“อุ้ม นพรรต นพปศักดิ์” คุณแม่บล็อกเกอร์ เจ้าของเพจ Aum Napat สุดฮอตที่มีแฟนๆ ติดตามเธอกว่า 8 แสนคน เชื่อว่าทุกคนที่ติดตามคุณอุ้ม นอกจากจะได้เสพความสุข ได้ความรู้ไปกับเมนูอร่อย ทำง่าย ก็ยังจะได้พลังในการเลี้ยงลูกแบบ Feel Good ไปด้วย
คุณแม่อุ้มผู้มีความสุขกับการทำอาหาร ใส่เสื้อผ้าสวยๆ นั่งชิลตามคาเฟ่ ไลฟ์สไตล์ของเธอได้ถูกต่อยอดเป็นเพจ Aum Napat และมีธุรกิจเสื้อผ้า เปิดร้านคาเฟ่ เธอได้ทำงานที่รัก ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว และเลี้ยงน้องอุนยาย ลูกสาววัย 4 ขวบให้เติบโตอย่างมีความสุข วันนี้ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะพาไปเปิดเคล็ดลับในการเลี้ยงลูก และการสร้างความสุขในชีวิตของคุณแม่อุ้ม นรรพต และน้องอุนยายกันค่ะ
แรงบันดาลใจในการทำเพจ Aum Napat
คุณอุ้ม : เริ่มครั้งแรกเลยที่อินสตาแกรมมีวิดีโอ 15 วินาที วันนั้นเพื่อนมาเที่ยวที่บ้านอุ้ม แล้วเราทำเมี่ยงปลาทูกินกัน เพื่อนก็แนะนำให้ถ่ายวิดีโอลงอินสตาแกรม อุ้มเลยแชร์เมนูนี้ลงอินสตาแกรมไป และจากวันนั้นก็มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นๆ แบบ Amazing มากค่ะ จนวันหนึ่งที่อุ้มขายของอยู่ที่จตุจักร ก็มีลูกค้าต่างชาติซึ่งประเทศเขาน่าจะใช้อินสตาแกรมไม่ค่อยได้ ก็เลยอยากให้อุ้มทำเพจ จึงเป็นที่มาของการที่อุ้มได้ทำเพจ Aum Napat ค่ะ
เพจ คือ ภาพสะท้อนตัวตนและไลฟ์สไตล์ของคุณแม่อุ้ม
คุณอุ้ม : คอนเทนต์ที่แชร์ในเพจของอุ้มส่วนใหญ่เป็นอาหารค่ะ จริงๆ แล้วอุ้มไม่ได้สร้างเพจขึ้นมาเพื่อทำรายได้หรือทำธุรกิจ แต่เป็นการทำเพจขึ้นมา เพื่อแชร์ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ซึ่งอาหารจะเป็นหลักเลยที่อุ้มแชร์บ่อย จากนั้นเป็นการเที่ยว เพราะเราขายเสื้อผ้า เราก็ไปตามร้านคาเฟ่ต่างๆ ก็เลยได้เที่ยวไปด้วย พออุ้มมีลูกก็เลยแชร์เรื่องลูกไปด้วย พูดง่ายๆ ก็คือคอนเทนต์ค่อนข้างไปตามไลฟ์สไตล์ในแต่ละช่วงชีวิตของเราค่ะ
จุดเริ่มต้นในการให้ลูกทานแบบ BLW
ให้ลูกทานแบบ BLW พัฒนากล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง
