สอนลูกแบบไหน ให้ลูกรู้สึกว่าเราไม่ได้สั่งหรือบังคับให้ลูกทำ มาดู 4 เทคนิค สร้างวินัยเชิงบวก รู้จักพูดให้ลูกเข้าใจและยอมทำตามด้วยความเต็มใจ กันค่ะ
4 เทคนิค “สร้างวินัยเชิงบวก” พูดแบบไหน?..ให้ลูกยอมทำตาม
ทำความเข้าใจกับ “เหตุผล” ของลูก
การที่เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น โมโหร้าย ตี ทำร้าย กัด พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ไม่แบ่งปัน ไม่ทำตามกฎกติกา พฤติกรรมเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพราะลูกอยากจะทำตัวไม่ดีให้พ่อแม่ดุหรอกนะคะ พฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลของลูกซ่อนอยู่ ดังนี้
- ลูกยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ สาเหตุหลักที่ลูกอาละวาด โมโหร้ายนั้น เป็นเพราะว่า สมองของเด็กวัยนี้ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ จึงยังไม่รู้ถึงวิธีการรับมือเมื่อมีอารมณ์โกรธ และยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้เหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้น เมื่อลูกโกรธ และลูกต้องการระบายอารมณ์โกรธ สิ่งที่ทำได้คือการอาละวาดให้หายโมโหนั่นเอง
- ลูกอยู่ในวัยที่กำลังเรียนรู้ถึงกฎเกณฑ์และกติกา เด็กวัยนี้กำลังอยู่ในวัยที่ลองผิดลองถูก ในบางครั้งลูกก็อาจจะอยากที่จะแหกกฎเกณฑ์ที่พ่อแม่รวมถึงคนรอบข้างตั้งไว้ดูบ้าง เพื่อดูว่าพ่อแม่จะมีปฏิกิริยาอย่างไร และผลของการแหกกฎเกณฑ์ครั้งนี้เป็นอย่างไร
- เด็กกำลังเรียนรู้ภาษา เด็กวัย 2 ขวบจะยังไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดได้ 100% ดังนั้นการที่พ่อแม่คาดหวังให้ลูกจะสามารถเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่กำลังพูดกำลังสอนได้เหมือนผู้ใหญ่เลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
- พ่อแม่คาดหวังมากไปหรือเปล่า? ลองคิดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยสองขวบ ที่ตั้งแต่เกิดมา พ่อแม่คอยดูแลเอาใจใส่เขาทุกอย่าง เช่น วิ่งไปหาทันทีเมื่อลูกร้องไห้ เพื่อดูว่าลูกหิวนมหรือไม่ ต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือไม่ พ่อแม่ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกรู้สึกสบายขึ้น เพราะลูกยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่เมื่อลูกอายุสองขวบ เริ่มที่จะสื่อสารสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น สามารถทำอะไรเองได้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเดินไปหยิบสิ่งที่ต้องการ การกินอาหารได้เอง ลูกจะเริ่มรู้ว่าพ่อแม่ไม่ได้ทำอะไรให้เขาทุกอย่างอีกต่อไป เมื่อพ่อแม่ไม่ทำสิ่งต่าง ๆ ให้ลูกเหมือนตอนเป็นทารก แถมยังต้องการให้ลูกทำตามที่พ่อแม่ต้องการ ตามกฎกติกาต่าง ๆ เด็กวัยสองขวบจึงอาจไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงเริ่มต่อต้านด้วยการร้องอาละวาด
การที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบถึงเหตุผลของลูก และดุด่าว่ากล่าวเพื่อไม่ให้ทำอีก จึงไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม เพราะเมื่อลูกไม่ได้รับการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ก็จะทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อไปอีกเรื่อย ๆ ดังนั้น เมื่อรู้ถึงสาเหตุที่ลูกอาละวาดแล้ว ทีมกองบรรณาธิการ ABK ก็มีวิธีรับมือและ สร้างวินัยเชิงบวก ให้กับเด็กอาละวาด เอาแต่ใจ มาฝากค่ะ
พูดแบบไหน?..ให้ลูกยอมทำตามแต่โดยดี
บางครั้งการออกคำสั่งก็ไม่ได้ช่วยให้ลูกเชื่อฟัง แต่อาจทำให้ต่อต้านกว่าเดิมด้วย
