ลูกนอนน้อย นอนดึก ส่งผลต่อพัฒนาการ อารมณ์ และสมองของลูกโดยตรง หากปล่อยให้ลูกนอนน้อยไปจนเป็นนิสัย อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคร้ายหลายโรค!!
ลูกนอนน้อย นอนดึก แก้ได้ด้วย 5 ต้องห้าม 5 ต้องทำ!!
การนอนเป็นอาหารสมอง เป็นสิ่งสำคัญ หากลูกนอนหลับได้เพียงพอ ก็จะช่วยทำให้ร่างกายได้พักผ่อนได้อย่างเต็มที่ สร้างภูมิต้านทานโรค สดชื่นแจ่มใสอารมณ์ดี มีความกระฉับกระเฉง ร่าเริง จดจำสิ่งต่าง ๆ ที่เรียนรู้ไปได้อย่างแม่นยำ แต่หาก ลูกนอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะมีปัญหาเรื่องพัฒนาการและพฤติกรรม ดังนั้นการนอนเป็นเรื่องสำคัญของคนทุกคนและควรสนับสนุนให้เด็ก ๆ นอนให้เพียงพอ
การนอนหลับของเด็กเป็นเรื่องที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่สับสน เพราะการนอนของเด็กแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน อีกทั้งในช่วงทารก จะมีภาวะหลับตื่นสลับกันไปตลอดทั้งวันและทั้งคืน ทำให้ไม่แน่ใจว่าที่ลูกนอนหลับไปนั้น เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายหรือยัง ลูกของคุณควรนอนวันละกี่ชั่วโมงกันแน่
เด็กแต่ละวัย …. นอนแตกต่างกันอย่างไร?
- วัยทารก วัยนี้จะมีภาวะหลับตื่นสลับกันไปตลอดทั้งวัน แต่เมื่ออายุได้ประมาณ 4 เดือนจะเริ่มหลับกลางคืนได้ยาวประมาณ 6 ชั่วโมงและเมื่ออายุ 6 เดือนจะสามารถหลับได้นานถึง 10 ชั่วโมงแต่ก็ยังสามารถตื่นได้ในระหว่างการนอนหลับ ซึ่งทารกบางคนสามารถกลับไปหลับต่อได้ด้วยตัวเอง แต่บางคนต้องการการกล่อมจึงจะหลับต่อได้
- วัยเรียน วัยนี้ต้องการการนอนประมาณ 9 – 12ชั่วโมง ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจต้องการจำนวนชั่วโมงในการนอนแตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกนอนพอหรือไม่ ได้จากพฤติกรรมของลูกระหว่างวัน เช่น สามารถปลุกตื่นได้ง่าย ไม่ผล็อยหลับตอนกลางวัน (ถามได้จากคุณครู) และเมื่อเข้านอนสามารถหลับได้ภายใน 15 – 30 นาที
- วัยรุ่น วัยนี้ต้องการเวลานอน 8 – 10 ชั่วโมง แต่ลักษณะการนอนของเด็กวัยนี้จะเปลี่ยนไปจากวัยเรียน โดยที่วัยรุ่นจะเข้านอนดึกและตื่นสายซึ่งเป็นภาวะปกติเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น ดังนั้นในช่วงเปิดเทอมที่วัยรุ่นต้องมาโรงเรียนในตอนเช้าจะมีผลทำให้วัยรุ่นนอนไม่พอได้บ่อย และอาจกระทบต่อการเรียน และวัยรุ่นมักจะมานอนชดเชยในวันหยุด
สัญญาณที่แสดงว่าลูกกำลังมีปัญหาด้านการนอนหลับ
- คุณพ่อคุณแม่ใช้เวลามากเกินไป “ช่วย” ให้ลูกของคุณนอนหลับ
- ลูกตื่นขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั้งคืน
- ลูกมีปัญหาเรื่องพัฒนาการและพฤติกรรม เช่น หงุดหงิดง่าย มักจะผล็อยหลับตอนกลางวัน
- คุณพ่อคุณแม่อดนอน เนื่องจากปัญหาด้านการนอนหลับของลูก
ลูกนอนน้อย นอนไม่พอ ส่งผลต่ออะไรได้บ้าง?
