นอน เปลไกว นาน ๆ เดี๋ยวหลังก็งอหรอก!! นอนเปลไกวทำให้เสี่ยงต่ออะไรบ้าง? วิธีเลือกที่นอนที่ปลอดภัยกับลูกน้อย ไม่ทำให้ลูกเสี่ยงตกเตียงกันค่ะ
เปลไกว อันตรายไหม? ที่นอนแบบไหนปลอดภัยกับลูก
ข่าวเด็กตกเตียงจนเสียชีวิต มีมาให้แม่ ๆ ได้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง โดยสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยตกเตียงนั้น ไม่ใช่ พ่อ แม่ หรือพี่เลี้ยง แต่กลับเป็นเตียงนอนนุ่ม ๆ อุ่น ๆ นอนสบาย ที่พ่อแม่ซื้อให้ลูกได้นอนนั่นเอง มหันตภัยที่ตั้งอยู่กลางบ้านนั้นมีความอันตรายอย่างไร รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่า
ปกติเด็กทารกจะนอนผลิตภัณฑ์หลายแบบ เช่น นอนเบาะเด็ก นอนเบาะใหญ่รวมกับผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเบาะที่วางกับพื้นหรือ นอนเตียงเด็ก เปลไกว โดยเด็กบางคนก็ใช้ผลิตภัณฑ์หลายอย่างในวันเดียวกัน
พูดถึง “เตียงเด็ก” กับ “เปลไกว” ทั้ง 2 อย่างเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทารกในหลายประเทศมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์กำกับ เพราะในต่างประเทศก็พบว่ามีเด็กเสียชีวิตจากเตียงที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวน มาก แต่ตัวเลขการเสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจนเมื่อออกมาตรฐานควบคุม
ในบ้านเรามีการสำรวจมารดาหลังคลอดในปี 2553-2554 พบว่า มีเด็กทารกใช้เตียงเด็กซึ่งขายอยู่ตามท้องตลาด 10.8 % คือ ใน 100 คน จะใช้ประมาณ 10 คน ในจำนวนนี้ 76.9 % เป็นเตียงเด็กที่มีความเสี่ยง ขาดมาตรฐานความปลอดภัย คือ ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้ามีช่องห่างมากเกิน 6 เซนติเมตร ราวกันตกล็อกไม่อยู่ ราวกันตกเตี้ยเกินไป จากขอบบนของเบาะที่นอนถึงราวกันตกด้านบนมีความสูงต่ำกว่า 65 เซนติเมตร ซึ่งสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บจากเด็กตกเตียงหรือลอดทะลุช่องแล้วมีการติด ค้างของศีรษะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ มีเด็กบาดเจ็บจากการใช้เตียงเด็กทั้งหมดคิดเป็น 19.2% โดยการบาดเจ็บหลักคือการตกจากเตียงซึ่งคิดเป็น 50%
ผลการสำรวจยังพบว่า เด็กไทยนอนเปลไกวมากกว่านอนเตียงเด็ก โดยมีการใช้ถึง 53.3% ลักษณะเป็นเปลที่ไกวได้ หรือ เป็นเปลญวน โดยเปลไกวที่มีความเสี่ยง คือ เปลไกวที่มีราวกันตกและผนังเตียงด้านศีรษะและเท้ามีช่องห่างมากเกิน 6 เซนติเมตร หรือมีฐานไม่มั่นคงจึงมีการพลิกคว่ำ ซึ่งสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการตกหรือลอดทะลุช่องแล้วมีการติดค้างของ ศีรษะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้คิดเป็น 42.8% มีเด็กบาดเจ็บจากการใช้เปลไกวทั้งหมด 20% โดยการบาดเจ็บหลักคือการพลิกคว่ำตกจากเปลพบได้มากสุด 45.5% แต่เนื่องจากลักษณะของเปลไกวจะอยู่สูงจากพื้นไม่มาก ดังนั้นการบาดเจ็บจะไม่รุนแรงมาก