คุณอุ้ม : อุ้มจำได้ว่าให้ลูกทานด้วยมือครั้งแรกตอนไปเที่ยวมัลดีฟส์ ตอนนั้นอุนยายอายุประมาณ 10 เดือน เราไปนั่งทานข้าวกันที่ล็อบบี้ และอุ้มก็เห็นครอบครัวฝรั่งซึ่งมีลูกอายุใกล้ๆ กับอุนยาย เขาเอาข้าววางให้ลูกกิน แล้วลูกก็กินแบบเลอะเลย ซึ่งตอนแรกอุ้มคิดว่าจะให้ลูกกิน BLW ต้องรอโตกว่านี้ แต่พอได้เห็นแบบนั้น มื้อนั้นอุ้มก็ให้ลูกกินข้าว ทำแบบฝรั่งเขาเลย ก็เลยเป็นครั้งแรกที่ให้ลูกทานด้วยมือเอง ส่วนอาหารที่อุ้มแพ็คฟรีซไปสรุปไม่ได้ใช้เลย
ผลที่ได้รับ อุ้มคิดว่ามันค่อนข้างชัดเจนมากๆ เพราะว่ามันเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ในการใช้กล้ามเนื้อมือของเขา อุ้มรู้สึกได้ว่ากล้ามเนื้อของเขาแข็งแรงขึ้น เวลาเขาหยิบจับของต่างๆ เช่น ของใช้ ขวดนม แม้กระทั่งเวลาที่อุ้มเริ่มสอนเขาหัดจับช้อนส้อม หรือว่าเริ่มมาทำกับข้าวพร้อมอุ้ม เห็นได้ชัดเลยว่าเขามีพัฒนาการการใช้กล้ามเนื้อมือดีขึ้นมากๆ เลยค่ะ
ลูก คือ ภาพสะท้อนตัวตนของพ่อแม่
คุณอุ้ม : ในการเลี้ยงลูกของอุ้ม สิ่งที่อุ้มกำหนดชัดเจนคือ กินเป็นเวลา เช้า กลางวัน เย็น บ่ายมีของว่าง ส่วนไลฟ์สไตล์การเลี้ยงลูก อุ้มปล่อยให้เขาเรียนรู้ไปตามธรรมชาติ สบายๆ อย่างเช่น พาไปเล่นนอกบ้าน เล่นเครื่องเล่นต่างๆ ก็จะไม่ค่อยห้าม อย่างแม่บางคนจะระวังนั่นนี่ ระวังล้ม แต่สำหรับอุ้มไม่กลัว ให้เขาล้มไปเอง แล้วเขาจะเรียนรู้ว่าเขาจะเจ็บนะ แต่ระหว่างนั้น เราก็ต้องดูด้วยว่าสภาพแวดล้อมตรงนั้นมันปลอดภัย พูดง่ายๆ ว่าเราเลี้ยงลูกให้เขามีประสบการณ์ด้วยตัวเองและเรียนรู้จากสิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวัน ลูกคือภาพสะท้อนของพ่อแม่จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำอาหาร อุ้มไม่เคยบังคับให้อุนยายทำเลย แต่เขาเห็นเราทำในชีวิตประจำวัน เขาก็อยากทำตาม เวลาเขาอยู่กับคุณพ่อ คุณพ่อเขาพิมพ์คอมพิวเตอร์ เขาก็ทำท่าพิมพ์เหมือนกัน เขาเลียนแบบพฤติกรรมของเรา
ของใช้สำหรับลูก ต้องทดลองและเปรียบเทียบ
คุณอุ้ม : บ้านเราโชคดีมากๆ เลยที่มีหลายๆ ท่านส่งผลิตภัณฑ์หลายอย่างมาให้ได้ลองใช้ ก็เลยทำให้อุ้มได้เปรียบเทียบแล้วก็ได้รู้ว่าอะไรที่เหมาะหรือไม่เหมาะกับอุนยาย อุนยายใช้แล้วแพ้หรือไม่แพ้นะคะ อย่างเช่น ผ้าอ้อม อุ้มใช้มาแล้วทุกยี่ห้อ สุดท้ายก็มาจบที่เมอร์รี่ส์ (Merries) เพราะว่า อย่างแรกเลย อุนยายไม่เคยแพ้เลย แล้วก็ไม่เคยมีรอยแดงในการใช้ Merries เลย
