แม่ดุลูก อย่างไร ให้ได้ผล!
ในการดุ หรือตำหนิลูก ของพ่อแม่นั้น ก็หวังเพื่อให้ลูกได้ รับรู้ และตระหนักในความผิด ความไม่ถูกต้องจากพฤติกรรมของตัวเอง เกิดการเรียนรู้และแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ แต่การตำหนิลูกไม่ถูกวิธี อาจทำให้ลูกสูญเสียความเชื่อมั่น และคุณค่าในตัวเอง เป็นปมขัดแย้งในใจ เกิดพฤติกรรมต่อต้าน สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูกแย่ลงได้
และทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ดุลูกไป เชื่อว่าต้องมีหลายคนที่จะรู้สึกไม่สบายใจ แต่ถึงอย่างไรในการอบรมสั่งสอนเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดีได้นั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องยึดหลักที่ว่า ‘ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด’ เมื่อลูกน้อยเผลอทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นั่นก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องคอยตักเตือนและชี้ทางที่ถูกที่ควรเพื่อให้เขาปรับปรุงตัว
และเมื่อดุไปแล้ว หากอยากจะปลอบโยนลูก หรือขอโทษที่เสียงดังหรือเผลอกระทำลงไม้ลงมืออะไรไป ก็สามารถทำได้ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับวิธีการดุลูกและการปลอบลูกด้วยนะคะ
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วลองดูวิธีดุลูกอย่างเหมาะสมกันดีกว่าค่ะ ว่าคุณพ่อคุณแม่ควรดุลูก หรือทำอย่างไร เพื่อให้ลูกรับรู้ และเชื่อฟัง ในความผิดของตนเอง
1. อันดับแรกพ่อแม่ต้องปรับใจเป็นกลาง
เพราะเด็กๆ ทุกคน มีโอกาสทำผิดกันได้ทั้งนั้นประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กยังน้อย จะให้เก่ง รู้เรื่องไปหมดคงเป็นไปไม่ได้ตอนเราเป็นเด็กก็ยังเคยทำผิดมาก่อน อย่าเพิ่งอคติตั้งแง่กับลูกตั้งแต่เริ่มต้น
2. รับฟังเหตุผลในมุมมองของลูกจนจบ
อย่าเพิ่งไปมองว่าลูกโกหก หรือแก้ตัวน้ำขุ่นๆการที่เราสอดแทรก เปิดฉากดุว่าทันที และไม่เปิดใจรับฟังลูกจะคิดว่าเราไม่มีเหตุผล และจะไม่อยากอธิบายหรือเล่าให้เราฟังอีกในครั้งหลังๆ ยิ่งทำให้ลูกต่อต้านหนักกว่าเดิมได้
3. ควรดุลูกที่ “การกระทำ” ไม่ใช่ที่ “ตัวลูก”
เช่น ลูกพูดคำหยาบในบ้าน ควรตำหนิว่า “แม่ไม่ชอบที่ลูกพูดคำหยาบแบบนั้น” ไม่ควรตำหนิว่า “ลูกแย่มากที่พูดแบบนั้น” เพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่แสดงออกมาภายนอกเมื่อพ่อแม่ตำหนิที่พฤติกรรมการกระทำของลูก ก็หมายความว่าสิ่งนั้นๆ ที่ลูกทำไป คือสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบ ไม่ยอมรับ ซึ่งไม่ได้แปลว่าพ่อแม่ไม่ยอมรับในตัวตนของลูก และพ่อแม่เองก็ยังรักลูกเหมือนเดิม
แต่การ ดุด่า หรือตำหนิที่ตัวลูกโดยตรง เช่น ลูกแย่มาก ลูกช่างไม่ได้เรื่อง โง่ น่าเกลียด ฯลฯ การกระทำของพ่อแม่แบบนี้ จะทำให้ลูกมองตัวตน (self) ของตัวเองว่าแย่ไปด้วย และนั้นจะไปลดทอนความมีคุณค่าในตัวเองของลูกลง จนสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง
ทางที่ดีคือพ่อแม่ควรตำหนิที่พฤติกรรมหรือการกระทำของลูก อย่างตรงไปตรงมาให้ชัดเจน ว่าสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบคืออะไรนั่นเองนะคะ
4. ไม่ควรดุหรือตำหนิลูกต่อหน้าคนอื่น
เพราะนั้นจะยิ่งทำให้ลูกเสียหน้าขอให้คุณพ่อคุณแม่ถือคติที่ว่า “ชมบนหลังคา ด่าที่ใต้ถุน” กันนะคะ
5. ถามความคิดเห็นของลูก
เมื่อลูกทำผิด อย่ารีบเผลอไปตำหนิ หรือดุด่าว่ากล่าวแบบทันควัน แต่ให้พ่อแม่ใช้วิธีพูดคุยถามว่าถ้าเกิดกระทำผิดซ้ำ จะให้มีวิธีตักเตือนหรือลงโทษอย่างไร ให้ลูกได้คิด ถึงผลเสีย วิธีแก้ และการรับผิดชอบในความผิดนั้นๆ
6. ระวังเรื่องการใช้อารมณ์กับลูก
การตักเตือนลูกต้องทำอย่างเป็นมิตร หนักแน่นไม่จำเป็นต้องเกรี้ยวกราด โมโหใส่ลูกเพราะจะทำให้กระบวนการทั้งหมดไม่ประสบความสำเร็จ
สิ่งสำคัญอีกประการก็คือ การเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ที่พ่อแม่ควรรู้ว่าลูกของเราเป็นเด็กอย่างไร ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุหรือไม่ หรือพื้นฐานเอาแต่ใจตัวเองหรือไม่ ถ้าพ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก การจัดการก็ต้องคำนึงถึงธรรมชาติของเด็กด้วย เป็นเทคนิคของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องรู้ให้เท่าทันและมีไหวพริบให้เท่าทันลูกน้อยด้วย เพราะบางครั้งลูกของเราสองคน ทำผิดเรื่องเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้วิธีการลงโทษแบบเดียวกันแล้วจะได้ผลเหมือนกัน
และที่สำคัญอย่าลืมด้วยว่า การลงโทษทุกครั้ง ลูกจะรับรู้และสัมผัสได้ว่าการลงโทษของพ่อแม่ เป็นการลงโทษด้วยอารมณ์โกรธหรือความรัก เป็นการลงโทษด้วยอารมณ์ชั่ววูบหรือระงับโทสะไม่ได้ เพราะผลภายหลังของการลงโทษลูกจะกลายเป็นภาพฝังใจประทับตรึงใจเขาไปตลอดชีวิต
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- วิธีลงโทษลูกเมื่อลูกทำผิด โดยไม่ต้องตี หรือดุด่า
- ข้อคิดดีๆ ในการเลี้ยงลูกของพ่อกอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ กับ น้องชูใจ
- รู้ไหมว่า การดุด่า ห้าม หรือลงโทษเด็กเพื่ออบรมสั่งสอนก็ส่งผลเสียให้เด็กได้
- วิธีให้กำลังใจลูก เพียงคำพูดที่ให้กำลังใจและสนับสนุน ก็สามารถแปรเปลี่ยนชีวิตลูกได้!
ขอบคุณข้อมูลจาก : ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย