วิธีล้างจมูก และเทคนิคให้ลูกยอมล้างจมูกง่ายขึ้น - Amarin Baby & Kids
วิธีล้างจมูก

วิธีล้างจมูก และเทคนิคให้ลูกยอมล้างจมูกง่ายขึ้น

Alternative Textaccount_circle
event
วิธีล้างจมูก
วิธีล้างจมูก

ในปัจจุบันที่มีฝุ่นละออง มลพิษที่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในอากาศ และเชื้อโรคมากมายที่สัมผัสได้ง่ายจากการไอ จาม หรือหายใจรดกัน จนป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคของระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด โรคภูมิแพ้ และไซนัสอักเสบ เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้มีอาการคัดจมูก ระคายเคืองจมูก น้ำมูกไหล และทำให้เกิดการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ วิธีล้างจมูก ด้วยน้ำเกลือจึงเป็นตัวช่วยที่ดีกับทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่สามารถสั่งน้ำมูกเองได้ เนื่องจากการล้างจมูกสามารถช่วยขับน้ำมูกเหนียวข้น เชื้อโรค ขี้มูกที่แห้งกรัง และสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ในโพรงจมูกออกมา ทำให้โพรงจมูกหรือไซนัสสะอาดขึ้น ช่วยบรรเทาอาการคัด ระคายเคืองในจมูก และลดน้ำมูกหรือเสมหะที่ไหลลงคอ อีกทั้งยังช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก อาการหวัดจะดีขึ้นกว่าการรับประทานยาเพียงอย่างเดียว และทำให้ลูกหายใจได้โล่งขึ้น

ประโยชน์การล้างจมูก

9 ประโยชน์ดี ๆ ของการล้างจมูก

การล้างจมูกมีประโยชน์หลัก ๆ คือ ช่วยชะล้างน้ำมูกเหนียวข้นที่ไม่สามารถระบายออกได้เอง ทำให้โพรงจมูก หรือไซนัสสะอาดขึ้น ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิเช่น

1.ช่วยให้อาการหวัดเรื้อรังหรือเป็นภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ที่คัดจมูก คัน จาม มีน้ำมูกมาก แสบจมูก ปวดจมูกดีขึ้น และลดน้ำมูกหรือเสมหะที่ไหลลงคอ เนื่องจากน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปจะชะล้างน้ำมูกที่อุดตันออกไปได้

2.ช่วยระบายหนองจากไซนัสดีขึ้น แม้ว่าน้ำเกลือจะไม่สามารถเข้าไปชะล้างถึงในโพรงไซนัส แต่น้ำเกลือจะช่วยละลายน้ำมูกเหนียวข้นหรือหนองที่อุดอยู่บริเวณรูทางออกของโพรงไซนัสให้เปิด หนองในโพรงไซนัสจะไหลออกมาง่ายขึ้น ทำให้ผู้ที่มีอาการไซนัสอักเสบหายได้เร็วขึ้น

3.ช่วยลดการคั่งค้างของเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ซุกซ่อนอยู่ในน้ำมูก มลพิษ ฝุ่นละอองที่ติดค้างในโพรงจมูก สารก่อความระคายเคือง และสารที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูกหรือไซนัส ให้หลุดออกไป ช่วยให้มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนน้อยลง

4.ช่วยป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสขึ้นไปหูชั้นกลางหรือลงสู่ปอด

5.ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก

6.ช่วยบรรเทาอาการคัดแน่นจมูก บรรเทาอาการระคายเคืองในจมูก และลดการอักเสบในจมูก ทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวมและหายใจโล่งขึ้น

7.ช่วยเพิ่มการทำงานของขนกวัดในจมูก ซึ่งทำหน้าที่พัดโบกกำจัดสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก

8.การล้างจมูกก่อนการพ่นยา หรือหยอดยาในจมูก (ในกรณีแพทย์สั่งยาพ่นจมูกหรือยาหยอดจมูกให้ใช้) จะทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้น ออกฤทธิ์ได้ดี ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะไม่มีสิ่งสกปรกหรือน้ำมูกเคลือบบดบังอยู่