และที่อุ้มชอบก็คือ เขาซึมซับน้ำได้ดีมากเลย ไม่เลอะออกมาจากผ้าอ้อม รวมถึงสัมผัสแรกที่จับ คือมันนุ่มมาก ลูกใส่แล้วไม่เคยเกิดระคายเคืองเวลาที่ใช้ Merries เราก็รู้สึกประทับใจค่ะ
การได้ทำอาหารกับลูก คือความสุขแบบง่ายๆ สไตล์ อุ้ม นพรรต
คุณอุ้ม : ความสุขของอุ้มง่ายๆ ก็คือ การได้อยู่กับต้นไม้ ได้อยู่ในครัวค่ะ และตอนนี้ลูกได้มาทำอาหารกับอุ้มแล้ว ก็เหมือนได้ส่งต่อความสุขนี้ให้กับอุนยาย ได้ใช้เวลาด้วยกัน เพราะเรามีเวลาให้กับเขา เขาก็ Happy ค่ะ
เคล็ดลับสร้างความสุข เติมพลังบวกในการเลี้ยงลูกช่วงโควิด
คุณอุ้ม : การเลี้ยงลูกในช่วงโควิด สำหรับตัวอุ้ม คิดว่ามันเครียดในทุกๆ วัยเลยไม่ว่าจะ 1 เดือน 2 เดือน ยิ่งช่วงนั้นเราไม่มีประสบการณ์เลี้ยงลูกเลย จนมาถึงวันนี้ 4 ขวบแล้ว ก็มีประสบการณ์พอสมควรแล้ว แต่ว่าเราก็เหมือนยังอ่อนหัด เพราะฉะนั้นคนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องเรียนรู้ไปตลอด ก็อยากส่งต่อความสุขให้กับคุณแม่นะคะ บางทีเครียดเราก็พยายามหันไปทางอื่นบ้าง คิดว่าเราก็ไม่ใช่คนเดียว ที่ต้องติดอยู่กับสถานการณ์แบบนี้
อย่างเช่นครอบครัวอุ้ม อุ้มเลี้ยงกับพี่แบงค์สองคน เวลาที่เครียดเราไม่สามารถเอาลูกทิ้งไว้กับใครได้เลย ถ้าเราเครียด เราก็ผลัดกันดูลูก แต่สำหรับบ้านไหนที่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย เราก็ยังมีคนช่วย อันนี้ก็ถือว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง
หรือถ้าเราเครียดมากๆ เราก็หาอะไรที่เราชอบมากๆ เป็นงานอดิเรก พักผ่อนสักแป๊บนึง แป๊บเดียวแหละคุณพ่อคุณแม่ก็จะคิดถึงลูกแล้ว และก็อยากจะเสริมว่าในช่วงที่สถานการณ์โควิดระบาด เราก็มองวิกฤติให้เป็นโอกาสว่า เราได้อยู่กับลูกมากขึ้นถึงแม้ว่ามันจะเป็นความสุขในความเครียด แต่ก็ทำให้เราได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น มากกว่าสมัยก่อนเยอะมากค่ะ
จากที่ได้พูดคุยกับคุณแม่อุ้ม นพรรต ในวันนี้ เชื่อเหลือเกินว่า คุณแม่คนสวยและเก่งคนนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจ และพลังบวกให้กับคุณแม่อีกหลายๆ บ้าน ในการสร้างความสุขในแบบฉบับของตัวเอง และส่งต่อความสุขนั้น ไปยังลูกน้อยที่คอยเฝ้าดูเราอยู่ เพราะลูกน้อยก็คือกระจกสะท้อนตัวตนของพ่อแม่ที่ชัดเจนที่สุด เป็นภาพสะท้อนว่า วันนี้เราเลี้ยงลูกอย่างมีความสุขแล้วหรือยัง?