วิธีการรักษาภาวะเด็กตัวเหลือง
อาการตัวเหลืองที่ไม่รุนแรงจะหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ในรายที่อาการไม่ดีขึ้นและมีระดับสารบิลิรูบินในเลือดสูง แพทย์อาจใช้การรักษาเพื่อลดระดับสารบิลิรูบินในเลือดด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
- การส่องไฟรักษา ไฟในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเอาลูกไปส่องกับหลอดไฟธรรมดาทั่วไปนะคะ เพราะไม่สามารถรักษาภาวะตัวเหลืองได้ค่ะ หลอดไฟที่ใช้ส่องเป็นหลอดไฟชนิดพิเศษค่ะ มีความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสำหรับรักษาอาการตัวเหลืองเท่านั้น ไม่สามารถรักษาอยู่ที่บ้านได้
- การถ่ายเลือดร่วมกับการส่องไฟรักษา ถ้าหากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมากจนอาจจะเกิดการสะสมในเนื้อเยื่อสมอง หรือแสดงอาการเฉียบพลันทางสมองเบื้องต้นแล้ว ควรใช้วิธีการถ่ายเลือดร่วมกับวิธีการส่องไฟรักษาเพื่อลดระดับของบิลิรูบินในร่างกายของทารกได้อย่างทันท่วงที
- การรักษาด้วยยา ยาที่สามารถรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดได้คือยาชีววัตถุ เช่น อิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous immunoglobulin)
พ่อแม่จะช่วยให้ค่าสารเหลืองลดลงได้อย่างไรบ้าง?
ในกรณีที่ค่าสารเหลืองไม่ได้อยู่ในระดับที่จำเป็นต้องส่องไฟเพื่อการรักษา คุณหมอจะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกกลับบ้านและคอยดูอาการของลูกต่อไป หากพบสิ่งผิดปกติ ถึงพาไปพบแพทย์ คุณพ่อคุณแม่ที่ได้ทราบข่าวนี้ มักจะกังวลว่า ถ้าสารเหลืองเกิดเพิ่มขึ้นโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบจะทำอย่างไร และต้องทำอย่างไรบ้างให้สารเหลืองนี้ถูกขับออกไปได้โดยเร็ว เรามีวิธีมาฝากค่ะ
- พาลูกมาตรวจตามที่หมอนัด (ไม่ควรเลื่อนวัน หากไม่จำเป็น) เพื่อให้คุณหมอคอยสังเกตอาการของลูก และจะได้รักษาได้ทันที
- คอยสังเกตว่าลูกมีอาการตัวเหลืองเพิ่มขึ้นหรือไม่
- สังเกตสีของอุจจาระหรือปัสสาวะของทารก หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น อุจจาระมีสีซีด หรือ ปัสสาวะมีน้ำตาลเข้มควรมาพบแพทย์
- นับจำนวนครั้งของการอุจจาระและปัสสาวะ เพื่อตรวจสอบว่าได้รับนมเพียงพอหรือไม่
- อาการหรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม หรือท้องอืด ควรพาลูกน้อยมาพบแพทย์ทันที
- หากเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ และประสบปัญหาในการให้นมลูก เช่น ลูกดูดนมยาก ลูกดูดนมน้อยหรือยังให้นมลูกไม่ถูกต้อง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาลเพื่อเสริมพัฒนาการที่ดีของทารก
- **การให้ลูกดื่มน้ำ นอกจากไม่ได้ช่วยลดสารเหลือง ยังทำให้เสี่ยงต่อภาวะน้ำเป็นพิษอีกต่างหาก**
แม่พริมาเองก็มีประสบการณ์ที่ลูกทั้งสองคนเกิดภาวะตัวเหลืองหลังคลอด ทำให้ทราบดีว่า เด็กแรกเกิดตัวเหลือง นั้นอันตรายมากแค่ไหน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้น จึงอยากให้บทความนี้ เป็นข้อมูลให้แก่แม่ท้อง แม่แรกคลอดทุกคนได้อ่านเพื่อทำความรู้จักกับภาวะนี้ และเตรียมรับมือ หากภาวะนี้เกิดขึ้นกับลูกของเราค่ะ
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจได้ที่นี่
โรคในทารกแรกเกิด 10 โรคฮิตลูกมักเป็นในขวบปีแรก
นี่คือพัฒนาการ ความจำ ของลูกทารกตั้งแต่แรกเกิด – 1 ขวบ
10 กิจกรรมเล่นกับลูก เสริมสร้าง พัฒนาการทารกแรกเกิด
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th, pobpad.com, เพจคุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่