- จะเกิดปัญหาการเจริญเติบโตไม่ดี
การนอนหลับมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาสมองและสุขภาพของเด็ก โดยเวลานอนทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) มากขึ้น ส่งผลกระตุ้นการเจริญเติบโต และควบคุมสัดส่วนของไขมันในกล้ามเนื้อ โดยพบว่าฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) จะหลั่งมากในเวลากลางคืน หลังจากที่หลับไปแล้ว 1 – 2 ชั่วโมง ถ้านอนหลับไม่เพียงพอก็จะส่งผลให้การหลั่งของฮอร์โมนการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางด้านความสูง
2. การเรียนรู้ช้าลง
เด็กเป็นวัยที่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทุกวัน เมื่อลูกนอนหลับ สมองจะทำหน้าที่จัดเก็บและจัดระเบียบข้อมูลที่เรียนรู้มาในช่วงระยะของการหลับลึก เพื่อพร้อมให้ดึงกลับมาใช้ใหม่ มีผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเมื่อเด็กเรียนรู้ในสิ่งเดียวกัน แล้วมาทำแบบทดสอบภายหลัง พบว่าเด็กที่ได้มีโอกาสนอนหลังจากการเรียน จะสามารถทำแบบทดสอบได้ดีกว่ากลุ่มที่ยังไม่ได้นอนอย่างชัดเจน ดังนั้นการนอนหลับอย่างเพียงพอ จะส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก
3. ความจำลดลง
การที่ ลูกนอนน้อย ส่งผลให้ระบบจัดเก็บความทรงจำหรือระบบประสาทมีประสิทธิภาพลดลง โดยอวัยวะที่สำคัญ คือ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) จะทำหน้าที่ถ่ายโอนข้อมูลที่เรียนรู้ในระหว่างวัน เข้าสู่ความทรงจำระยะยาว ซึ่งอวัยวะชิ้นนี้จะทำงานตอนที่เรานอนหลับเท่านั้น และจะทำงานได้ดีหากร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ
4. การสร้างภูมิต้านทานโรคลดลง ทำให้ติดเชื้อง่าย
การนอนไม่พออาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากระหว่างนอนหลับ ร่างกายจะหลั่งสารอินเตอร์ลิวคิน-1 (interleukin-1) ออกมา ซึ่งเป็นสารประกอบที่กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และการนอนไม่พอติดต่อกันหลายคืน สามารถรบกวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของเด็ก ๆ ได้
5 ต้องห้าม 5 ต้องทำ เพื่อสร้างนิสัยการนอนที่ดีให้ลูกน้อย
5 ต้องทำ เพื่อสร้างนิสัยการนอนที่ดีให้ลูกน้อย
- สร้างกิจวัตรก่อนนอนให้เป็นเวลาพิเศษที่จะพูดคุยกับลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัย เมื่อลูกรู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัยแล้ว ลูกจะสามารถนอนหลับได้อย่างไม่ต้องกังวล ไม่ตื่นมากลางดึกบ่อย ๆ
- ให้ลูกเข้านอนและตื่นนอนตรงเวลา เวลาที่เริ่มกล่อมให้ลูกเข้านอน ควรเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน และไม่ควรให้ลูกตื่นสายจนเกินไป เพราะเมื่อถึงเวลานอนอีกครั้งจะทำให้ลูกไม่ยอมนอนหรือนอนไม่หลับได้ ดังนั้นจึงควรให้ลูกตื่นนอนให้ตรงเวลาด้วย
- จัดบรรยากาศห้องนอนให้เหมาะสมสำหรับการนอน สำหรับเด็กเล็กสามารถใช้เสียงที่เป็นจังหวะสม่ำเสมอไม่ดัง ไม่กระตุ้น หรือเสียง White Noise เป็นเสียงที่ช่วยกล่อมให้เด็กนอน
