รศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ หัวหน้าสาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยผลการวิจัยที่คนเป็นพ่อแม่ยุคใหม่ไม่อาจมองข้าม ในการประชุมวิชาการร่วมคณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราชฯ พ.ศ. 2560 (JCMS 2017)
ผลการวิจัยพบว่า เด็กไทยได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุ 1 เดือนครึ่ง ในขณะที่เด็กอายุ 1 ปีได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวัน และเด็กอายุ 18-24 เดือน ได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นเป็น 5 ชั่วโมงต่อวัน โดยที่สื่อหน้าจอส่วนใหญ่ เป็นสื่อทีวี แต่มีแนวโน้มที่จะดูรายการทีวี เพลง และการ์ตูน ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
4 ผลกระทบต่อสมองและพัฒนาการเด็ก จากการ เลี้ยงลูกด้วยมือถือ ทีวี แท็บเล็ต
- ด้านพัฒนาการ ทำให้พัฒนาการด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก และสติปัญญาล่าช้า ทั้งนี้ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสื่อการศึกษาที่ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการพูด การใช้ภาษาที่ชัดเจนในเด็กปฐมวัยสามารถช่วยพัฒนาการด้านภาษาของเด็กวัย 2-5 ปีได้ แต่การดูรายการบันเทิงทั่วไปเป็นเวลานานต่อวันกลับมีผลให้พัฒนาการทางภาษาของเด็กล่าช้า
- ด้านพฤติกรรม ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก พฤติกรรมแยกตัว ดื้อ ต่อต้านมากขึ้น เนื่องจากพบว่า เด็กที่ได้รับสื่อที่มีความรุนแรง นำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าว และยังมีการศึกษาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์พบว่า การใช้สื่อที่มีความรุนแรงเป็นระยะเวลายาวนาน มีความสัมพันธ์กับภาวะซนและสมาธิสั้น
- ทักษะการใช้สมองระดับสูง ในการแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์แย่ลง ควบคุมตัวเองไม่ดี ซึ่งความสามารถของสมองระดับสูงจะส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียน การทำงาน การดำเนินชีวิตในครอบครัวและสังคมต่อไป
- ปัญหาการนอนของเด็ก พบว่า สื่อที่มีเนื้อหารุนแรง และการได้รับสื่อในช่วงหัวค่ำ การได้รับสื่อในห้องนอน จะทำให้มีปัญหาการนอนในเด็กปฐมวัย นอนหลับยากขึ้น ระยะเวลาการนอนหลับลดลง ส่งผลให้การเรียนรู้ในเวลากลางวันของเด็กลดลง