การ “สร้างวินัยเชิงบวก” ถือเป็นเรื่องที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องรู้จัก
เป็นการสอนและฝึกฝนเด็กให้มีพฤติกรรมตามที่เราคาดหวัง ด้วยการใช้การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
ตรงกับธรรมชาติการรับรู้และการเรียนรู้ของเด็ก
“สั่ง” แบบนี้ ไม่ดีแน่ | “สอน” แบบนี้สิ ใช่เลย! |
ใช้คำพูด “ห้าม” “ไม่ได้” “อย่า” “หยุด” เช่น
ห้ามเอามือเข้าปากนะ เล่นต่อไม่ได้นะ เราจะกลับบ้านกันแล้ว อย่าอมข้าว หยุดร้องไห้ |
ใช้คำ ขอบคุณ ตามด้วยพฤติกรรมที่เราต้องการให้ลูกทำ เช่น
แม่ขอบคุณที่หนูจับช้อน แล้วตักข้าวเข้าปากเอง ขอบคุณที่หนูเลิกเล่น แล้วกลับบ้านกับแม่ แม่ขอบคุณที่หนูเคี้ยวข้าว ขอบคุณที่หนูใช้คำพูดดีๆ กับแม่ |
“สั่ง” แบบนี้ ไม่ดีแน่ | “สอน” แบบนี้สิ ใช่เลย! |
สั่งให้ทำกิจวัตรประจำวัน “เดี๋ยวนี้!” เช่น
“ตื่นเดี๋ยวนี้!” “ไปอาบน้ำเดี๋ยวนี้!” “เก็บของเล่นเดี๋ยวนี้!” |
ให้ทางเลือกและให้ลูกตัดสินใจ เช่น
“หนูจะตื่นเลยหรือจะนอนต่ออีก 5 นาที” “หนูจะเอาของเล่นพี่เป็ด หรือพี่ปลาโลมาไปอาบน้ำด้วย” “หนูจะให้แม่ช่วยเก็บของเล่นหรือหนูจะเก็บคนเดียว” |
“สั่ง” แบบนี้ ไม่ดีแน่ | “สอน” แบบนี้สิ ใช่เลย! |
สั่งให้ทำกิจวัตรประจำวัน “ดีๆ” เช่น
“นั่งดีๆ!” “พูดดีๆ!” |
บอกพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น
“นั่งหลังตรง ก้นติดเบาะ เท้าติดพื้นค่ะลูก” “หนูกลืนข้าว แล้วค่อยพูดครับ” |
“สั่ง” แบบนี้ ไม่ดีแน่ | “สอน” แบบนี้สิ ใช่เลย! |
ขู่ ให้ทำ เช่น
“ถ้าทานข้าวไม่เสร็จ ไม่ต้องไปเล่น จะปล่อยให้อยู่คนเดียวเลย” |
บอกพฤติกรรมที่ต้องการให้เด็กทำ ตามด้วยสิ่งที่เขาอยากทำ เช่น
“เมื่อกินข้าวหมดแล้ว ไปเล่นได้เลยค่ะ” |
จะเห็นว่า “การสั่ง” ไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางจิตใจของลูกได้ เนื่องจากในขณะที่ลูกอยากทำสิ่งหนึ่ง แล้วถูกห้ามหรือสั่งลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่ขัดใจ ทำให้เขาไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ และเกิดความรู้สึกไม่ดี ความไม่มั่นคงทางจิตใจที่เกิดขึ้นจะทำให้ลูกไม่พร้อมรับฟังสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูด และจะใช้พลังงานทั้งหมดในการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือต่อต้าน เพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ
ในทางตรงกันข้ามหากคุณพ่อคุณแม่ใช้เทคนิคเชิงบวกด้วย “การสอน” เช่น การขอบคุณ การให้ทางเลือก และการบอกพฤติกรรมที่เหมาะสม จะสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางจิตใจของลูกน้อย เพราะลูกจะไม่รู้สึกว่าพ่อแม่ห้ามในสิ่งที่เขาอยากทำและไม่รู้สึกถูกต่อว่าจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้เขาอยู่ในอารมณ์ที่พร้อมจะรับฟัง เรียนรู้สิ่งที่พ่อแม่บอก และอยากจะทำตามด้วยตัวเอง เมื่อใช้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกในการสื่อสารเป็นประจำแล้ว เด็กๆ ก็จะมีโอกาสได้ฝึกฝนพฤติกรรมที่เหมาะสมจนติดเป็นนิสัยและกลายเป็นวินัยในตนเองได้นั่นเอง
การ สร้างวินัยเชิงบวก จึงเป็นหนทางหนึ่งที่ควรนำมาใช้ “สอน” แทนการ “สั่ง”เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีหัวใจสวย ปัญญาเลิศเชิดชูคุณธรรมและอารมณ์ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
8 วิธี สร้างวินัยเชิงบวก ง่ายๆ ป้องกันลูกดื้อ เริ่มได้ตั้งแต่ 1 ขวบ
ขอบคุณข้อมูลจาก อ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่