เด็กรุ่นใหม่ต้องเติบโตท่ามกลางสังคมที่มีการแข่งขันสูง ต้องติวกันตั้งแต่อนุบาล เพื่อให้ได้เข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง และจบการศึกษาจากสถาบันอันดับต้นๆ ของประเทศ พ่อแม่จึงมุ่งเน้นให้ลูกเก่ง เรียนได้เกรดสูง มีงานดีๆ ทำ มีรายได้เยอะๆ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ทำให้คนรุ่นใหม่เป็นโรค “แพ้ไม่เป็น” มีความต้านทานความพ่ายแพ้ต่ำ เมื่อเกิดความผิดหวังมักทนไม่ได้และอาจหนักถึงขึ้นฆ่าตัวตาย ในฐานะพ่อแม่ เราจะมีวิธีอย่างไรที่จะป้องกัน โรคแพ้ไม่เป็น นี้ได้
สอนลูกอย่างไร ให้ห่างไกล โรคแพ้ไม่เป็น
ลูกจะยอมรับความ “พ่ายแพ้” ได้หรือไม่ อยู่ที่พ่อแม่ที่จะเป็นคนที่ให้กำลังใจลูกหรือทำให้ลูกเสียกำลังใจ หรือกดดันให้เกิดความเครียด นั่นคือ สิ่งที่สะท้อนว่าพ่อแม่นั้นยอมรับความ “พ่ายแพ้” ได้หรือไม่ ถ้าพ่อแม่เห็นว่าการแพ้เป็นธรรมดาของชีวิต การแพ้ทำให้เราเพิ่มความพยายามเข้าไปอีก ความแพ้ทำให้เราเข้มแข็ง ลูกก็จะมีพ่อแม่เป็นแบบอย่าง เป็นบรรทัดฐานของชีวิตที่พร้อมจะเผชิญกับชีวิตในอนาคต
ก่อนที่จะเริ่มต้นสอนลูกให้รู้จักแพ้ จึงต้องเริ่มที่ตัวพ่อแม่ แล้วจึงค่อยๆ สอนลูกอย่างเข้าใจ และค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้
- ลดความคาดหวัง อย่ากดดันลูก
พ่อแม่ย่อมจะมีความสุขเมื่อเห็นความสำเร็จของลูก เพราะรางวัลที่ลูกได้รับ คือ ภาพสะท้อนความสำเร็จในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่นั่นเอง พ่อแม่จึงเผลอคาดหวังอยากให้ลูกชนะ ไม่อยากให้ลูกแพ้ ซึ่งตัวลูกเองก็มีเรดาร์ที่สามารถจับความคาดหวังของพ่อแม่ได้เช่นกัน ลูกจึงไม่อยากทำให้พ่อแม่ผิดหวัง กลายเป็นความรู้สึกกดดัน ที่ไม่ได้เกิดจากกลัวแพ้ แต่กลัวพ่อแม่ผิดหวังมากกว่า ดังนั้น พ่อแม่จึงควรลดความคาดหวังลง อย่ากดดันว่าลูกต้องชนะ ลูกต้องไม่แพ้ เพราะลูกจะกดดัน และเกิดภาวะเครียดในเด็กตามมา
- รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองก่อน
เพราะลูกเฝ้าดูและคอยเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่อยู่ พ่อแม่จึงต้องเป็นแบบอย่างให้กับลูก เวลาทำผิดพลาดหรือพ่ายแพ้ พ่อแม่ต้องหัดควบคุมอารมณ์โกรธ ผิดหวัง เสียใจของตนเองให้ได้ก่อน ไม่ฉุนเฉียว ระบายอารมณ์ด้วยคำหยาบคายให้ลูกเห็น
เมื่อลูกผิดหวัง หรือพ่ายแพ้ก็เช่นกัน พ่อแม่ไม่ควรแสดงอาการผิดหวังอย่างเด็ดขาด และอย่าแสดงอาการภูมิใจหรือดีใจมากจนออกหน้าเมื่อลูกชนะ เพียงแต่พูดสั้นๆว่า “แม่ภูมิใจที่ลูกทำได้” “พ่อภูมิใจที่ลูกทำได้”
ที่สำคัญอย่าประชดประชัน หรือเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะการที่ต้องแข่งกันคนอื่นตลอดเวลาจะทำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่หาความสุขได้ยาก และตัวลูกเองก็ไม่มีความสุข แต่ควรให้ลูกแข่งขันกับตัวเอง พยายามทำให้ดีกว่าเดิม แล้วพ่อแม่คอยชื่นชม อย่างนี้ลูกจะมีความสุขไปพร้อมกับการพัฒนาตนเองมากกว่าค่ะ
- เข้าใจและยอมรับความรู้สึกของลูก
เมื่อลูกพ่ายแพ้ ผิดหวัง พ่อแม่ควรเข้าใจและยอมรับความรู้สึกของลูกว่า ลูกกำลังผิดหวัง ลูกกำลังเสียใจ แม่เข้าใจ เพราะคนเราถ้าแพ้ก็รู้สึกแบบนี้ได้เหมือนกัน เสียใจได้ โกรธได้ ผิดหวังได้ พ่อแม่ต้องให้กำลังใจ และพยายามสอนให้ลูกค่อยๆ ยอมรับกับความพ่ายแพ้ ไม่ใช่แพ้แล้วอาละวาด บอกลูกว่า เอาใหม่ ฝึกใหม่ โดยมีพ่อแม่เป็นต้นแบบ หากพ่อแม่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับความรู้สึกของลูก อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กแพ้ไม่เป็น ขี้หงุดหงิด เอาแต่ใจ และไม่คิดถึงผู้อื่นตามมาได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่