9.ทำให้ลดปริมาณยาที่ใช้ในการรักษาโรคจมูกหรือไซนัสลงได้

วิธีล้างจมูก ให้ลูกจมูกโล่งขึ้น

การล้างจมูกเมื่อเมื่อมีน้ำมูกเหนียวข้นจำนวนมาก ควรใช้ “น้ำเกลือ” (Normal saline irrigate) ที่มีความเข้มข้น 0.9 % พร้อมอุปกรณ์ล้างจมูกที่สะอาด ได้แก่ กระบอกฉีดยา (ไซริ้งค์) จุกล้างจมูก และถ้วยสำหรับใส่น้ำเกลือ ที่สามารถหาซื้อได้จากโรงพยาบาลหรือตามร้านขายยา โดยน้ำเกลือที่ใช้คุณแม่ไม่จำเป็นต้องซื้อขวดใหญ่ เพราะการเปิดทิ้งไว้และใช้ต่อเนื่องนานกว่าจะหมดจะทำให้มีเชื้อโรคสะสมอยู่ในขวดได้ และที่สำคัญไม่ควรใช้น้ำเปล่าหรือน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 0.9 % มาล้างจมูก เพราะจะทำให้ระคายเคืองจมูกเพิ่มขึ้นและอาจมีการอักเสบ แสบจมูก และมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้นด้วย ทั้งนี้คุณแม่สามารถเลือกใช้น้ำเกลือชนิดซองสำหรับพกพาโดยผสมน้ำสุกอุ่นตามสัดส่วนที่กำหนดที่สามารถใช้คู่กับขวดล้างจมูกซึ่งมีขีดปริมาณชัดเจนในแต่ละยี่ห้อตามความสะดวกได้เช่นกัน

สำหรับเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูกเองไม่ได้

  • คุณแม่เตรียมตัวล้างจมูกให้ลูกน้อยโดยการใช้ผ้าห่อตัว จับหน้าลูกให้นิ่ง และใช้ไซริงค์ขนาดเล็กไม่เกิน 5 ซีซี ดูดน้ำเกลือจนเต็ม
  • ค่อย ๆ หยดน้ำเกลือครั้งละ 2-3 หยด หรือสอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกข้างที่จะล้าง โดยให้วางปลายกระบอกฉีดยาชิดด้านบนขอบรูจมูก ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 5 ซีซี ทีละข้าง
  • หลังจากนั้นใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในจมูกออก ทิ้งช่วงให้ลูกหายใจสักพัก และทำซ้ำแบบสลับข้างกันไปจนไม่เห็นน้ำมูก และเช็ดทำความสะอาดรูจมูกให้แห้งด้วยน้ำเกลือ
  • ทั้งนี้วิธีการล้างจมูกยังไม่ควรทำมาใช้กับทารกที่อายุยังน้อย เมื่อมีน้ำมูกมากคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจร่างกายและรักษาอาการด้วยเครื่องมือแพทย์เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย

วิธีล้างจมูกง่ายๆ

เด็กที่ให้ความร่วมมือและสั่งน้ำมูกเองได้

  • ในเด็กเล็กที่ให้ความร่วมมือในการล้างจมูกหรือเด็กที่สามารถล้างจมูกได้ด้วยตัวเอง ให้ลูกนั่งหรือยืนในท่าสบาย ๆ แหงนหรือก้มหน้าเล็กน้อย และโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ห้ามนอนทำเพราะจะทำให้สำลักได้
  • จากนั้นสอดไซริ้งค์ชิดรูจมูกด้านบน ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือในระดับที่พอดีครั้งละ 5 cc. หรือมากกว่าเท่าที่ลูกทนได้ ในระหว่างฉีดน้ำเกลือเข้าโพรงจมูกนั้นบอกให้ลูกกลั้นหายใจหรือหายใจทางปาก เพื่อป้องกันการสำลักเข้าหลอดลม แล้วปล่อยให้น้ำมูกไหลออกทางปากหรือทางรูจมูกอีกข้าง สั่งน้ำมูกหรือน้ำเกลือที่ค้างอยู่ในโพลงจมูกออกเบา ๆ พร้อมกันทั้งสองข้าง
  • ค่อย ๆ ทำซ้ำสลับกันไปทีละข้างจนไม่มีน้ำมูกเหนียวข้นอย่างช้า ๆ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้จังหวะการกลั้นหายใจ ในส่วนน้ำเกลือและน้ำมูกที่ไหลลงคอรงมทั้งเสมหะสามารถบ้วนทิ้งออกมาได้ เมื่อล้างเสร็จจะรู้ว่าจมูกโล่งขึ้น หายใจสะดวกขึ้น สามารถลดเสมหะที่ไหลลงคอได้ ทั้งนี้ควรระมัดระวังหากดันน้ำแรงเกินไปอาจเกิดการสำลักได้และมีผลให้น้ำเกลือหรือน้ำมูกเข้าหูชั้นกลางได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะลูกจะสามารถล้างจมูกได้เองแล้ว คุณแม่ควรดูแลอยู่ใกล้ ๆ ห้ามให้ลูกนอนทำเพราะจะทำให้สำลักได้ และสำหรับเด็กเล็กหรือเด็กที่เริ่มต้นล้างจมูกครั้งแรก แนะนำให้ใช้วิธีก้มหน้า หลังจากล้างจมูกเสร็จแล้ว หากมีน้ำเกลือที่เหลือใช้ให้เททิ้ง ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่หรือเทกลับเข้าขวดน้ำเกลือเดิม ส่วนน้ำเกลือที่อยู่ในขวดควรอยู่ในอุณหภูมิห้องที่ปกติ ถ้าเก็บน้ำเกลือในห้องที่เย็นหรือช่วงที่อากาศหนาว ก่อนใช้ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูกเสมอ เพราะการน้ำเกลือที่เย็นมากเกินไปมาล้างจมูกอาจทำให้เกิดอาการคัดจมูกเพิ่มขึ้นได้ แต่ต้องระวังน้ำเกลือที่ร้อนเกินไปเช่นกัน เพราะอาจเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เยื่อบุโพรงจมูกได้ และควรล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกทั้งกระบอกฉีดยาและภาชนะที่ใส่น้ำเกลือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน และล้างออกด้วยน้ำเปล่าจนสะอาดนำไปผึ่งให้แห้ง สำหรับลูกยางแดง หลังจากล้างสะอาดทั้งภายนอก ควรนำไปต้มในน้ำเดือดวันละครั้ง ประมาณ 5 นาที โดยดูดน้ำเดือดเข้ามาในลูกยางแดง จากนั้นบีบน้ำที่ค้างในลูกยางออกจนหมด แล้วนำไปผึ่งให้แห้งโดยคว่ำปลายลูกยางแดงลงในภาชนะที่สะอาด

ลูกไม่ยอมล้างจมูก ทำไงดี

ล้างจมูกให้ลูกดูเหมือนง่ายดูจากขั้นตอนการล้างจมูกแล้วเหมือนว่าไม่มีอะไรยุ่งยาก แต่พอมาถึงภาคปฏิบัติที่ต้องเจอเจ้าตัวน้อยร้องงอแง ไม่ยอมให้ล้างจมูกง่าย ๆ เด็กบางคนแค่เริ่มเห็นคุณแม่ถือไซริ้งค์เข้ามาใกล้ ๆ ก็เริ่มดิ้นแล้ว สำหรับบ้านไหนที่ต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ ลองใช้เทคนิคเหล่านี้ และบางส่วนจากคุณพ่อคุณแม่ในกระทู้ pantip แนะนำกันเอาไว้ค่ะ

1.การใช้ผ้าช่วยห่อตัวในกรณีที่ลูกน้อยไม่ให้ความร่วมมือและดิ้นมาก การห่อตัวเด็กจะช่วยให้คุณแม่สามารถจับตัวลูกล้างจมูกได้สะดวก นุ่มนวล และไม่เกิดการบาดเจ็บ

2.เรียกคุณพ่อมาเป็นผู้ช่วย ให้ช่วยจับลูกอุ้มนั่งไว้บนตักแล้วกอดไว้ เพื่อล็อคหน้าและจมูกไม่ให้เคลื่อนที่ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการล้างจมูก