การบาดเจ็บจากการตก “เตียงเด็ก” หรือ “เปลไกว” มีตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อย ฟกช้ำดำเขียว กระดูกหัก มีเลือดออกในสมอง แต่กรณีกระดูกหัก เลือดออกในสมองพบได้น้อยเนื่องจากความสูงที่เด็กตกลงมาจะไม่มากประมาณ 90 เซนติเมตร การบาดเจ็บจึงไม่รุนแรง โอกาสเสียชีวิตก็น้อย แต่ที่เด็กตกเตียงแล้วเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตในลักษณะแขวนคอ ขาดอากาศหายใจ คือ เด็กตกลงมาจากช่องห่างของซี่ราวกันตกที่ห่างเกิน 6 เซนติเมตร หรือ เตียงมีช่องรูต่าง ๆ ใหญ่กว่า 6 เซนติเมตร เด็กสามารถเอาขาลอด ตัวลอดได้ แต่ศีรษะติดออกมาไม่ได้ เมื่อขาไม่ถึงพื้นก็เลยทำให้เสียชีวิตในลักษณะแขวนคอ ประมาณ 4 นาทีก็เสียชีวิตแล้ว
ในกรณีที่เด็กตกเตียงแล้วมีเลือดออกในสมอง น่าจะเป็นการตกจากเตียงที่มีความสูงเกินกว่า 120 เซนติเมตรขึ้นไป เตียงที่ต่ำกว่า 120 เซนติเมตรอาจเกิดขึ้นได้เหมือนกันแต่น้อย ถ้าเลือดออกในสมองจากการตกเตียงในระดับที่ต่ำกว่านี้ควรตรวจหาสาเหตุอื่น ร่วมด้วย เช่น การถูกทำร้ายร่างกาย
จะเห็นได้ว่าการนอนเปลไกว และเตียงเด็ก ที่ได้มาตรฐาน อาจทำให้เกิดอันตรายได้บ้าง แต่อันตรายนั้น ๆ จะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรงหรืออันตรายต่อชีวิตนั่นเอง กลับมาคำถามที่ว่า เปลไกว ทำให้ลูกหลังงอได้ไหม? มีข้อดีข้อเสียอย่างไร? และอันตรายแค่ไหน? ทีมแม่ ABK ขอนำข้อมูลจากคุณหมออร จากเพจ เลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร Hormone for Kids กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ ที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้มาฝากกันค่ะ
#นอนเปลไกวมีผลอะไรต่อกระดูกสันหลังของเด็กมั้ย
#ที่นอนแบบไหนถึงปลอดภัยสำหรับเด็กมีคนถามบ่อยมากทั้งจาก inbox และคนใกล้ตัว ว่าการที่ให้ลูก “นอนเปลไกว” มีผลอะไรต่อกระดูกสันหลังของเด็กมั้ย เพราะหลังของเด็กจะงอตลอด
ตามข้อมูลแล้ว การนอนเปลไกวที่มีลักษณะเป็นเปลญวณหรือใช้ผ้าผูกทั้งหลายของภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่ได้มีผลอะไรต่อกระดูกสันหลังนะคะ และตามธรรมชาติ หลังของเด็กจะงอแยู่แล้วค่า ไม่เกี่ยวกับว่า งอจากการนอนเปลไกว
แต่อันตรายที่ต้องระวังมากกว่า คือ #การพลิกตกจากเปลได้ค่า ดังนั้นถ้าเด็กเริ่มลุกนั่งหรือพลิกคว่ำหงายได้แล้ว ซึ่งโดยทั่วไปก็อายุประมาณ 5 เดือน ก็ควรเลิกใช้ได้แล้ว
ข้อดีของเปลญวนคือ
- เด็กจะต้องนอนหงายเท่านั้น และส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้หมอนหนุน ดังนั้นโอกาสจะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจจากการนอนคว่ำก็น้อย
- ช่วยทำให้เด็กหลับได้ดีและหลับได้นานเลยค่าา เพราะเด็กจะรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่ในท้องแม่หรือเหมือนมีคนอุ้มตลอด
นอกจากนี้ คุณหมออรยังแนะให้ใช้เฉพาะตอนนอนกลางวันเท่านั้น อุ้มวางลงเปลตอนลูกเริ่มเคลิ้มๆ แล้วก็ไกวกล่อมนอน ให้ลูกหลับต่อเอง และควรใช้จนถึงอายุ 4-5 เดือนเท่านั้น พอเริ่มพลิกคว่ำหงายได้ ก็ควรเลิกใช้ เพราะอาจกลิ้งตกเปลได้ ให้เปลี่ยนมาใช้เป็นเปลไกวที่เป็นสี่เหลี่ยมแบบกรงแทน
เตียงแบบไหนปลอดภัยกับทารก?
