ลูกโดนรังแก บ่อยควรสอนให้สู้ไม่ถอย หรือหนีเอาตัวรอด - Amarin Baby & Kids
ลูกโดนรังแก

ลูกโดนรังแก บ่อยควรสอนให้สู้ไม่ถอย หรือหนีเอาตัวรอดเป็น

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกโดนรังแก
ลูกโดนรังแก

ลูกโดนรังแก โดนเพื่อนแกล้งดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กทุกวัยต้องเจอ แต่จริงๆแล้วมันคือปัญหาใหญ่ที่สร้างแผลในใจให้กับลูกน้อยไม่มากก็น้อย ยิ่งถ้าการกลั่นแกล้งนั้นกระทบต่อการใช้ชีวิต การเรียนของลูกด้วยแล้ว เท่ากับสร้างความเจ็บปวดให้กับพ่อแม่ไม่ต่างกัน

 ลูกโดนรังแก แบบนี้พ่อแม่ควรทำอย่างไรดี

แต่พ่อแม่อย่างเราควรสอนให้ลูกแก้เกมอย่างไรถึงจะเหมาะสม? ถ้าสอนให้ลูกเดินหนี กลายเป็นคนอ่อนแอและขี้กลัวหรือเปล่า? แต่ถ้าให้ลูกสวนกลับจะกลายเป็นว่าสอนให้ลูกใช้ความรุนแรงหรือไม่ สถานการณ์แบบนี้ควรตัดสินใจอย่างไรดี Amarin Baby & Kids รวมรวมคำตอบมาคลายข้อสงสัย เข้าใจง่าย ตามสไตล์ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพฤติกรรมเด็กมาแนะนำกันค่ะ

ลูกโดนรังแก

เช็กก่อนลูกโตพอรับมือเองหรือยัง

สำหรับเด็กเล็กอายุไม่ถึง 5 ขวบ จะปล่อยให้ตัดสินใจเองว่าจะสู้หรือถอยคงไม่ได้ เพราะลูกน้อยยังปกป้องตัวเองไม่ได้ ต้องการคนดูแล ฉะนั้นพ่อแม่ควรยื่นมาเข้าไปช่วยอย่างเต็มในทุกกรณี ถึงจะเป็นเด็กผู้ชาย ซึ่งดูเหมือนว่าจะอดทนได้มากกว่าผู้หญิง แต่จิตใจของเด็กนั้นบอบบางเท่ากัน จึงไม่ใช่เวลามาฝึกฝนความเข้มแข็ง หากลูกโดนเพื่อนรังแก ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย หรือคำล้อเลียนให้เสียใจ พ่อแม่ควรจับสัญญาณนั้นให้ไวและเข้าไปช่วยลูกทันที กรณีที่เกิดเหตุในโรงเรียน ควรขอความช่วยเหลือจากคุณครูประจำชั้นให้เป็นหูเป็นตาให้

MUST READ:  5 วิธีสังเกต ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน หรือไม่

MUST READ:  ลูกโดนแกล้ง พ่อแม่ช่วยได้ ป้องกันก่อนสายใช้กำลัง- ฆ่าตัวตาย

จะเลือกเดินหนี หรือสู้กลับดี

เวลา ลูกโดนรังแก ที่โรงเรียน คุณครูอาจปกป้องเด็กๆ ทุกคนได้ไม่ทัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูก วัย 2-5 ขวบรู้จักวิธีบอกคุณครูเมื่อถูกเพื่อนแกล้งไม่ว่าจะหนักหรือเบา ให้ลูกคิดไว้เสมอว่า “ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิ์รังแกคนอื่น” และ “ลูกต้องปกป้องตัวเองจากเรื่องนี้” เมื่อไหร่ก็ตามที่โดนเพื่อนแกล้ง ต้องบอกให้คนช่วยทันที ไม่จำเป็นต้องนิ่งเฉย สอนให้ลูกกล้าเดินไปบอกครูว่า “เพื่อนคนไหนแกล้ง โดนแกล้งอย่างไร” ขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ควรแจ้งครูไว้ด้วยว่าได้สอนลูกเรื่องนี้ไว้ และอยากฝากให้คุณครูช่วยดูแลต่อด้วย

ลูกโดนรังแก

กรณีที่เกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้า เช่น โดนท้าต่อย หรือแกล้งจนเจ็บตัวแล้ว พ่อแม่ควรเปิดไฟเขียวให้ลูกโต้กลับ เพื่อป้องกันตัวเอง เพราะเด็กที่แกล้งคนอื่นมักชอบรังแกคนอ่อนแอกว่า ตัวเล็กน้อย หรือเป็นรุ่นน้อง แต่ถ้าลูกแสดงท่าทีว่า ไม่กลัว และพร้อมจะตอบโต้เหมือนกัน เด็กเหล่านี้ก็จะเลิกแกล้งไปเอง พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกเลือกว่า สถานการณ์เฉพาะหน้าจะ “เดินหนี” หรือ “สู้กลับ” ด้วยตัวเอง เพราะไม่ว่าแบบไหนก็ไม่มีถูก ไม่มีผิด แต่ถ้าลูกทำไปแล้วควรตั้งเงื่อนไขว่าต้องกลับมาเล่าให้พ่อแม่ฟังทุกครั้ง เพื่อจะช่วยคิดต่อไป