- สร้างกิจวัตรในระหว่างวันให้มีตารางเวลาสม่ำเสมอ เวลาตื่นนอน เวลาทานข้าวเช้า กลางวัน เย็น เวลาอาบน้ำ เวลาเล่น เวลาของกิจกรรมก่อนนอน ควรเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน เพราะการทำกิจวัตรระหว่างวันไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด อาจจะไปกระทบต่อเวลาที่ควรจะเข้านอนได้ เช่นหากทานอาหารมื้อเย็นช้าเกินไป จะทำให้มีเวลาอาบน้ำ และเวลากิจกรรมก่อนนอนน้อยลง จนไปทำให้ต้องเข้านอนดึกขึ้น เป็นต้น
- ควรปิดไฟ หรือ หรี่แสงไฟในห้องนอน เมื่อถึงเวลานอน และควรให้เด็กได้เจอแสงแดดธรรมชาติในเวลากลางวัน
5 ต้องห้าม!! เพื่อสร้างนิสัยการนอนที่ดีให้ลูกน้อย
- ทารกควรเลี่ยงการให้เด็กหลับคาขวดนม การใช้ขวดนมในการกล่อมให้ลูกนอนหลับไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เด็กควรนอนหลับได้ด้วยตัวเอง การใช้ตัวช่วยต่าง ๆ เช่น การนอนหลับคาขวดนม การอุ้มกล่อม จะส่งผลต่อปัญหาในการหลับต่อเองเมื่อตื่นกลางดึกได้ ดังนั้น ควรฝึกให้ลูกกล่อมตัวเองนอนหลับแทนการใช้ตัวช่วยต่าง ๆ
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เร้าใจ ตื่นเต้น หรือ กิจกรรมที่ต้องเผชิญกับแสงที่จ้ามากเกินในช่วงเวลา 2 – 3 ชั่วโมงก่อนนอน เช่น การดูทีวี ดูมือถือ ดูแท็ปเล็ตก่อนนอน จะทำให้ลูกตื่นเต้น คิดแต่เรื่องที่เพิ่งจะดูมา จนทำให้นอนไม่หลับ หรือเป็นกังวลจนนอนหลับไม่สนิทได้
- อย่าให้การนอนเกิดจากการขู่ หรือ เป็นการลงโทษจากการทำความผิด ควรสอนให้เด็กรับรู้ว่าการนอนเป็นเวลาของความสุข เพื่อให้ลูกนอนหลับไปอย่างมีความสุข ไม่ใช่ความกลัว เพราะหากหลับด้วยความกลัว ลูกจะนอนหลับได้ไม่สนิท ตื่นตอนกลางคืนบ่อย ๆ ได้
- หลีกเลี่ยงการเอาของเล่นมาให้เด็กเล่นเมื่อถึงเวลานอน ของเล่นที่สามารถนำมาเล่นก่อนนอนได้ควรเป็นของเล่นที่เหมาะกับกิจกรรมก่อนนอน เช่น ตุ๊กตา หนังสือนิทาน เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารหนัก หรือ ชา กาแฟ น้ำอัดลมที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เพราะการทานอาหารหนักก่อนนอน อาจทำให้ลูกต้องลุกมาเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น และสำหรับทารก หากมีการขับถ่ายตอนกลางคืน จะทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้ และสำหรับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน จะกระตุ้นให้ลูกรู้สึกตื่นตัวจนนอนไม่หลับได้
ปัญหาการนอนหลับที่เกิดขึ้นในเด็กส่วนใหญ่ ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่แต่อย่างใด และก็ไม่ได้แปลว่าเด็กมีความผิดปกติทางจิต หรือทางกายแต่อย่างใดด้วย หากคุณพ่อคุณแม่ได้ทำตามหลัก 5 ต้องห้าม 5 ต้องทำแล้ว ยังพบว่าลูกมีปัญหาการนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของปัญหาต่อไป
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ฝึกลูกนอน (เร็วและเป็นเวลา) จำเป็นไหม? พร้อมวิธีฝึกลูกให้หลับเร็ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่