3.ก่อนล้างจมูก เปิดคลิปวิดีโอของเด็ก ๆ ที่ล้างจมูกเองให้ลูกได้ดู เพื่อเป็นแรงจูงใจและให้รู้ว่าเป็นวิธีที่ไม่น่ากลัว

4.ใช้นิทานสร้างเรื่อง หรือเล่าเรื่อง ร้องเพลงให้ลูกฟังไปเพลิน ๆ เพื่อเป็นการหลอกล่อก่อนฉีดน้ำเกลือล้างจมูก

5.ให้รางวัลเด็กดีล้างจมูกเก่งด้วยคำชมเชย แจกดาว แจกสติ๊กเกอร์ ฯลฯ

6.คุณพ่อคุณแม่อาจจะล้างจมูกโชว์เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกดูก่อนเริ่มต้นล้างจมูกให้ลูก

และวิธีล้างจมูกให้ลูกจากเพจ หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก แนะนำว่า “คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดท่าและฝึกลูกให้ชินก่อน เพราะเด็กเล็ก ๆ มักตกใจเวลาสำลักน้ำเกลือ และจะกลายเป็นกลัวล้างจมูกไปเลย พ่อแม่ควรใจเย็น ๆ คุยกับลูกก่อนลงมือทำจริง เล่าให้ฟังเป็นขั้นตอนให้ลูกเห็นภาพ เด็กจะได้เตรียมตัวเตรียมใจ รวมทั้งชื่นชมเมื่อลูกพยายามร่วมมือด้วย”

ล้างจมูกให้ลูกอันตรายไหม

วิธีการล้างจมูกนั้นหากทำได้ถูกต้องและใช้ในกรณีที่เหมาะสม ก็จะเป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัยซึ่งสามารถใช้ได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งนี้มีข้อควรระวังที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงขึ้นได้ เช่น

  • เมื่อพบว่าลูกมีน้ำมูกเหนียวข้นหรือก่อนจะใช้ยาพ่นจมูก ควรล้างจมูกในช่วงก่อนรับประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลัก
  • การล้างจมูกอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ หูอื้อเนื่องจากอาจฉีดแรงเกินไป ไอ คลื่นไส้ และปวดหู มีอาการแสบโพรงจมูกหลังล้าง หรืออาจมีเลือดกำเดาไหลซึ่งพบได้น้อยมาก โดยอาการจะไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือพบปัญหาอื่นที่เกี่ยวกับการหายใจ เป็นไข้ ปวดศีรษะตามมา ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ
  • ควรทำความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูก เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานไม่ปกติ
  • น้ำเกลือที่ใช้ล้างจมูกต้องเป็นน้ำเกลือที่อ่อนโยนมากจึงไม่เป็นอันตรายต่อลูก
  • ในกรณีที่มีการติดเชื้อบริเวณหูหรือโพรงจมูกที่มีอาการแน่นจมูกและหายใจลำบาก หรืออุบัติเหตุบริเวณใบหน้าที่ยังไม่หายสนิท ไม่ควรใช้วิธีล้างจมูก

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นถึงประโยชน์ดี ๆ ในการล้างจมูก และทราบถึง วิธีล้างจมูก อย่างถูกวิธี ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดน้ำมูก บรรเทาอาการระเคืองให้กับลูกลงได้ ทั้งนี้สำหรับเด็กเล็กในช่วงแรก ๆ ก็อาจจะร้องไห้โยเย รู้สึกลำบากนิดหน่อย เมื่อปรับตัวได้แล้วเด็กจะเริ่มชินและรู้สึกสบายจมูกขึ้น จนเรียกว่าการล้างจมูกครั้งต่อไปไม่มีการปฏิเสธเลยละคะ

ตัวอย่างการล้างจมูกสำหรับเด็กเล็ก จากโรงพยาบาลกรุงเทพ ราชสีมา

 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.theworldmedicalcenter.comwww.honestdocs.cowww.story.motherhood.co.th

อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:

 

เตือนแม่ ของติดจมูกลูก ห้ามล้างจมูกเด็ดขาด

แม่แชร์! ลูกป่วย โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เพราะทำสิ่งนี้ทุกวัน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up