คุณแม่สามารถยกหน้าที่นี้ให้คุณพ่อเป็นคนดูแล สอนศิลปะการป้องกันง่ายๆไว้เป็นวิชาติดตัว ที่สำคัญต้องย้ำว่าห้ามทำไปทำร้ายคนอื่นเด็กขาด หากลูกไม่รังแกใคร พ่อแม่จะอยู่ข้างลูกเสมอ แต่ถ้าทำกลับกัน ถ้าครูลงโทษพ่อแม่จะไม่ช่วยเด็ดขาด

ลูกโดนรังแก

ตั้งใจฟังทุกปัญหาของลูก

นี่คือสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม การตั้งใจฟังเรื่องราวและสิ่งที่ลูกตัดสินใจทำไป ช่วยให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่อยู่เคียงข้างเสมอ ไม่ว่าตัวจะไม่อยู่ด้วยก็ตาม เมื่อรับฟังแล้วให้ถามลูกกลับว่า “สิ่งที่ทำลงไปลูกชอบ หรือไม่ชอบ” ถ้าไม่ชอบจะแก้ไขอย่างไร ถ้าเพื่อนยังแกล้งไม่หยุด ลูกต้องเปลี่ยนวิธีรับมือใหม่หรือเปล่า  ควรใช้คำถามว่า “ชอบหรือไม่ชอบ” เด็กเล็กจะเข้าใจได้ง่ายกว่า “ดีหรือไม่ดี”

จากนั้นค่อยๆพัฒนาทักษะชีวิตเกี่ยวกับการเอาตัวรอดในสถานการณ์คับขันให้กับลูก ไม่ว่าจะเลือกสู้ต่อหรือถอยหนี ก็ไม่ต้องห่วงว่าการตัดสินใจนั้นจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้ขลาด หรือก้าวร้าวเมื่อโตขึ้น  เพราะสุดท้ายแล้ว ลูกแค่ไม่ชอบที่ตัวเองโดนรังแกเท่านั้นเอง

ลูกชอบรังแกเพื่อนต้องรีบแก้

ถ้าลูกชอบแกล้งเพื่อน คนที่สามารถปรับพฤติกรรมได้ดีที่สุดคือ พ่อกับแม่ โดยสอนเพียงสั้นๆและชัดเจนว่า “พ่อแม่ไม่ชอบที่ลูกทำคนอื่นเจ็บ ทำคนอื่นร้องไห้” ไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างเหตุการณ์ หรือให้เหตุผลยืดยาว หากลูกไม่ยอมเชื่อฟัง นั่นหมายความว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องกลับมาพิจารณาตัวเองว่ามีเวลาเอาใจใส่ดูแลลูกมากพอหรือยัง ถ้ายังต้องรีบเติมเต็มส่วนนี้ทันที เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่มีตัวตนอยู่จริงและเกิดสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น ท้ายที่สุดลูกจะยอมทำตามด้วยความเต็มใจ

รู้ได้อย่างไรว่า ลูกโดนรังแก

*ลูกมีท่าทีเปลี่ยนไป เช่น กลับมาจากโรงเรียนแล้ว เก็บตัวเงียบซีม ไม่พูดไม่จา เงียบ  นี่เป็นสัญญาณที่บอกให้คุณพ่อคุณแม่ทราบแล้วละว่า ลูกของเรามีปัญหาที่โรงเรียน

*มีรอยแผลตามเนื้อตัว ลองสังเกตดูว่าบาดแผลบนร่างกายลูกหรือ อย่าเพิ่งดุ หรือซักไซ้ด้วยความโมโหนะคะ แต่ให้ถามลูกดี ๆ ว่า “เจ็บไหม ไปโดนอะไรมาลูก ไหนเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังสิจ้ะ”

*ลูกไม่มีเพื่อนด้วย ปกติเด็กจะมีเพื่อนที่โรงเรียน ถึงจะไม่มีเพื่อนเยอะแต่ก็น่าจะมีเพื่อนสนิทสัก 1-2 คน แต่ถ้าถามดูแล้วลูกไม่มีเพื่อน ให้ลองหาคำตอบว่าทำไมลูกถึงไม่มีเพื่อน เพราะอาจมีความลับซุกซ่อนอยู่

*ลูกไม่อยากไปโรงเรียน เป็นพฤติกรรมที่แสดงชัดเจนว่าลูกกำลังมีปัญหาที่โรงเรียน ไม่ว่ากับคุณครู เพื่อน หรือรุ่นพี่ คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามค้นหาคำตอบที่แท้จริงให้เจอ

*ครูหรือเพื่อนของมาเล่าให้ฟัง เวลาอยู่โรงเรียนครูกับเพื่อนเป็นคนที่ใกล้ชิด และเห็นพฤติกรรมของลูกได้ดีที่สุด ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจฝากฝังให้พวกเขาช่วยคอยดูแลลูก ถ้ามีอะไรให้มาบอกทันที

 


ที่มาข้อมูล   เพจนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

บทความน่าสนใจอื่นๆ

6 วิธีคุยกับลูก ขี้หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน (เริ่ม 6 ขวบ+)

5 วิธีสังเกต ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน หรือไม่

 

7 วิธีสร้างเกราะป้องกัน ลูกถูกบูลลี่ และไม่ให้ลูกบูลลี่คนอื่น

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up