พัฒนาการกล้ามเนื้อมือ
ความสามารถในการหยิบจับ การใช้นิ้ว การเขียนหนังสือ การเล่นดนตรี ล้วนแล้วแต่ต้องใช้กล้ามเนื้อมือทั้งสิ้น โดยพัฒนาการ กล้ามเนื้อมัดเล็ก และ กล้ามเนื้อมือ นั้น เริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่แรกเกิด ดังนี้
- 3 เดือน สามารถกำมือและแบมือได้
- 4 เดือน สามารถคว้าจับสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวได้
- 6-7 เดือน ลูกจะเอื้อมมือไปหยิบของที่ต้องการได้ และสามารถใช้สองมือถือสิ่งของได้ โดยใช้อุ้งมือทำงานร่วมกับนิ้วหัวแม่มือ ในการช่วยพยุงสิ่งของต่าง ๆ เช่น สามารถถือขวดนมได้เอง (อ่านต่อ ก้าวแรกของ พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกลูกถือขวดนมเอง)
- อายุ 7-9 เดือน สามารถถือก้อนไม้ขนาดที่ไม่ใหญ่นัก ในมือได้มือละก้อน โดยใช้นิ้วหัวแม่มือ และ นิ้วมือนิ้วอื่น ๆ ในการถือวัตถุ และยังสามารถใช้นิ้วเขี่ยของชิ้นเล็ก ๆ ให้มาอยู่กลางฝ่ามือได้
- 9-12 เดือน สามารถนำก้อนไม้ หรือวัตถุที่ถืออยู่นั้น มาเคาะกันให้เกิดเสียง ในช่วงนี้ คุณพ่อคุณแม่ อาจเริ่มสอนให้ลูกปรบมือได้ และสามารถหยิบสิ่งของที่เล็ก ๆ ด้วยปลายนิ้วหัวแม่มือและปลายนิ้วชี้
- อายุ 12-18 เดือน สามารถหยิบก้อนไม้ หรือวัตถุ ใส่ในถ้วย หรือ ภาชนะอื่น ๆ
- 18 เดือน จะสามารถจับดินสอ ขีดเส้นยุ่ง ๆ ได้ โดยการกดน้ำหนัก เบา หนัก ก็จะยังไม่ชัดเจน
- 2 ปีขึ้นไป ลูกจะสามารถต่อก้อนไม้ 6 ก้อนได้ในแนวตั้ง และ 4 ก้อนในแนวนอน ทักษะนี้จะต้องทำงานประสานกันระหว่าง มือ และ ตา รวมถึงการลงน้ำหนัก เบา และ หนัก ของแขน มือ และ นิ้วมือ นั่นเอง
วิธีสังเกตว่า พัฒนาการ กล้ามเนื้อมัดเล็ก ผิดปกติ
ในเด็กบางคน อาจเกิดความผิดปกติของ พัฒนาการ กล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้ โดยมีวิธีสังเกตถึงอาการผิดปกติ ดังต่อไปนี้
- ลูกอายุ 3 เดือน แล้วยังกำมือ ตลอดเวลา อาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท
- อายุ 6 เดือนแล้ว ยังไม่คว้าของหรือหยิบจับสิ่งของ และไม่มีท่าทีที่จะสนใจหรือมองเห็น อาจบ่งถึงความผิดปกติของกล้ามเนื้อมัดเล็ก สายตา หรือมีสติปัญญาบกพร่อง ได้
คุณพ่อคุณแม่ที่พบอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และวางแผนการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไปค่ะ
การฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กนั้น จำเป็นต้องใช้วัตถุชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้ลูกได้ฝึกใช้นิ้วมือ ดังนั้น จึงอยากขอเตือนให้คุณพ่อคุณแม่ระวังอุบัติเหตุที่เกิดจากการหยิบของที่มีขนาดเล็กเข้าปาก จนอาจทำให้ลูกเกิดการสำลักได้ ทั้งนี้ การพัฒนาของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ส่วนปลายนิ้วได้อย่างละเอียดมากขึ้น จนทำให้ลูกสามารถสำรวจสิ่งต่าง ๆ ด้วยการใช้นิ้วมือได้อย่างแม่นยำ จนสามารถทดแทนการนำนิ้วมือเข้าปากได้ นอกจากนี้พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กยังมีความ สัมพันธ์กับพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ไม่ใช้ทักษะด้านภาษาของลูกด้วย
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจได้ที่นี่
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ของทารกวัยแรกเกิด ถึง 3 ปี
ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กลูก ด้วยของเล่นประดิษฐ์สุดเริ่ด! แม่ๆทำเองได้ (มีคลิป)
สุดยอด “อาหารช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกน้อย”
ขอบคุณข้อมูลจาก : ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, www.essentialbaby.com.au
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่