ปัจจุบันทุกเตียงเด็กต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการความปลอดภัยสินค้าอุปโภคบริโภค (CPSC) ซึ่งหมายความว่าเตียงเด็กทารกที่มีราคาแพงหรือไม่ก็ตามจะต้องได้มาตรฐานความปลอดภัยขั้นต่ำตามข้อกำหนด (ASTM) โดยสาระสำคัญของมาตรฐานเตียงนอนเด็กสรุปได้ ดังนี้
- ช่องว่างระหว่างซี่กรงจะต้องไม่ห่างกันกว่า 2 3/8 นิ้ว หรือ 6 ซม. หากช่องว่างระหว่างซี่กรงมีขนาดกว้างกว่าที่กำหนด อาจทำให้ทารกเอาขา ตัว หรือหัว ลอดเข้ามาระหว่างช่องว่างได้ ซึ่งอาจจะทำให้ทารกขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตได้
- วัสดุรองนอนของทารกต้องแข็งแรงและไม่อ่อนยวบเมื่อวางตัวทารกลงไป เพราะอาจเป็นสาเหตุของการอุดทางเดินหายระหว่างหลับได้ ไม่นำตุ๊กตาหรือของเล่นวางไว้บนที่นอนของทารก
- วัสดุที่ใช้กันขอบเตียงควรใช้ผ้าทอรูปร่างคล้ายตาข่ายที่สามารถหายใจผ่านได้สะดวกและห้ามมีรอยต่อระหว่างเตียงนอนของทารกเพราะเด็กอาจพลิกตัวคว่ำหน้าลงไปในรอยต่อนั้นได้
- ความสูงระหว่างขอบด้านบนของลูกกรงกั้นข้างเตียง และผิวด้านบนของฟูกนอน จะต้องไม่ต่ำกว่า 5 นิ้ว (หากฟูกมีความหนา 6 นิ้ว ลูกกรงกั้นข้างเตียงต้องมีความสูงอย่างต่ำ 11 นิ้ว) เพื่อป้องกันเด็กปีนและตกลงมาจากเตียงได้
- ตัวล็อกกันตกมีความแข็งแรงทนทาน ทดสอบโดยเอามือเกาะหรือเขย่าเตียง ถ้าหล่นลงมาก็ไม่ควรใช้ และยกข้างเตียงลูกขึ้นเสมอ
- ขนาดของฟูกนอนต้องมีความพอดีกับขนาดของเตียง ไม่ควรให้มีช่องว่างระหว่างฟูกนอนและเตียง เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กตกลงไประหว่างฟูกและเตียงจนขาดอากาศหายใจได้ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรทดสอบโดยการใส่นิ้วสองนิ้วระหว่างด้านข้างของฟูกนอนและผนังเตียง หากสอดเข้าไปได้ก็ไม่ควรนำมาใช้เพราะอาจเกิดอันตรายได้
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าน็อตและสกรู ที่เตียงอยู่ครบ ถูกติดตั้งอย่างถูกต้อง และอยู่ในสภาพที่ดี เพราะหากมีน๊อตแม้แต่ตัวหนึ่ง อยู่ในสภาพไม่ดีหรือหายไป ก็อาจทำให้เตียงหัก แตก จนเกิดอันตรายกับลูกน้อยได้
โดยสรุปแล้ว เปลญวน หรือ เปลไกว สามารถนำมาให้ลูกนอนได้ ไม่ทำให้ลูกหลังคดแต่อย่างใด แต่เปลที่ซื้อมาควรจะได้มาตรฐานในด้านความปลอดภัย และควรใช้ในการนอนกลางวันโดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยดูอยู่ใกล้ ๆ และเมื่อลูกเริ่มพลิกคว่ำพลิกหงายเป็นแล้ว ก็ไม่ควรนำมาใช้ ควรเปลี่ยนเป็นเตียงเด็กที่ผลิตได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันอันตรายจากการตกเตียง นอกจากนี้ยังควรให้ลูกนอนหงายเพื่อป้องกันอันตรายจากโรค SIDS หรือไหลตายนั่นเอง
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
โรคไหลตายในทารก SIDS สาเหตุสำคัญ พร้อมวิธีป้องกันทารกหลับไม่ตื่น
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.cpsc.gov, CSIP ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก, คุณหมออร จากเพจ เลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร Hormone for Kids กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ, www.ryt9.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่