แนะ! 2 ขั้นตอนการทำ CPR สุดง่าย พ่อแม่ทำได้ ช่วยชีวิตลูกทัน! ทั้งเด็กเล็ก (อายุไม่เกิน 1 ขวบ) และ เด็กโต (อายุมากกว่า 8 ขวบ) ต้องทำอย่างไรบ้าง ตามมาดูกัน
เพราะวัยที่กำลังซุกซน อยากรู้อยากเห็นไปเสียหมด จึงทำให้เด็ก ๆ เกิดอุบัติเหตุ จนมีนาทีฉุกเฉินได้ตลอดเวลา ซึ่งพ่อแม่ต้องรู้เท่าทันปัญหาเหล่านี้ด้วย เพราะคนที่ช่วยเหลือลูกน้อยได้อย่างทันท่วงทีก็คือพ่อแม่นั่นเอง
ขั้นตอนการทำ CPR การปั๊มหน้าอกและการช่วยหายใจ
♦ การปั๊มหน้าอก
คือ การช่วยส่งเลือดไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายแทนหัวใจที่หยุดทำงาน ซึ่งต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพไม่ต้องกลัวว่าลูกน้อยจะเจ็บหรือซี่โครงหัก เพราะสิ่งสำคัญที่สุด ณ ตอนนั้นคือการช่วยชีวิตก่อนลูกหมดลมหายใจ ด้วยวิธีการช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไปนี้
- การปั๊มหน้าอกเด็กเล็ก
1. ขั้นตอนการทำ CPR เด็กอายุไม่เกิน 1 ขวบ วางมือข้างหนึ่งบนหน้าผาก แล้วใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางหรือนิ้วกลางกับนิ้วนางของมืออีกข้างกดที่กึ่งกลางราวนมทั้งสองข้าง สลับกับการเป่าปาก (วิธีทำเหมือนการปั๊มหน้าอกเด็กโต ดูที่หัวข้อด้านล่าง)
2.ทำครบ 5 ครั้งแล้วรีบโทร.ขอความช่วยเหลือประเมินอาการ แล้วทำการกดหน้าอกสลับเป่าปากจนกว่าทีมช่วยเหลือจะมาถึง
- การปั๊มหน้าอกเด็กโต (อายุมากกว่า 8 ขวบ)
1. ขั้นตอนการทำ CPR สำหรับลูกที่โตอายุมากกว่า 8 ขวบ ให้คุณแม่นั่งคุกเข่าด้านข้างลูก โดยอยู่ห่างจากตัวลูกเล็กน้อยวางส้นมือที่ครึ่งล่างกระดูกหน้าอก วางมืออีกข้างลงไป สองมือล็อกประสาน กระดกปลายมือขึ้น แขนตึงตรงตั้งฉากกับหน้าอก
2. สำหรับตำแหน่งกดหน้าอก ให้กดกึ่งกลางหน้าอก และกดให้ลึกประมาณ 1ส่วน3 ของความหนาของหน้าอก หรือประมาณ 5 เซนติเมตร ในเด็กโต และ 4 เซนติเมตรในเด็กทารก โดยกดหน้าอกแล้วปล่อย กดแล้วปล่อย ทำติดต่อกันไป 30 ครั้ง ให้ได้ความถี่ของการกด อย่างน้อย 100 – 120 ครั้งต่อนาที โดยนับ “หนึ่ง และสอง และสาม และสี่ และห้า และหก และเจ็ด และแปด และเก้า และสิบ สิบเอ็ด สิบสอง สิบสาม สิบสี่…” ไปเรื่อย ๆ
โดยให้ฝึกนับและจับเวลาจากหนึ่งและสองและสามไปจนถึงสามสิบ จะใช้เวลาอยู่ในช่วง 15 – 18 วินาที จึงจะได้ความเร็วในการกดอย่างน้อย 100 – 120 ครั้งต่อนาที
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
♥ การช่วยหายใจ
