของทารกเอาไว้ว่า
“ตุ่มขาวในปากทารกนั้นเป็นเรื่องปกติ สามารถพบได้ที่กลางเพดานปากของทารกแรกเกิด ลักษณะของเจ้าตุ่มที่ว่านี้จะมีเม็ดสีขาว ขนาดเท่ากับหัวหมุด จะมีมากหรือน้อยนั้นไม่แน่นอน แต่ที่แน่ ๆ ตุ่มเล็ก ๆ ที่ว่านี้ไม่ได้ส่งผลให้ทารกไม่ดูดนม ไม่ต้องทำอะไรให้ปล่อยเอาไว้ แล้วจะหลุดไปได้เอง ที่สำคัญอย่านำผ้าอ้อมที่เปียกปัสสาวะของลูกมาเช็ดเด็ดขาด มิเช่นนั้นละก็อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อจากปัสสาวะที่ว่านี้ก็เป็นได้”
มาถึงตอนนี้คุณพ่อคุณแม่คงจะสบายใจกันได้แล้วใช่ไหมละคะว่า เจ้าตุ่มขาว ๆ ที่เห็นในปากลูกน้อยนั้นไม่ได้น่ากลัวหรือเป็นอะไรที่ต้องกังวลเลย ดังนั้น สบายใจกันได้แล้วละค่ะ
ขอบคุณที่มา: น.พ. เกรียงศักดิ์ จีะแพทย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ PSTIP
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
รักษาโรคภูมิแพ้ ด้วยการปรับภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ลูกรักชนะโรคร้าย
ลูกหายใจครืดคราด สาเหตุเกิดจากอะไร 6 สาเหตุที่ทำให้เสียงหายใจลูกเป็นแบบนี้