สำหรับ ขั้นตอนการทำ CPR หลังจากปั๊มหัวใจครบแล้ว ก็สลับมาเป่าปาก โดยจัดท่าเปิดทางเดินหายใจ โดยใช้มือหนึ่งกดที่หน้าผากให้ศีรษะแหงนขึ้นเล็กน้อย เชยคางขึ้นหากเด็กที่ยังมีใบหน้าเล็ก คุณแม่สามารถใช้ปากครอบไปทั้งจมูกและปากของลูกน้อย และเป่าพร้อมกันทั้งสองทางได้
แต่หากเด็กมีใบหน้าอวบอ้วนเกินไป ให้เลือกเอาทางใดทางหนึ่ง … หากเลือกเป่าทางจมูกให้ใช้มือดันคางและปากปิดไว้ แต่หากเลือกเป่าปาก ให้ใช้มืออีกข้างบีบจมูกเอาไว้เหมือนการช่วยเหลือเด็กโต
ประกบปากเป่าลมเข้าประมาณ 1 วินาที ทำ 2 ครั้ง จากนั้นเหลือบตามองสังเกตหน้าอก ถ้าหน้าอกไม่ขยาย ให้ผู้ช่วยหายใจลองเปิดปากดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมอุดหรือไม่ ถ้าไม่มีให้ปรับท่าเปิดทางเดินหายใจใหม่ แล้วเริ่มทำอีกครั้ง
จะรู้ได้อย่างไรว่าควรทำ CPR
พ่อแม่หลายท่านมักไม่รู้ว่าเมื่อไรจึงจะควรทำ CPR ซึ่ง ขั้นตอนการทำ CPR จะทำในกรณีที่หัวใจหยุดเต้นเท่านั้น ทั้งนี้มีเทคนิคในการสังเกตง่าย ๆ ดังนี้
- เด็กไม่รู้สึกตัว ในทารกให้คุณแม่ลองเรียกชื่อ ยกแขน และตบเท้าลูก เพื่อดูว่าเขามีปฏิกิริยาตอบสนองหรือไม่ ส่วนเด็กโตให้ตบที่บ่า พร้อมเรียกชื่อลูกไปด้วย
- สังเกตการหายใจ ในนาทีวิกฤติ การจะฟังเสียงหัวใจหรือคลำเจอชีพจรอาจไม่ทันการณ์ แนะนำให้ถอดเสื้อลูกน้อยออก จากนั้นสังเกตการเคลื่อนขึ้นลงของหน้าอกและช่วงท้องแทน การหายใจเฮือกแบบปลาพะงาบ ๆ ในตลาดนั้นแท้จริงไม่ใช่การหายใจ แต่เป็นเพียงปฏิกิริยาของร่างกายเท่านั้น ไม่นับเป็นการหายใจ ให้คุณแม่ถือ อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณว่าลูกน้อยหยุดหายใจแล้วและลงมือทำการช่วยเหลือทันที
หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการอ่านเรื่อง “Mom SOS วิธีการช่วยลูกในวินาทีฉุกเฉิน” กับเหตุการณ์ >> ช่วยเหลือเด็กจมน้ำ / ช่วยเหลือเมื่อลูกได้รับสารพิษ / ลูกสำลักสิ่งแปลกปลอม / สิ่งแปลกปลอมติดจมูก / ไฟดูด และ เมื่อลูกกระดูกแขนหรือขาหัก สามารถดูต่อได้ใน … สุดยอด “คู่มือเลี้ยงลูกยุคใหม่” ฉบับสมบูรณ์ โดย Amarin Baby & Kids
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก
- การปฐมพยาบาลและทำ CPR เมื่อ อาหารติดคอ ลูกน้อย
- วิธีการทำ CPR 3 ขั้นตอนง่ายๆ ช่วยชีวิตได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
- การทำ cpr วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นช่วยคนจมน้ำที่ถูกต้อง
- รู้ไว้ช่วยลูกรอด! คลิปสาธิตวิธี ช่วยชีวิต CPR เมื่อลูกหยุดหายใจ
ข้อมูลจาก คอลัมน์ Easy Step สอนพ่อแม่ดูแลลูกยามเจ็บป่วย : “คู่มือเลี้ยงลูกยุคใหม่” ฉบับสมบูรณ์ โดย Amarin Baby & Kids